วิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี เผย ผสานการเรียนร่วมการทำงาน
‘มีงานทำทันทีหลังเรียนจบ’
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี เผยนโยบายการเรียนรู้สู่การเป็นนวัตกร ยกตัวอย่าง 2 โครงการหลัก ผสมผสานการเรียนร่วมกับการทำงานกับองค์กรชื่อดังในฐานะผู้ใช้บัณฑิต หลังเรียนจบสามารถบรรจุเข้าทำงานทันที เพิ่มคุณภาพการศึกษาและเตรียมความพร้อมสู่ตลาดแรงงานอย่างมืออาชีพ
รศ.ดร.สรพงษ์ ภวสุปรีย์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เผยว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ดำเนินโครงการหลายโครงการเพื่อให้ตอบสนองยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยโดยเฉพาะยุทธศาสตร์สำคัญนั่นคือการเรียนรู้สู่การเป็นนวัตกร ที่จะต้องรอบรู้ รู้ลึกรู้จริง ปฏิบัติเป็น ซึ่งต้องไปปฏิบัติงานจริงกับองค์กร หน่วยงานภาครัฐภาคเอกชนตามสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ทั้งในสถานประกอบการและ ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้ง 2 โครงการที่เกิดขึ้นเป็นของภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ในสาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม และสาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์อากาศยาน ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ เป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจแก่เพื่อนและรุ่นน้องต่อไปได้ การฝึกงานนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยให้นักศึกษาได้ประสบการณ์จริงในสายงานที่เรียน แต่ยังเป็นการสร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์กับบริษัทที่จะเป็นผู้ใช้บัณฑิตในอนาคต และจะมุ่งเน้นการฝึกงานและสหกิจศึกษา ที่จะช่วยส่งเสริมให้นักศึกษามีทักษะและความสามารถในการทำงานที่มีคุณค่าและมีความยั่งยืน ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการจ้างงานหลังจากสำเร็จการศึกษา โดยทางคณะและมหาวิทยาลัยพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และย้ำอีกด้วยว่า “วิศวกรนักปฏิบัติมืออาชีพ เรียนจบมีงานทำ เรียนดีมีทุนให้ เรียนดีและเก่งให้ทุนต่อต่างประเทศ”
ผศ.ดร.ไพฑูรย์ รักเหลือ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี กล่าวว่าจากความร่วมมือของภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม และบริษัท ฟาบริเนท จำกัด ได้มีนักศึกษาให้ความสนใจไปฝึกสหกิจศึกษา และมีนักศึกษาที่เข้าเกณฑ์โควตาของโครงการ International Internship ได้ไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพในต่างประเทศด้านวิศวกรรมศาสตร์ เซมิคอนดักเตอร์ ที่สถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (Industrial Technology Research Institute :ITRI) ไต้หวัน จำนวนทั้งหมด 4 รายด้วยกัน และทางมหาวิทยาลัยได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่ให้นักศึกษา ภายใต้กองทุนส่งเสริมการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ มทร.ธัญบุรี ซึ่งเป็นไปตามคุณสมบัติผู้ขอรับทุน ทำให้นักศึกษาและผู้ปกครองไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ที่พัก หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ส่วน ดร.ชวลิต รักเหลือ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี กล่าวเสริมว่า การฝึกสหกิจต่างประเทศนี้ นอกจากสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่แปลกใหม่และเปิดประสบการณ์แล้ว ยังช่วยเพิ่มคุณภาพการศึกษา เนื่องจากนักศึกษาสามารถนำประสบการณ์จริงกลับมาแบ่งปันและเพิ่มโอกาสการแข่งขันเพื่อให้ได้งานที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกันบริษัทสามารถคัดเลือกบุคลากรที่มีคุณภาพจากนักศึกษาที่ได้ฝึกงาน ซึ่งเป็นการลดต้นทุนในการสรรหาและฝึกอบรมบุคลากรใหม่ ทั้งนี้นักศึกษาเองจำเป็นต้องมีความพร้อมหลายด้าน ทั้งทักษะ ภาษา การปฏิบัติตัวหรือแม้แต่เอกสารสำคัญต่าง ๆ
4 ศิษย์เก่าภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม ที่บรรจุเป็นบุคลากรของบริษัท ฟาบริเนท จำกัด ภายหลังสำเร็จการศึกษา นำโดย ใบไผ่-ปิยวุฒิ สุขพัฒน์ อายุ 22 ปี ตำแหน่ง Engineer เผยสิ่งที่ได้รับจากสหกิจศึกษาคือความมั่นใจ และองค์ความรู้ใหม่ด้านวิศวกรรมศาสตร์ ตลอดระยะเวลาได้สวมบทบาทวิศวกร ได้ฝึกกระบวนการผลิตด้านอุตสาหกรรม ได้ทำงานร่วมกับคนต่างชาติ ได้ใช้ภาษา สร้างวินัยและความรับผิดชอบ ที่สำคัญการมีประสบการณ์การทำงานที่ดีทั้งในและต่างประเทศ สร้างโอกาสการได้งานทำที่สูงมาก
ในอีกมุมหนึ่ง ย้ง-วันทนีย์ อมรเวชสิริกุล อายุ 23 ปี ตำแหน่ง Process Engineer เล่าว่าดีใจที่ได้ไปฝึกสหกิจต่างประเทศที่ไต้หวัน ที่ถือว่ามีความเจริญด้านเทคโนโลยีชั้นสูง ผู้ที่เชี่ยวชาญและมีความรู้ด้านใช้งานเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ มีความต้องการสูงมากในตลาดแรงงานและภาคอุตสาหกรรม สำหรับการไปฝึกสหกิจต่างประเทศสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือทักษะการสื่อสารและภาษา แม้จะยาก แต่ถ้าฝึกฝนจะเกิดความคุ้นเคยเอง
ขณะที่ เนย-อภิชญา ตาต่อม อายุ 22 ปี ตำแหน่ง Process Engineer บอกว่าถือเป็นโอกาสและช่วงจังหวะที่เหมาะสมในการได้ฝึกงานต่างประเทศ และมีงานรองรับทันทีระหว่างที่กำลังยื่นจบการศึกษา สิ่งหนึ่งที่อยากสะท้อนออกไปคือ ในเวทีการฝึกงานเราต้องสวมบทบาทการใฝ่รู้ใฝ่เรียน แอคทีพ และตั้งใจอย่างมืออาชีพ เนื่องจากทุกคนมีศักยภาพคล้ายกันหมด แต่การแสดงออกอย่างมืออาชีพย่อมแตกต่างกันไป ตามประสบการณ์และการสั่งสม รวมถึงการเรียนรู้
พีส-พรรณธร โฆสิตธรรม อายุ 22 ปี ตำแหน่ง Process Engineer สรุปให้ฟังว่า การจัดวางรูปแบบชีวิตเป็นสิ่งสำคัญ ต้องวางแผนล่วงหน้าตามปฏิทินการศึกษา หมั่นอัพเดตข่าวสารกับทางคณะ ทางมหาวิทยาลัยและอาจารย์ที่ปรึกษาบ่อย ๆ อีกส่วนหนึ่งตัวเราต้องมีความรู้ มีทักษะต่าง ๆ ที่มากพอจนทำให้บริษัทหรือองค์กรสนใจในตัวเรา ยอมรับเรา ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ต้องบาลานซ์กัน และขอบคุณอาจารย์ที่ดูแล และขอบคุณกองทุนส่งเสริมการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ มทร.ธัญบุรี ที่ช่วยสนับสนุนโอกาสที่ดีเช่นนี้
ขณะที่ ผศ.ดร.นิพนธ์ ทางทอง ประธานหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์อิเล็กทรอนิกส์อากาศยาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี กล่าวว่าทางหลักสูตรได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาทักษะด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานพาณิชย์ขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและพัฒนาทักษะเพื่ออนาคต เพื่อให้นักศึกษาในหลักสูตรได้พัฒนาทักษะความรู้การดูแลรักษา การซ่อมบำรุงอากาศยานพาณิชย์ โดยจัดขึ้นที่สายการบินไทยไลอ้อนแอร์และที่สนามบินนานาชาติดอนเมือง ขณะเดียวกันคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมืออยู่ ทำให้เรามีโอกาสสร้างเครือข่ายที่ดีกับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการหางานในอนาคตของนักศึกษา ทั้งยังอาจนำไปสู่การสนับสนุนทางทรัพยากรต่าง ๆ จากองค์กรร่วมด้วย
ด้านศิษย์เก่าหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์อิเล็กทรอนิกส์อากาศยาน ที่เพิ่งเข้าบรรจุที่บริษัท ไทย ไลอ้อน เมนทารี จํากัด ภายหลังจากการฝึกงานเสร็จ ในตำแหน่ง Mechanic ดังเช่น มาร์ค-พงพิสุทธิ์ ศิริตันหยง อายุ 23 ปี บอกว่า “การฝึกงานเป็นการฝึกปฏิบัติของจริง ณ สถานที่จริง โดยเข้าฝึกงานเป็นกะ อาจเป็นได้ได้ทั้งกะเช้าและกะบ่าย ความท้าทายในการฝึกงาน รวมถึงหน้างานจริงนั่นคือ การมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับความปลอดภัย ทั้งต่อตัวเราเอง ผู้โดยสาร และอากาศยาน จำเป็นต้องรอบคอบ เคร่งครัดและแม่นยำสูงสุด ซึ่งการจัดการเรียนการสอนของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี หลายส่วนนำมาใช้ได้จริง แต่ก็ยังมีบางเรื่อง ที่เป็นเรื่องใหม่ จำเป็นต้องอาศัยการฝึกงาน เพื่อให้เราได้รับความรู้ใหม่ ๆ สำหรับไปปฏิบัติงาน และทักษะการสื่อสาร รวมถึงภาษาอังกฤษมีความสำคัญมากต่อการทำงาน”
เช่นเดียวกับ โฟล์ค-เบญจพล พราหมอ้น อายุ 25 ปี บอกว่า ทุกอาชีพย่อมคำนึงถึงความปลอดภัยและความเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะสายการบินความปลอดภัยสูงสุดต้องมาเป็นอันดับแรก ๆ จากประสบการณ์การฝึกงาน ได้เรียนรู้ภาพรวมทั้งหมด และรายละเอียดเชิงลึกตามสาขาที่เราฝึก ได้เห็นได้สัมผัสของจริง ในบรรยากาศจริง ข้อสำคัญประการหนึ่งของการฝึกงานก็คือ ทำให้เรามีความมั่นใจในการทำงานมากขึ้น เนื่องจากได้เผชิญกับปัญหาและเรียนรู้การแก้ไขในสถานการณ์จริงพร้อมกับรุ่นพี่ที่เชี่ยวชาญ และบางเทคนิคได้รับจากการฝึกงานโดยตรง และภูมิใจที่มีโอกาสเลือกสายงานตามความชอบและความถนัดของตนเอง ที่มีงานรองรับทันทีหลังจากฝึกงานเสร็จ
การดำเนินโครงการของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ช่วยเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มโอกาสในการจ้างงานหลังสำเร็จการศึกษา และส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและทักษะทางด้านวิศวกรรม ซึ่งมีผลดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน ที่สำคัญความร่วมมือของคณะและองค์กรผู้ใช้บัณฑิตนี้เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน สถาบันการศึกษา องค์กรและสังคม ช่วยเสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศในอนาคต ติดตามข่าวสารวิศวกรนักปฏิบัติมืออาชีพ เพิ่มเติมได้ที่ www.engineer.rmutt.ac.th
เรื่องและภาพ (บางส่วน)/กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี.