แนวหน้า ฉบับวันที่ 20 ก.ย. 2566
รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ มหาวิทยาลัยได้จัดโครงการสัมมนาสร้างเครือข่ายครู-อาจารย์แนะแนว ประจำปี 2566 มีอาจารย์เข้าร่วมโครงการกว่า 230 คน จาก 91 สถานศึกษา โดยเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการแนะแนวศึกษาต่อในมทร.ธัญบุรี เช่น หลักสูตรที่เปิดในมทร.ธัญบุรี เข้าใจ ตัวเองก่อนเลือกเส้นทาง เป็นต้น ซึ่งการจัดสัมมนาในครั้งนี้ ได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากอาจารย์แนะแนวโรงเรียน เครือข่าย ซึ่งหลายโรงเรียนมีความต้องการให้มหาวิทยาลัยขยายจำนวนการรับนักเรียนประเภทโควตาเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักเรียนมีความต้องการที่จะเข้าศึกษาต่อในมทร.ธัญบุรีเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมทร.ธัญบุรี มีการรับนักเรียนในประเภทนี้ 2 กลุ่ม คือโควตาที่มาจากโรงเรียน/วิทยาลัย เครือข่าย ที่มีความร่วมมือทางด้านวิชาการกับ มทร.ธัญบุรี ซึ่งปัจจุบันมี 443 สถานศึกษากระจายอยู่ทั่วประเทศ และอีกกลุ่มหนึ่งคือ โควตาจาก โรงเรียน/วิทยาลัยทั่วไป ซึ่งโควตาจากโรงเรียน/วิทยาลัยในเครือข่าย จะรับ ปีละ 20% ของยอดรับนักศึกษาทั้งหมด ส่วนโควตาที่รับจากโรงเรียน/วิทยาลัยทั่วไป ผ่านระบบ TCAS รอบโควตา และจากวิทยาลัยทั่วไป สายอาชีพ ซึ่งมหาวิทยาลัยรับสมัครโดยตรง จะรับประมาณ 30% อย่างไรก็ตาม การเพิ่มจำนวนรับนักเรียนประเภทโควตานั้น หากในปีนั้นๆ มีนักเรียนสมัครเป็นจำนวนมาก และมีผลการเรียนที่ดี ตรงตามเป้าประสงค์ของมหาวิทยาลัย อาจมีการขยายจำนวนรับเพิ่มได้
อธิการบดีมทร.ธัญบุรี กล่าวต่อว่า การดำเนินการโครงการโรงเรียนเครือข่ายของมทร.ธัญบุรี ไม่ได้มีเฉพาะระดับชั้นมัธยมศึกษาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงระดับอาชีวศึกษาด้วยเช่นกัน โดยได้เริ่มโครงการนี้มาเป็นเวลา 10 ปี เพื่อเพิ่มโอกาสให้นักเรียนได้เข้าถึงสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานในการศึกษา ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน รวมถึง ตอบสนองต่อความต้องการของอาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษาที่เป็นศิษย์เก่าของ มทร.ธัญบุรี ที่มีความต้องการให้ลูกศิษย์ได้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ซึ่งรูปแบบ ของโรงเรียนเครือข่ายจะเป็นลักษณะจัดส่งบุคลากรของมหาวิทยาลัยออกไปแนะแนวศึกษาต่อยังสถานศึกษาที่เป็นเครือข่ายทั่วประเทศ กับการจัดโครงการสัมมนาให้กับอาจารย์โรงเรียนเครือข่าย นอกจากนี้นักเรียนในโรงเรียนเครือข่ายที่อยู่ใกล้กับมทร.ธัญบุรี ยังสามารถเข้าเรียนในวิชาพื้นฐานวิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ เคมี และอื่นๆ เพื่อเป็นการปูพื้นฐานให้เข้มแข็ง ซึ่งการเรียนร่วมในลักษณะเช่นนี้ หากวิชาไหนสามารถเก็บสะสมหน่วยกิตได้ จะทำเป็นระบบคลังหน่วยกิตให้กับนักเรียน ส่วนในวิทยาลัยอาชีวศึกษา ที่เปิดสอนระบบราง หรือระบบการบิน มทร.ธัญบุรีจัดส่งอาจารย์ไปช่วยสอนเช่นกัน
สำหรับหลักเกณฑ์การรับนักศึกษาโควตา จะพิจารณาจากแฟ้มสะสมผลงาน รางวัลที่นักเรียนหรือนักศึกษาได้รับ ที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่สมัครและผลการเรียนสะสมจนถึง ภาคการศึกษาปัจจุบันของผู้สมัคร รวมถึงเกณฑ์อื่นๆ ตามที่กรรมการประจำหลักสูตรกำหนด