มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีร่วมงานวิจัยระดับนานาชาติ ภายใต้ทุน Marie Sklodowska-Curie Actions Staff Exchanges
รศ. ดร. สมหมาย ผิวสอาด นำทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี(มทร.ธัญบุรี) เข้าร่วม Kick-off meeting โครงการวิจัย “Innovating with nature forsustainable water management in the global south (NEUTRAL4GS)” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรปภายใต้โครงการ Marie Sklodowska-Curie Actions Staff Exchanges มูลค่า 740,600 ยูโร โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง 8 หน่วยงานจาก 7 ประเทศ ประกอบด้วยสถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจจากสหภาพยุโรป ได้แก่ สาธารณรัฐเช็กเดนมาร์ก โปรตุเกส และอิตาลี รวมถึงพันธมิตรจากประเทศ อินโดนีเซีย โคลอมเบีย และมทร.ธัญบุรี เป็นหน่วยงานตัวแทนจากประเทศไทย โดยโครงการมีระยะเวลาดำเนินการ 48 เดือน ตั้งแต่มกราคม 2568 ถึง ธันวาคม 2571 มุ่งเน้นการพัฒนาการจัดการน้ำในเขตเมืองของประเทศกำลังพัฒนา มทร.ธัญบุรี มีบทบาทในการเป็นกรณีตัวอย่างในประเทศไทยด้านปัญหาน้ำเสียในระบบโรงพยาบาล และมีส่วนสำคัญในฐานะผู้นำหน่วยวิจัย
(Research unit leader) ด้านการประเมินความยั่งยืนของเทคโนโลยีแบบองค์รวมและการการประเมินศักยภาพการขยายขนาดของเทคโนโลยี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายมหาวิทยาลัยและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) จุดเด่นของโครงการคือ การใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ (Scale-up Modeling) ในการทำนายประสิทธิภาพของระบบบำบัดน้ำเมื่อขยายขนาดจากห้องปฏิบัติการสู่ระดับอุตสาหกรรม ร่วมกับการประยุกต์ใช้การประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment: LCA) เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมของเทคโนโลยีการบำบัดน้ำตลอดวงจรชีวิต ซึ่งสามารถช่วยลดความเสี่ยงและค่าใช้จ่ายในการลงทุน อีกทั้งยังสามารถนำผลการจำลองมาปรับปรุงการออกแบบและการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด การวิจัยนี้จะช่วยยกระดับเทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียของประเทศไทยสู่มาตรฐานสากล พร้อมสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนโดยรายชื่อทีมนักวิจัยที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่
คณะทำงานชุดที่ 1 รับผิดชอบกรอบงาน กรณีตัวอย่างในประเทศไทย รศ.ดร.สุมนมาลย์ เนียมหลาง , รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ โรจน์วิรุฬห์ม, รศ.ดร.อรวรรณ โรจน์วิรุฬห์, ดร.ปานรวี รุ่งสกุลโรจน์, และ ดร.รัตนา ม่วงโมรา คณะทำงานชุดที่ 2 หน่วยวิจัยด้านการประเมินความยั่งยืนของเทคโนโลยีแบบองค์รวมและการประเมินศักยภาพการขยายขนาดของเทคโนโลยี ดร.ธีรกัญญา ศรีโพธิ์, ผศ.ดร.ชัยภพ ศิระวรกุล และ รศ.ดร.วีราภรณ์ ผิวสอาด
