พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชสมภพ วันจันทร์ที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๗๐ ที่โรงพยาบาลเมาท์ออเบิร์น ณ เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ระหว่างที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ทรงศึกษาอยู่ที่ Harvard Medical School และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งขณะนั้นทรงศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยการพยาบาล Simmons ที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเชตส์ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์สุดท้องในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ปี ๒๕๑๐ เมื่อครั้นเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศสหรัฐฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมายังโรงพยาบาลเมาท์ออเบิร์น และพบกับ ดร. ดับเบิลยู สจ๊วต วิทท์มอร์ รวมทั้งคณะพยาบาลที่ถวายพระประสูติกาล ปัจจุบันโรงพยาบาลเมาท์ออเบิร์น จัดข้อมูลร่วมรำลึกถึงการพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กษัตริย์แต่เพียงพระองค์เดียวในดินแดนของสหรัฐอเมริกาบนแผ่นป้ายใต้พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ที่บริเวณชั้น ๕ ของโรงพยาบาลฯ ขณะเดียวกัน จตุรัสภูมิพลที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ก็มีข้อความรำลึกถึงการพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่โรงพยาบาลเมาท์ออเบิร์นด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่า ในรัชกาลปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐ มีความพิเศษยิ่งกว่าในทุกรัชกาล
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงศึกษาในโรงเรียนโนแวล เดอ ลา สวิส โรมอนด์ ชัยยี ซูร์ โลซานน์ และได้ทรงศึกษาต่อ ณ โรงเรียนจิมนาส คลาสซิค คองโตนาล แห่งโลซานน์จนจบ ทรงได้รับประกาศนียบัตรชั้นมัธยม และทรงศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยโลซานน์ สาขาวิทยาศาสตร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ รัฐบาลในนามของประชาชนทั้งประเทศได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กราบบังคมทูลฯ ขอพระราชทานอัญเชิญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสืบราชสมบัติ แต่เนื่องจากยังทรงศึกษาไม่จบ จึงเสด็จฯ กลับไปยังสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงศึกษาต่อในวิชากฎหมายและการเมือง เพื่อให้เหมาะสมกับการที่ต้องทรงดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ต่อไป
ในวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เฉลิมพระบรมนามาภิไธย ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร พร้อมทั้งพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม และในโอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลพระราชธิดาและพระราชโอรส 4 พระองค์คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฏราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพทางด้านต่าง ๆ มากมาย เป็นแบบอย่างการเรียนรู้ การศึกษา อันเป็นแรงบันดาลใจและแบบอย่างที่ดีในการเรียนรู้ให้แก่ชาวไทยทุกคน ได้แก่ พระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรี ทรงดนตรีเชี่ยวชาญในหลายประเภท ทรงแต่งเพลงพระราชนิพนธ์หลายเพลง และสนับสนุนอนุรักษ์เครื่องดนตรีไทยให้คงอยู่คู่กับประเทศสืบไป พระอัจฉริยภาพทางด้านถ่ายภาพ ชำนาญการใช้ถ่ายภาพ การอัดขยายภาพ ทรงประดิษฐ์แผ่นกรองแสง และทรงถ่ายภาพด้วยพระองค์เองเมื่อเสด็จเยือนพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร พระอัจฉริยภาพทางด้านกีฬา ทรงโปรดเล่นกี่ฬาหลายอย่าง เช่น ฮอกกี้น้ำแข็ง การยิงปืน ว่ายน้ำ สกีหิมะ สกีน้ำ แบดมินตัน และเรือกรรเชียง ทรงศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดและฝึกจนเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะกีฬาเรือใบ และลงเแข่งขันในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 อีกด้วย พระอัจฉริยภาพทางด้านศิลปะ ทรงปรีชาในด้านงานจิตรกรรม ทรงศึกษาขั้นตอนการเขียน เทคนิค ทั้งภาพเสมือนจริง ภาพนามธรรม ทรงงานวาดภาพเมื่อว่างจากพระราชภารกิจ พระอัจฉริยภาพทางด้านภาษาและวรรณกรรม ทรงสื่อสารภาษาอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศสได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังทรงสนพระราชหฤทัยในการใช้ภาษาและภาษาสันสกฤตอย่างละเอียด พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือไว้หลายเรื่อง พระอัจฉริยภาพทางด้านการเกษตรและชลประทาน ทรงศึกษาเรื่องการกั้นน้ำและสร้างเขื่อน และมีพระราชดำริมากมายเพื่อช่วยแก้ปัญหาป่าไม้ แหล่งน้ำและดิน รวมถึงพระราชทาน ราชดำริอันเนื่องมาจากพระอัจฉริยภาพของพระองค์อย่าง “ทฤษฎีใหม่” แนวทางเกษตรที่ยั่งยืนรวมถึง แนวทางการดำรงชีวิตที่มั่นคงและพึ่งพาตัวเองได้อย่าง “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ได้มีการนำไปประยุกต์ใช้ในหลากหลายประเทศและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง
พระราชกรณียกิจด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
โดยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นประมุขของประเทศ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่าง ๆ หลายประเทศ ทั้งในทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป และทวีปอเมริกาเหนือ เพื่อเป็นการเจริญทางพระราชไมตรีระหว่างประเทศไทยกับบรรดามิตรประเทศเหล่านั้น ที่มีความสัมพันธ์อันดีอยู่แล้ว ให้มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทรงนำความปรารถนาดีของประชาชนชาวไทย ไปยังประเทศต่าง ๆ นั้นด้วย ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างไกลมากยิ่งขึ้น นับว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมหาศาล และเมื่อเสร็จสิ้นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่าง ๆ แล้ว ก็ได้ทรงต้อนรับพระราชอาคันตุกะ ที่เป็นประมุขของประเทศต่าง ๆ ที่เสด็จและเดินทางมาเยือนประเทศไทยเป็นการตอบแทน และบรรดาพระราชอาคันตุกะทั้งหลาย ต่างก็ประทับใจในพระราชวงศ์ของไทย ตลอดจนประชาชนชาวไทยอย่างทั่วหน้า
พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักดีว่า การพัฒนาการศึกษาของเยาวชนนั้น เป็นพื้นฐานอันสำคัญของประเทศชาติ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์จัดตั้งมูลนิธิอานันทมหิดล ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการจัดทำสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนขึ้น เป็นสารานุกรมอเนกประสงค์ที่บรรจุเรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นสาระไว้ครบทุกแขนงวิชา โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละสาขาวิชา การอุทิศเวลาและความรู้ ร่วมกันเขียนเรื่องต่าง ๆ ขึ้น แบ่งออกเป็น ๔ สาขาวิชา คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ทรงก่อตั้งกองทุนนวฤกษ์ ในมูลนิธิช่วยนักเรียนที่ขาดแคลน ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา ทั้งยังพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นทุนริเริ่มในการก่อสร้างโรงเรียนตามวัดในชนบท สำหรับที่จะสงเคราะห์เด็กยากจนและกำพร้า รวมถึงพระราชกรณียกิจด้านการศึกษาในระบบโรงเรียนอื่นๆ ได้แก่ โรงเรียนจิตรลดา โรงเรียนราชวินิต โรงเรียนวังไกลกังวล โรงเรียนร่มเกล้า มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม โรงเรียนราชประชาสมาสัย โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ โรงเรียนร่มเกล้า โรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน โรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือตามความจำเป็นเร่งด่วน มูลนิธิช่วยครูอาวุโส และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ในมูลนิธิราชประชานุเคราห์
มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ www.dltv.ac.th เริ่มออกอากาศการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม (Distance Learning Television: DLTV) เป็นปฐมฤกษ์ ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๘ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ในปีกาญจนาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๓๙ ดำเนินการถ่ายทอดสดการเรียนการสอนระดับประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึง มัธยมศึกษาปีที่ ๖ จากโรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตลอดจนการศึกษาสายอาชีพ มาอย่างต่อเนื่องกว่า ๒๐ ปี
พระราชกรณียกิจด้านการแพทย์
ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามท้องที่ต่าง ๆ ทุกครั้ง จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีคณะแพทย์ที่ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจากโรงพยาบาลต่าง ๆ และล้วนเป็นอาสาสมัครทั้งสิ้น โดยเสด็จพระราชดำเนินไปในขบวนอย่างใกล้ชิด พร้อมด้วยเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ครบครัน พร้อมที่จะให้การรักษาพยาบาลราษฎร ผู้ป่วยไข้ได้ทันที
นอกจากนั้น ยังมีโครงการทันตกรรมพระราชทาน ซึ่งเป็นพระราชดำริที่ให้ทันตแพทย์อาสาสมัคร ได้เดินทางออกไปช่วยเหลือบำบัดโรคเกี่ยวกับฟัน ตลอดจนสอนการรักษาอนามัยของปากและฟัน แก่เด็กนักเรียนและราษฎรที่อาศัยอยู่ในท้องที่ทุรกันดาร
สำหรับการเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมวัดทุกแห่ง ซึ่งนับเป็นศูนย์กลางของชุมชนในชนบท โดยจะพระราชทานกล่องยาแก่วัด เพื่อพระภิกษุใช้เมื่อเกิดอาพาธ และเพื่อแจกจ่ายแก่ราษฎรผู้ป่วยเจ็บในหมู่บ้านนั้นๆ ส่วนในการเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมหน่วยทหาร ตำรวจ และอาสาสมัคร ที่ออกไปตั้งฐานปฏิบัติการในท้องที่ทุรกันดาร ก็จะพระราชทานสิ่งของที่จำเป็นต่างๆ รวมทั้งยารักษาโรคสำหรับใช้ในหมู่เจ้าหน้าที่ และใช้ในการรักษาพยาบาล และเพื่อแจกจ่ายแก่ราษฎรในท้องที่ ที่มาขอความช่วยเหลือ ทางด้านหน่วยแพทย์หลวงที่จะต้องตามเสด็จพระราชดำเนินไป ณ ที่ประทับแรมทุกแห่งนั้น จะมีเจ้าหน้าที่ให้การรักษาพยาบาลราษฎร ผู้มาขอรับการรักษา ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่ประการใด นอกจากนั้น หน่วยแพทย์หลวงยังจัดเจ้าหน้าที่ออกเดินทาง ไปรักษาราษฎรผู้ป่วยเจ็บ ตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลออกไปอีกด้วย