สยามรัฐ ฉบับวันที่ 7 ม.ค. 2565
“นวัตกรรมผ้าไม่ทอจากเส้นใยไผ่ ในผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ทางการแพทย์” แผนการวิจัย การสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่คุณค่าของสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) บนฐานทรัพยากรไผ่จังหวัดปราจีนบุรี ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้กรอบการวิจัย Local Enterpriseประจำปี2563และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี)
นำทีมการวิจัย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.วารุณี อริยวิริยะนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.สาคร ชลสาคร คณบดีคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์หัวหน้าโครงการวิจัยดร.ชนากานต์ เรืองณรงค์ และ ดร.รัฐ ชมภูพานผู้ร่วมวิจัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วารุณีอริยวิริยะนันท์ เผยว่า ไผ่ จัดเป็นพืชเศรษฐกิจท้องถิ่นที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ชุดโครงแผนการวิจัยการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่คุณค่าของสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) บนฐานทรัพยากรไผ่จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อต่อยอดศักยภาพของผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)กลุ่มผลิตภัณฑ์ไผ่ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Network Value Chain) ให้เกิดการจัดการห่วงโซ่คุณค่าใหม่ พัฒนากระบวนการผลิตของผลิตภัณฑ์และการบริการจากไผ่ให้เป็นสินค้าอัตลักษณ์ ได้มาตรฐาน และสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน และเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ OTOP และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนด้วยการใช้นวัตกรรมและพัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์ไผ่ที่เป็นทรัพยากรพื้นถิ่น
แผนงานนี้ประกอบด้วย โครงการวิจัยทั้งสิ้น5ชุดโครงการ (22 โครงการย่อย) โดย”นวัตกรรมผ้าไม่ทอจากเส้นใยไผ่ ในผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ทางการแพทย์” โครงการย่อยในชุดโครงการที่1นวัตกรรมจากขยะไผ่ การบูรณาการกระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วมระหว่าง บริษัท พิมธา จำกัด วิสาหกิจชุมชนและเกษตรตำบลโนนห้อม อำเภอเมืองจ.ปราจีนบุรี บริษัทก้องเกียรติเท็กไทล์ จำกัด และ มทร.ธัญบุรี เพื่อสร้างนวัตกรรม องค์ความรู้ที่เหมาะสม ในชุมชนให้เกิดเป็นห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็งและยั่งยืน
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาครชลสาคร เผยว่า นวัตกรรมผ้าไม่ทอจากเส้นใยไผ่ ในผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ทางการแพทย์ มุ่งเน้นนำเศษขยะจากบริษัทมาพัฒนาให้เกิดมูลค่าจากการทำชิ้นงานทำให้เหลือเศษไผ่จำนวนมาก แบ่งออกเป็น3ขนาด ขนาดA ลักษณะเป็นผง ขนาด B ลักษณะเป็นเส้นใยและสวยส่วนขนาด C ลักษณะเส้นใหญ่แข็งนำมาใช้ในงานสิ่งทอค่อนข้างยาก ส่วนขนาด A ทางอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้นำไปต่อยอด การผลิตบรรจุภัณฑ์ชนิดกลวงจากผงไผ่เหลือทิ้งซึ่งขนาดBมีลักษณะเหมาะกับงานทางด้านสิ่งทอ เมื่อได้ขนาดที่ต้องการได้ร่วมมือกับทางบริษัทในการพัฒนาเครื่องแยกโดยได้รับความร่วมมือกับทางชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเครื่องแยกเส้นใยไผ่
เมื่อได้เส้นใยดังกล่าวนำมาหมักด้วยน้ำและเอนไซม์ โดยศึกษาระยะเวลาเส้นใยที่เหมาะสมทำการศึกษาระยะเวลา 2วั น 4 วัน 6 วัน และ 10 วัน ผลจากการศึกษาพบว่าระยะเวลา 10 วัน ได้เส้นใยมีลักษณะที่สวยและนุ่มที่สุด จากนั้นนำเส้นใยมาศึกษาคุณสมบัติการต้านแบคทีเรีย ตามมาตรฐาน AACC ปรากฏว่าเส้นใยที่ผ่านการหมัก 10 วัน มีคุณสมบัติต้านแบคทีเรียได้ 99% ซึ่งตรงกับงานวิจัยของหลายๆ ท่านที่ได้กล่าวไว้ ใยไผ่สามารถต้านแบคทีเรียได้
ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว ผศ.ดร.สาครจึงมุ่งเน้นงานวิจัยมาทางด้านการแพทย์ ได้ร่วมมือทางบริษัท พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยนำผ้าไม่ทอจากเส้นใยไผ่มาอัดขึ้นรูปเป็นแผ่น จำนวน2ขนาด คือ ขนาดความบาง1เซนติเมตร และ 2.5 เซนติเมตร นำมาออกแบบ “ผ้ารองนอนให้กับผู้สูงอายุ” โดยผ้ารองนอนทำหน้าที่บุรองจากผ้าปูที่นอนอีกชั้นหนึ่ง ในผู้สูงอายุที่มีอายุมากหรือผู้ป่วยติดเตียง ลดการติดเชื้อและลดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ในส่วนของกลิ่นปัสสาวะหรือกลิ่นจากแผลกดทับ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ลดความเสี่ยงในผู้สูงอายุ ได้นำผ้ารองนอนให้กับผู้สูงอายุทดสอบในแล็บ จากการทดสอบดังกล่าวสามารถใช้งานจริง ขณะนี้ทาง มทร.ธัญบุรี ได้จดอนุสิทธิบัตร และนักศึกษาปริญญาโท คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์กำลังต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ โดยมุ่งเน้นมาใช้ทางด้านการแพทย์
ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี โทร.0-2549-3161