เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 16 ก.พ. 2565
พงษ์พรรณ บุญเลิศ
จิตรกรรมฝาผนังเป็นส่วนหนึ่งในงานพุทธศิลป์ ทุกยุคสมัยนับเป็นบันทึกสำคัญ มากด้วยองค์ความรู้หลายมิติ จิตรกรรมฝาผนัง งานศิลปะที่มีความเป็นมายาวนาน โดยภาพที่ปรากฏที่ได้ชมภายในพระอุโบสถ นอกจากพุทธประวัติ ไตรภูมิ “ทศชาติชาดก” เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่างโบราณเขียนเล่าเรื่องไว้
ศาสตราจารย์ ดร.สมพร ธุลี คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ให้ความรู้พาสัมผัสงานพุทธศิลป์จิตรกรรมฝาผนัง เล่าถึงภาพเขียนทศชาติชาดกว่า ศิลปะพุทธศิลป์ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรมมีความเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อการสืบสานพุทธศาสนา
จิตรกรรมฝาผนังได้สืบทอดและถ่ายทอดศิลปะเชิงช่างโบราณ เป็นดั่งคลังความรู้ขนาดใหญ่ ทั้งเป็นบันทึกสำคัญที่พาย้อนกลับไปเรียนรู้ ค้นคว้าได้พบกับหลายเรื่องที่น่าสนใจ หลายมิติ ภาพจิตรกรรมที่ปรากฏในศาสนสถานที่เขียนบนผนังโบสถ์วิหาร ช่องหน้าต่าง ฯลฯ จะเขียนภาพพุทธประวัติ ประวัติของพระพุทธเจ้า เขียนภาพทศชาติ ฯลฯ ซึ่งภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภาพวาดภาพสีฝุ่นบนผนัง นอกจากมีจุดหมายเพื่อการตกแต่งพระอุโบสถ ยังเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาคณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร.สมพรขยายความเพิ่มอีกว่าบริเวณด้านบนเหนือกรอบหน้าต่าง ช่างจะเขียนภาพพุทธประวัติ ประวัติของพระพุทธเจ้านับแต่ประสูติเรื่อยมา ส่วนบริเวณกรอบหน้าต่างจะเขียนภาพทศชาติชาดก สิบพระชาติสุดท้ายก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยภาพจิตรกรรมในสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 จะเห็นอย่างชัดเจน
สถานที่หนึ่งที่จะเป็นแหล่งศึกษา ชมความงามของภาพจิตรกรรมฝาผนังได้แก่ วัดสุวรรณาราม ย่านฝั่งธนบุรี โดยภาพจิตรกรรมฝาผนัง โดยหลักเป็นเรื่องราวพุทธประวัติ ทศชาติ และยังแทรกภาพวิถีชีวิต ถ่ายทอดองค์ความรู้เชิงช่างยุคสมัยนี้ไว้อย่างโดดเด่น เช่นเดียวกับวัดสำคัญแห่งหนึ่งในย่านเมืองเก่าสงขลา วัดมัชฌิมาวาสวรวิหารด้านในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังทศชาติชาดกครบสิบชาติ ทั้งมีภาพจิตรกรรมเรื่องพระเวสสันดรชาดกกัณฑ์ต่าง ๆ มีแบบแผนการวาดที่โดดเด่นเช่นเดียวกัน
ในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 6 ภาพจิตรกรรมฝาผนังจะเห็นถึงการเขียนบางช่วงบางตอน ดังเช่นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร แสดงเรื่อง พระเวสสันดรชาดกโดยภาพมีความเหมือนจริงตามธรรมชาติ มีสัดส่วนสมจริง เทคนิคการเขียนมีการไล่น้ำหนักสีในระยะต่าง ๆ แทรกสีแบบตะวันตก รูปร่างคนมีขนาดใหญ่เหมือนชาวต่างชาติ แสดงท่าทางที่ดูเป็นธรรมชาติ สวยงามมีมิติ ถ่ายทอดยุคสมัยตามที่ช่างเขียนบันทึกไว้ หรือที่ วัดคูเต่า จังหวัดสงขลา มีภาพจิตรกรรมฝาผนังพระเวสสันดรชาดกที่งดงามเป็นเอกลักษณ์ เป็นต้น
ศาสตราจารย์ ดร.สมพร กล่าวอีกว่า ทศชาติชาดก พุทธประวัติของพระพุทธเจ้าได้แก่พระเตมีย์ชาดก พระมหาชนกชาดก พระสุวรรณสามชาดก พระเนมิราชชาดก พระมโหสถชาดก พระภูริทัตชาดก พระจันทกุมารชาดก พระพรหมนารทชาดก พระวิฑูรชาดก พระเวสสันดรชาดก แต่ละพระชาติบอกเล่าเรื่องราวเน้นย้ำถึงการทำความดี โดยแม้จะเจอเรื่องราววิบากกรรมอย่างไร ให้พึงระลึกถึงการทำความดีไว้เสมอ แสดงเผยแพร่ให้พุทธศาสนิกชนได้ตั้งมั่น มีแรงบันดาลใจทำความดี
อย่างเช่นในเรื่อง พระเตมีย์ชาดกเป็นการบำเพ็ญเนขัมมบารมี ทรงออกบวชทิ้งจากกามคุณคือความน่าใคร่ น่าปรารถนา ความพอใจทั้งหลายที่เกี่ยวกับผัสสะไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส ในภาพจิตรกรนิยมเขียนภาพจิตรกรรมเหตุการณ์ตอนพระเตมีย์ทรงยกราชรถลอยขึ้นเหนือพระเศียร โดยพระหัตถ์เพียงข้างเดียว เป็นต้น
อีกภาพหนึ่ง พระมหาชนกชาดก ในชาดกเรื่องนี้ทรงบำเพ็ญวิริยบารมี เป็นพระชาติแห่งความเพียร โดยที่เน้นแสดงให้เห็นคือ ตอนที่พระมหาชนกว่ายน้ำอยู่ในคลื่นมหาสมุทร มีความพยายาม ความอดทน แม้จะมองไม่เห็นฝั่ง แต่ยังคงมีความหวังต่อสู้ ซึ่งเมื่อนางมณีเมขลาเห็นถึงความเพียรจึงอุ้มมาส่งฝั่ง เป็นภาพไฮไลต์ที่เขียนแสดง ทั้งด้านล่างยังเป็นภาพสำเภาขนาดใหญ่แตกกลางมหาสมุทร ผู้ที่โดยสารมากับเรือสำเภาต่างว่ายน้ำอลหม่าน ฯลฯ
จันทกุมารชาดกแสดงถึงการบำเพ็ญขันติบารมี ความอดทน อดกลั้นต่อกิเลส ตอนนี้มีไฮไลต์คือพระอินทร์เสด็จลงมาช่วยมาทำลายพิธี หรือในพระชาติสุดท้าย พระเวสสันดรชาดก แสดงถึงการบำเพ็ญทานบารมี การบริจาค เสียสละ เป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ผู้รับและผู้ให้ โดยช่างหลวงและช่างท้องถิ่นจะวาดแสดงให้เห็นถึงการให้ทาน ทั้งนี้เรื่องราวต่าง ๆ ของทศชาติชาดกทุกเรื่องมีรายละเอียด จากที่กล่าวนอกจากพุทธประวัติที่จะได้เรียนรู้ ยังได้เห็นหลักธรรมคำสอนสำคัญ เห็นถึงความมุ่งมั่นการทำความดี
“ภาพจิตรกรรมเป็นสื่อแสดงให้คนรุ่นหลังได้เห็นสิ่งที่พระองค์ทรงปฏิบัติ เห็นถึงผลลัพธ์ ได้เรียนรู้ทั้งในด้านศิลปกรรม เรียนรู้หลักธรรม คำสอน เข้าใจและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น จากที่กล่าวบางวัดอาจวาดทุกตอน ขณะที่บางสถานที่วาดเพียงบางช่วงบางตอนของทศชาติ ซึ่งเป็นไปตามความเหมาะสม ความเห็นของช่างที่จะเลือกนำเสนอช่วงตอนใด ทั้งนี้แต่ละตอน มีเนื้อหามาก”
นอกจากที่กล่าวมายังมีอีกหลายสถานที่น่าศึกษาชมความงามจิตรกรรมฝาผนังอย่างที่ วัดวิหารเบิกที่พัทลุง เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่จะศึกษา เที่ยวชมภาพทศชาติได้ครบ โดยตอนพระภูริทัตชาดก วาดได้อย่างงดงาม หรือที่ วัดปัญญานันทาราม คลองหก จังหวัดปทุมธานี ก็ได้เขียนภาพทศชาติชาดกเช่นกัน โดยเขียนภาพพระมหาชนก ให้เรียนรู้ ศึกษาพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า
“ภาพเขียนพระมหาชนก จากที่นี่นำเสนอด้วยเทคโนโลยี เออาร์ จากภาพที่จัดแสดงเมื่อชมผ่านเออาร์ ภาพแสดงเคลื่อนไหว มีฟ้าร้อง มีพายุ มีคลื่นลมแรงประกอบกับความหมายของภาพ ทำให้เกิดการเรียนรู้ เข้าใจชัดขึ้น ผู้เข้าชมยังสามารถมีส่วนร่วมเหมือนอยู่ในบรรยากาศเดียวกัน เป็นการสร้างสรรค์และสืบสานงานพุทธศิลป์อีกทางหนึ่ง โดยภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นส่วนหนึ่งในการสื่อความหมาย เป็นภาษาภาพที่บอกเล่า” ภาพจิตรกรรมฝาผนัง การสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานพระพุทธศาสนา ภาพที่ปรากฏนับแต่ครั้งโบราณ นอกจาก ให้ความงาม ความสุนทรีย์ ยังให้ความรู้แก่ผู้ชม ส่งต่อการศึกษา การค้นคว้าเรียนรู้ในข้อธรรมะพุทธประวัติ โดยศึกษาได้จากภาพจิตรกรรมฝาผนัง คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร.สมพร ให้หลักการชมภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภาพทศชาติชาดกทิ้งท้ายอีกว่า อาจเริ่มจากการเลือกชมจุดที่สนใจก่อน ภาพเขียนพุทธประวัติ หากถ้าหันหน้าไปทางพระประธาน เมื่อเข้าไปภายในพระอุโบสถ ผนังด้านข้างทางขวามือจะเขียนภาพนับแต่ประสูติเรื่อยไป
ด้านหลังพระประธานจะเป็นเรื่องราวไตรภูมิ ซึ่งก็คือสามโลก สวรรค์ มนุษย์ นรก บริเวณกรอบของหน้าต่างที่มีพื้นที่จะเขียนเรื่องทศชาติชาดก โดยเริ่มจากพระชาติแรกเป็นต้นไป แต่จากที่กล่าวบางที่อาจเลือกเขียนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งส่วนหนึ่งนี้บอกเล่าคุณค่าความงามของจิตรกรรมฝาผนัง
ขุมทรัพย์ความรู้ เป็นบันทึกของยุคสมัย ถ่ายทอดวัฒนธรรม ประเพณี สังคม เป็นภาษาภาพที่ทำให้เกิดความเข้าใจ.
“ได้เห็น เข้าใจ เข้าถึงง่ายขึ้น”