ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 5 ธ.ค. 2566
ทีมข่าวอุดมศึกษา
เทิดพระเกียรติพระอัจฉริยภาพด้านดนตรี
5 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันที่ประชาชนชาวไทยให้ความสำคัญ เพราะเป็นทั้งวันคล้าย “วันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร” เป็น “วันพ่อแห่งชาติ” และเป็น “วันชาติ”
5 ธันวาคมจึงเป็นวันที่มีความสำคัญถึง 3 โอกาส ด้วยกันกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) จึงได้กำหนดจัดงาน “ดนตรีในสวน : H.M.Song อว.บรรเลงเพลงของพ่อ” เพื่อแสดงดนตรีบรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทั่วประเทศเพื่อเทิดพระเกียรติ และเพื่อร่วมน้อมรำลึกถึงพระอัจฉริยภาพทางดนตรีของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงได้รับการยกย่องให้เป็นองค์อัครศิลปินแห่งชาติ
งาน “ดนตรีในสวน : H.M.Song อว.บรรเลงเพลงของพ่อ” จะอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์มาบรรเลงให้ประชาชนรับฟังและจัดแสดง อย่างพร้อมเพรียงกันใน 62 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อส่งมอบความสุขให้คนไทยทั่วประเทศผ่านบทเพลงพระราชนิพนธ์เพลงไทยเดิมเพลงพื้นบ้าน และอีกหลากหลายแนวเพลงโดยฝีมือการบรรเลงของนิสิต นักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษา ทั้งในรูปแบบวงซิมโฟนี ออเคสตรา วงดนตรีสากล วงดนตรีไทย และวงดนตรีพื้นบ้าน ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานในสังกัดอื่นเข้าร่วมทั้งโรงเรียนหน่วยงานในจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมณฑลทหารบก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และส่วนราชการอื่นๆในพื้นที่มากกว่า 75 องค์กร “การน้อมรำลึกถึง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร ในโอกาสสำคัญ 5 ธันวาคม คือการได้สืบสานผลงานที่พระองค์ทรงได้สร้างไว้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีและเป็นนักดนตรีที่ชาวโลกยกย่องเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ทรงเป็นต้นแบบของการสร้างความสุขแก่ประชาชนด้วยบทเพลงพระราชนิพนธ์หลายบทเพลง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและความสุข ขณะที่กระทรวง อว.มีวงดนตรีของนิสิตนักศึกษาอยู่ทุกมหาวิทยาลัยหลากหลายประเภทการนำวงดนตรีของนิสิต นักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษามาบรรเลงเพลงของพ่อก็คือการสืบสานบทเพลงพระราชนิพนธ์โดยคนรุ่นใหม่และน้อมรำลึกถึงพระปรีชาสามารถด้านดนตรีของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวง อว.กล่าวถึงการจัดการแสดงดนตรี อว.เทิดพระเกียรติฯ การแสดงดนตรี อว.เทิดพระเกียรติ” ดนตรีในสวน : H.M.Song อว. บรรเลงเพลงของพ่อ” กระทรวง อว.จัดมาเป็นปีที่ 3 ต่อเนื่องกัน เพราะบทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีความผูกพันกับคนไทยมายาวนานและยังเป็นบทเพลงที่ทรงคุณค่า แสดงให้เห็นถึงความไพเราะงดงามของเสียงดนตรีในรูปแบบของจังหวะเพลงต่างๆ ที่สะท้อนถึงพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีของพระองค์ ซึ่งเป็นผู้พระราชนิพนธ์ทำนองเพลงด้วยพระองค์เองเป็นจำนวนทั้งหมด 48 เพลง ประกอบกับเนื้อหาของบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่มีความหลากหลาย ทั้งเปรียบเปรยความรักได้อย่างลึกซึ้ง ใช้คำพรรณนาเกี่ยวกับธรรมชาติงดงามลงตัว แฝงแง่คิดในการใช้ชีวิต มีความหมาย และสร้างแรงบันดาลใจ ที่สำคัญหลายบทเพลงสะท้อนถึงสถานการณ์บ้านเมืองและเหตุการณ์สำคัญต่างๆในแต่ละช่วงเวลาได้เป็นอย่างดี
ที่สำคัญดนตรีนั้น นอกจากเป็นศิลป์ที่สร้างสรรค์สุขสำราญอย่างกว้างขวางได้แล้ว ยังนับว่าเป็นภาษาสากลที่สื่อสารไปถึงยังผู้คนทุกชาติทุกภาษา ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการสร้างความดีและการเข้าใจในชีวิตอย่างแยบยลผ่านทางการใช้ดนตรีเหล่านี้
สำหรับ การแสดงดนตรี อว.เทิดพระเกียรติฯ “ดนตรีในสวน : H.M.Song อว.บรรเลงเพลงของพ่อ” จะจัดแสดงพร้อมกันทั่วประเทศ
โดยพื้นที่กรุงเทพมหานครกำหนดจัดงานตั้งแต่ วันที่ 5-7 ธันวาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 17.00-20.00 น. ณ สวนหลวง พระราม 8 เชิงสะพานพระราม 8 ถนนอรุณอัมรินทร์ เขตบางพลัด มีสถาบันอุดมศึกษาผลัดเปลี่ยนมาบรรเลงบทเพลงจาก 9 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดแสดง นิทรรศการเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 เช่น เอกองค์อัครศิลปินการดนตรี พระอัจฉริยภาพด้านศิลปวัฒนธรรม พระอัจฉริยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม พระราชกรณียกิจด้านการอุดมศึกษาและเศรษฐกิจพอเพียง อีกด้วย
ขณะที่ในพื้นที่ต่างจังหวัด กำหนดจัดงานใน วันที่ 5 ธันวาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 17.00-20.00 น. โดยมีการจัดแสดงดนตรีใน 62 จังหวัด มีสถาบันการศึกษา และมีหน่วยงานในสังกัดอื่นเข้าร่วมการแสดงมากกว่า 75 สถาบัน
ทั้งนี้ในวันที่ 5 ธันวาคม เวลา 18.00 น. ทุกวงดนตรีของสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศและประชาชนที่มาชมจะร้องเพลงชาติร่วมกัน หลังจากนั้นจะมีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีและตามด้วยเพลงพระราชนิพนธ์ “ยามเย็น” พร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อเทิดพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อเหล่าปวงชนชาวไทย
บทเพลงพระราชนิพนธ์ถือเป็นของขวัญพระราชทานอันล้ำค่าจาก “พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย” และองค์อัครศิลปินแห่งชาติ จะคงสถิตอยู่ในจิตใจของชาวไทยให้ได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณไปชั่วนิรันดร์.