นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 13 ม.ค. 2567
จัดใหญ่โชว์ผลงาน3เดือน ลดรายจ่ายนศ.-ผู้ปกครอง ยกระดับวิจัยตอบโจทย์ปท.
‘ศุภมาส’โชว์ผลงาน อว.ช่วง 3 เดือน ตอบโจทย์เรียนดี มีความสุข เปิด 9 แนวทางดันมหา’ลัย ร่วมสร้างอนาคตประเทศ พลิกโฉม อุดมศึกษาไทย
เมื่อวันที่ 11 มกราคม น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดแถลง ผลงาน 3 เดือน พร้อมวางแนวทางอนาคตของ อว.ในการขับเคลื่อนอนาคตของประเทศ ในงาน Future Thailand โดยมีผู้บริหาร อว. อธิการบดี อาจารย์ นักวิจัย กว่า 800 คน เข้าร่วม ที่สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ
น.ส.ศุภมาสกล่าวว่า กว่า 3 เดือนที่ผ่านมา อว.ได้วางแนวทางและขับเคลื่อนแผนงานสำคัญหลายอย่างตรงกับความต้องการของนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง ผู้ประกอบการ และประชาชน แบ่งได้เป็น 3 ด้านคือ ด้านอุดมศึกษา, ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และการแก้ปัญหาประเทศด้วยนวัตกรรม โดยเฉพาะด้านอุดมศึกษามีผลงาน เช่น การลดความเหลื่อมล้ำและกระจายโอกาสการเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ทั้งนี้ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยในการยกเว้นค่าสมัครคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ในรอบแอดมิชชั่นทั้ง 10 อันดับ ส่วนในปีต่อไปจะพยายามลดค่าใช้จ่ายในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้น้อยลงและในอนาคตเพื่อให้เด็กเข้าสอบโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเลย
น.ส.ศุภมาสกล่าวว่า ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีผลงาน เช่น ดาวเทียมของไทย (THEOS-2) รถไฟต้นแบบที่ออกแบบและ ผลิตโดยคนไทย การพัฒนาเทคโนโลยีและ ยกระดับรถ EV สู่อุตสาหกรรม การส่งเสริมและสนับสนุนสตาร์ตอัพ การพัฒนาเทคโนโลยี ส่วนการแก้ปัญหาประเทศด้วยนวัตกรรมมี ผลงาน เช่น นวัตกรรมการจัดการ PM2.5 AI เพื่อคนไทย หรือโอเพนไทยจีพีที ทราฟฟี่ ฟองดูว์ เพื่อแก้ปัญหาประชาชน และนวัตกรรมการจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร
“ขอถือโอกาสนำเสนอแนวทางในการทำงานในอนาคตประกอบด้วย 9 ประเด็นที่น่าสนใจคือ 1.เพิ่มความช่วยเหลือให้นักเรียนได้เข้ามหาวิทยาลัยมากขึ้น อยากเรียนต้องได้เรียน 2.เรียนมีความสุข มีรายได้ระหว่างเรียน ซึ่งทุกมหาวิทยาลัยมีศูนย์ดูแลสุขภาพเด็ก อยู่แล้ว ให้นักศึกษาได้ระบายความในใจเพื่อช่วยเหลือเด็ก 3.พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมสำหรับคนไทยทุกคน จัดทำแอพพลิเคชั่นในการสืบค้นงานวิจัย 4.เตรียมจัดงาน อว.แฟร์ มหกรรมสินค้านวัตกรรมไทยสู่ตลาดโลก จะจัดในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ 5.จัดทำพิพิธภัณฑ์นวัตกรรมชั้นนำของอาเซียน
6.เดินหน้าหนึ่งอำเภอหนึ่งนวัตกรรม ทำงานร่วมกับทุกมหาวิทยาลัย จัดให้มีศูนย์ อว. 7.เปิดศักราชใหม่อุตสาหกรรมอวกาศไทยต่อยอดคีออส-2
8.อว.ขับเคลื่อนซอฟต์เพาเวอร์ไทย สู่ระดับโลก อัพสกิล รีสกิล พัฒนาทักษะฝีมือในด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ และ 9.จัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการศึกษา และสนับสนุนนักวิจัยและมหาวิทยาลัย และจะพยายามลดระยะเวลาในการพัฒนาทุนเพื่อให้งานวิจัยที่จะเกิดขึ้นมีความทันสมัยและทันเวลา (อ่านรายละเอียดหน้า 2)ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานได้มีการเสวนาในหัวข้อ Road to The Future โดย ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยไทยมีความท้าทายทั้งในประเทศและระดับโลกในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ความรักชาตินิยม ทำให้เกิดสงคราม ความรุนแรง ภาวะโลกร้อน ความเปราะบางของนักศึกษา ทั้งหมดส่งผลต่อการจัดการศึกษาและการใช้ชีวิตในทุกด้าน ทั้งหมดนี้เป็นความท้าทายที่มีผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบ อย่างไรก็ตาม นักศึกษาในปัจจุบันใช้ชีวิตง่ายขึ้น แต่ก็อาจส่งผลให้เด็กเหล่านี้ขาดความอดทนและไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ตรงนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัว และนับวันจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จากนี้ต้องลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง ในส่วนของการจบการศึกษานั้นคงต้องไปดูอาชีพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และกลับไปดูภารกิจของอุดมศึกษาข้อหนึ่งคือการสร้างคนเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง การสร้างองค์ความรู้ในปัจจุบันและอนาคต ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องทำให้ได้คือสถาบันอุดมศึกษาต้องเปลี่ยนแปลง หลักสูตรต้องมีความยืดหยุ่น การศึกษาต้องเข้าถึงได้ง่ายทั้งในระบบและนอกระบบ
“อว.ต้องเป็นคนชี้ทิศทางของประเทศว่าควรทำ หรือไม่ควรทำในเรื่องใดที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และสุดท้าย สถาบันอุดมศึกษาไม่ต้องการแข่งขันแค่ภายในประเทศ แต่ต้องช่วยกันพัฒนาเพื่อการแข่งขันในระดับนานาชาติ” ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์กล่าว
ด้าน รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) กล่าวว่า การจัดอันดับโลกจะต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างงานวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ ที่ผ่านมามุ่งว่าจะเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ โดยตั้งเป้าว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศให้ได้ 2% แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย อีกหนึ่งความท้าทายคือจำนวนผู้เข้าเรียนระบบอุดมศึกษาลดลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาเพิ่มขึ้น รวมถึงความท้าทายในการจัดการศึกษาหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่เน้นการเรียนออนไลน์มากขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยต้องเร่งปรับตัว
รศ.มาลิณี จุโฑปะมา อธิการบดีมหาวิทยาลัย ราชภัฏบุรีรัมย์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) กล่าวว่า ในยุคดิสรัปชั่นซึ่งเป็นยุคของการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว สิ่งสำคัญที่มหาวิทยาลัยต้องเพิ่มเติมให้กับนักศึกษาคือดิจิทัลสกิล จากง่ายๆ ไปสู่ระบบโค้ดดิ้ง ความคิดในเรื่องการศึกษาของคนเปลี่ยนแปลงไป ไม่เน้นการศึกษาในระบบ ขณะที่การศึกษานอกระบบเข้ามามีส่วนสำคัญมากขึ้น ดังนั้น มหาวิทยาลัยต้องทำงานเชิงพื้นที่ให้มากขึ้น จัดการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบลงสู่ชุมชน ยึดหลักเศรษฐกิจ พอเพียง ปรับตัวจัดการศึกษาที่พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลง
“มรภ.ทั้ง 38 แห่งได้ถอดบทเรียนจากการบริหารงานจากความท้าทายที่ มรภ.ต้องเผชิญ ซึ่งให้ทราบว่าจะเดินหน้าต่อยอดในส่วนใดได้บ้างในยุคที่มายด์เซตเปลี่ยนแปลงไป ต้นทุนของนักศึกษามีความสำคัญ โดยเฉพาะดิจิทัลสกิล อิงลิชสกิล เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้กว้างขึ้น รวมถึงจะต้องเชื่อมโยงเครือข่ายในระดับพื้นที่ ในการสร้างนวัตกร ชุมชน อำเภอ จังหวัด ใช้พื้นที่ชุมชนเป็นห้องปฏิบัติการ ทำให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต” รศ.มาลิณีกล่าว
ดร.สมศักดิ์ รุ่งเรือง อธิการบดีวิทยาลัยเซาธ์ อีสท์บางกอก นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จำนวนเด็กที่น้อยลงถือเป็นความท้าทายของสถาบัน การศึกษาเอกชน ขณะที่อีกความท้าทายหนึ่งคือการผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการสถานประกอบการ ซึ่งทุกวันนี้จะเลือกเด็กที่มีทักษะมากกว่า ไม่ได้เลือกจากใบปริญญา ดังนั้น ปริญญาจึงไม่มีความหมาย สิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องปรับคือหลักสูตรให้ทันต่อเทคโนโลยีที่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเฉพาะการเรียนช่วงหลังโควิด-19 ที่นักศึกษาติดใจการเรียนออนไลน์มากขึ้น ดังนั้น มหาวิทยาลัย อาจารย์ ต้องปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ ให้เด็กเห็นว่าคุ้มค่าที่มาเรียน เพราะทุกวันนี้ เด็กส่วนมากเกิดการตั้งคำถามว่าคุ้มค่าหรือไม่ที่มาเรียนเพื่อใบปริญญา เพราะบางคนนั่งอยู่บ้านก็สามารถสร้างรายได้ได้จำนวนมาก สถานประกอบการให้ความสำคัญกับทักษะมากกว่าใบปริญญา ดังนั้น มหาวิทยาลัยต้องทำงานร่วมกับสถานประกอบการ ทั้งในการจัดทำหลักสูตร เพื่อผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการ ตอบโจทย์การศึกษาในอนาคต และตอบโจทย์โลกดิจิทัลที่เกิดขึ้นเร็วมาก