เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 4 ต.ค. 2566
ผลงานวิจัยนักศึกษาปริญญาโท ร่วมกับ นักวิจัยสาขาเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีคหกรรม ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กับ “หมวกคลุมศีรษะทารกแรกเกิดสำหรับเข้ารับการส่องไฟ” เพื่อป้องกันแสงจากการส่องไฟ ลดการระคายเคืองผิวหนังจากปลาสเตอร์ และส่งเสริมความผูกพันระหว่างแม่และลูกน้อย ซึ่งเป็นผลงานของ นายชนัญชิดา ณะสม นักศึกษาปริญญาโท โดยมี รศ.ดร.สาคร ชลสาคร คณบดีคณะเทคโนโลยี คหกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี และ ผศ.ดร.ศุภนิชา ศรีวรเดชไพศาล อาจารย์สาขาเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมวิจัยในครั้งนี้
โดยนายชนัญชิดา เปิดเผยว่า อย่างที่ทราบกันทารกแรกเกิดที่มีภาวะตัวเหลือง ต้องได้รับการรักษาด้วยการส่องไฟ ซึ่งขณะที่ส่องไฟต้องมีการปิดตาทารกแรกเกิด ตามโรงพยาบาลส่วนใหญ่ใช้แผ่นฟิล์มทึบแสงห่อด้วยผ้าก๊อซและปิดด้วยแถบกาวเหนียว หรือ ปลาสเตอร์ ขณะที่ส่องไฟผ้าปิดตาอาจเลื่อนหลุด หรือในเคสที่ต้องใช้ปลาสเตอร์แถบกาวปิด เวลาที่ลอกหรือเปลี่ยนผ้า อาจทำให้ทารกเกิดความเจ็บปวดและเกิดรอยแดงหรือผื่นบริเวณรอบดวงตา จากปัญหาดังกล่าวจึงมีแนวคิดในการออกแบบหมวกคลุมศีรษะทารกแรกเกิดสำหรับเข้ารับการส่องไฟขึ้นมา
โดยกระบวนการออกแบบหมวกคลุมศีรษะ เริ่มจากการศึกษาลักษณะและสมบัติทางกายภาพของผ้าที่เหมาะสมเพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์ชนิดเส้นใย โครงสร้าง สีและลวดลายของผ้าที่เหมาะสมต่อการ ใช้งานกับหมวกทารก จากผ้า 5 ชนิด คือ ผ้าสาลูสีขาว ผ้าสาลูลายการ์ตูน ผ้าสำลี ผ้าหนังไก่ และผ้านาโน พบว่า ผ้าสาลูลายการ์ตูน เนื้อผ้าเป็นผ้าฝ้ายร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่มีสารฟอกขาว ปลอดภัยต่อผิวทารก ระบายความร้อนได้ดี ติดสีย้อม ได้ดี ให้ความนุ่มสบายตัว ซับน้ำได้ดี ยิ่ง ซักยิ่งนิ่มและมีลวดลายและสีสันผ้าที่น่ารักซึ่งเหมาะสำหรับทารก ตลอดจนไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง และการทดสอบตามมาตรฐานสิ่งทอ พบว่าค่าความคงทนของการขัดถูต่อการขึ้นขนบนผืนผ้าเป็นที่ยอมรับได้ ไม่เกิดอันตรายต่อทารก มีความคงทนต่อการซัก สามารถซักและนำกลับมาใช้ใหม่ได้
เมื่อได้ผ้าที่เหมาะสมนำมาออกแบบหมวกคลุมศีรษะ 5 แบบ ได้แก่ แบบแผ่นฟิล์มเย็บติด แบบเปิดปิด แบบมัดเชือกใต้คาง แบบหมวกพับสวมปิด และแบบเปิดหน้าผาก ขนาดความสูง 11 เซนติเมตร และความกว้าง 9 เซนติเมตร รูปทรงการออกแบบบริเวณด้านหน้าในส่วนรอบ ๆ ดวงตา มีช่องใส่แผ่นทึบแสง (แผ่นฟิล์ม) ปิดไว้ สำหรับปิดดวงตาทั้ง 2 ข้าง เพื่อป้องกันแสงไฟ โดยเว้นบริเวณจมูกไว้ เพื่อให้ทารกแรกเกิดหายใจได้สะดวก ซึ่งบริเวณด้านข้างและบริเวณหูและด้านหลังจะคลุมศีรษะทารกทั้งหมดโดยความยาวถึงแค่กกหูทารกแรกเกิด คำนึงถึงการสวมใส่ที่กระชับ ใส่สบายไม่อึดอัดขณะสวมใส่ในตู้อบ โดยหมวกได้รับการประเมินความพึงพอใจจากผู้เชี่ยวชาญสาขาการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น คณะพยาบาลศาสตร์ มทร.ธัญบุรี มารดาของทารกแรกเกิด โรงพยาบาลปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี จำนวน 40 คน บุคลากรทางการแพทย์หน่วยวิกฤตทารกแรกเกิด รพ.ปทุมธานี จำนวน 10 คน หมวกคลุมศีรษะทารกแรกเกิดสำหรับเข้ารับการส่องไฟ แบบมัดเชือกใต้คาง ได้รับความพึงพอใจระดับมาก สามารถป้องกันการเกิดรอยแดงบริเวณรอบดวงตา สวมใส่สะดวก มีความกระชับไม่เลื่อนหลุดง่าย ด้วยความคงทน ไม่ขาดง่าย และยิ่งซักยิ่งมีความอ่อนนุ่ม ส่งผลให้หมวกคลุมศีรษะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยนำไปซักและผ่านการฆ่าเชื้อ ทำให้ประหยัดทรัพยากร ลดการทำงานของผู้ที่เกี่ยวข้อง และประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลทารกแรกเกิดที่ได้รับการส่องไฟ จากการใช้ผ้าปิดตาแบบเดิมต้องมีการเปลี่ยนผ้าทารกแรกเกิดอย่างน้อย 3 แผ่น ต่อวัน ราคาการอบฆ่าเชื้อแผ่นละ 30 บาท เสียค่าใช้จ่ายเท่ากับ 90 บาทต่อวัน
สำหรับการศึกษาลักษณะและสมบัติทางกายภาพของผ้าที่เหมาะสมสำหรับการออกแบบหมวกทารกได้รับรางวัลระดับดีเด่น สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ การนำเสนอผลงานภาคบรรยายโดดเด่นระดับชาติ The best Oral Presentation 2023 ในการประชุมวิชาการระดับชาติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ครั้งที่ 13 ณ ศูนย์ประชุมนงนุชเทรดดิชั่นเซ็นเตอร์ฮอลล์ สวนนงนุชพัทยา จ.ชลบุรี ด้วย.
ส่งข้อมูลข่าวสาร-ภาพ ด้านการศึกษา education@dailynews.co.th