ฝุ่น PM 2.5 กลายเป็นอีกหนึ่งมลพิษที่อยู่คู่กับคนไทยอย่างยาวนาน เพราะสาเหตุหลักสำคัญเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งการจะแก้ปัญหาอย่างเด็ดขาดยังต้องอาศัยเทคโนโลยีและแนวทางจัดการจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำอย่างยั่งยืน ดังนั้นเมื่อเรายังต้องเผชิญไปอีกพักใหญ่ สิ่งที่จะทำได้คือการรู้เท่าทันความอันตราย หลีกเลี่ยงและระมัดระวังการใช้ชีวิต เพื่อให้มีผลกระทบเชิงลบต่อร่างกายน้อยที่สุด
ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 เล็กประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผมของมนุษย์ ขนจมูกไม่สามารถดักจับได้ หากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานานจะทำให้ปอดเสื่อมประสิทธิภาพหลอดลมอักเสบ เสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง
“ฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน มีขนาดเล็กมากพอที่จะหายใจเข้าไปสู่ปอด และซึมผ่านผนังปอดเข้าสู่กระแสเลือดดังนั้นแล้วผลที่เกิดขึ้นกับร่างกายจึงมีทั้งแบบ ‘เฉียบพลัน’ (เห็นผลใน 1 – 2 วัน) ซึ่งส่วนมากจะเกิดกับระบบทางเดินหายใจ คือ ไอ เจ็บคอ หายใจแล้วมีเสียงฟืดฟาด เลือดกำเดาไหล ซึ่งหากเลือดไหลลงคอก็จะทำให้เสมหะมีเลือดเจือปน หากเข้าตาก็จะทำให้เคืองตา ตาแดง และหากโดนผิวหนังก็จะทำให้เกิดผื่นคัน เป็นตุ่มได้ ส่วนผลแบบ ‘เรื้อรัง’ (ค่อย ๆ สะสม แล้วแสดงผลในระยะยาว) คือ เส้นเลือดหัวใจตีบตันทำให้หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดปกติ, เส้นเลือดไปเลี้ยงสมองตีบ ทำให้เกิดภาวะอัมพาตหรือเสียชีวิต, การเป็นมะเร็งปอดเพราะฝุ่นขนาดเล็กจะมีสารก่อมะเร็ง Polycyclic Aromatic Hydrocarbon (PAH), อีกระบบคือเข้ารกไปทำอันตรายเด็กในท้อง ทำให้เด็กคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักน้อย ติดเชื้อง่าย ทุพโภชนาการ และเป็นโรคออทิสซึม ซึ่งผลกระทบเหล่านี้มีการยืนยันที่ตรงกันจากงานวิจัยทั่วโลก”
วิธีการป้องกัน
นอกจากการใส่หน้ากากมาตรฐาน N95 (ป้องกันได้ 95%) ศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ แนะนำว่าหากไม่สามารถหาซื้อได้หรือสวมใส่แล้วไม่สบาย “สามารถไส่หน้ากากอนามัยทั่วไปซ้อน 2 ชั้น หรือใช้ผ้าเช็ดหน้าชุบน้ำแทนได้ โดยในช่วงที่มีการประกาศว่าค่า PM 2.5 สูงเกินมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ (เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่น และงดออกกำลังกายในพื้นที่เปิดหรืออาคารที่ไม่ได้ปิดมิดชิดเพราะจะทำให้มีการหายใจเอาฝุ่นเข้าไปมากขึ้น แม้อาศัยอยู่ในบ้านก็ควรลดกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดฝุ่นฟุ้งกระจาย เช่น การปัดกวาดฝุ่น (ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดแทน) การจุดธูปเทียน และการทำอาหารในบ้าน เป็นต้น”
แนวปฏิบัติเพื่อรองรับมาตรการจัดการในสถานการณ์ปริมาณฝุ่น PM 2.5
จากการที่มีสถานการณ์ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในขณะนี้มีค่าฝุ่นละอองสะสมอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างมากถึงมาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ตระหนักและห่วงใยต่อสุขภาพของบุคลากรและนักศึกศึกษาเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ดำเนินการด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะการปรับปรุงด้านกายภาพ และการเผยแพร่คำแนะนำการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันกันฝัน PM 2.5 อยู่เป็นระยะ ๆ
เพื่อให้การปฏิบัติงาน การจัดกิจกรรม และการจัดการเรียนการสอนเป็นไปด้วยความเรียบร้อยมหาวิทยาลัย จึงขอให้ส่วนงานหรือหน่วยงานดำเนินการเกี่ยวกับสถานการณ์ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมหรือการเรียนการสอนกลางแจ้ง หรือให้ปฏิบัติงานกลางแจ้งเท่าที่จำเป็น
2. แนะนำให้นักศึกษาและบุคลากรสวมหน้ากากอนามัยที่ป้องกันฝุ่น PM 25
3. หมั่นทำความสะอาดพื้นที่ที่กำกับดูแลหรือรับผิดชอบเพื่อลดปริมาณฝุ่น
4. กรณีพบว่านักศึกษาหรือบุคลากรในสังกัดมีอาการผิดปกติจากฝุ่น PM 2.5 ให้ส่วนงานหรือหน่วยงานแจ้งให้นักศึกษาหรือบุคลากรนั้นไปพบแพทย์ ณ ศูนย์บริการพยาบาล มทร.ธัญบุรี หรือสถานพยาบาลอื่นโดยเร็ว
อนึ่ง หากการปฏิบัติงาน การจัดกิจกรรมหรือการจัดการเรียนการสอนตามปกติมีความเสียงสูงต่อสุขภาพของนักศึกษาหรือบุคลากร รองอธิการบดี หัวหน้าส่วนงาน หรือหัวหน้าหน่วยงานอาจพิจารณาหรืออนุญาตให้บุคลากรในสังกัดปรับรูปแบบการปฏิบัติงานเป็นแบบ Work from Home (WFH) หรือปรับรูปแบบกิจกรรมหรือการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสถานการณ์เป็นรายกรณีก็ได้