สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ความสุขประชาชน คือความรับผิดชอบราชวงศ์จักรี
“เมื่อคนเขายกย่องนับถือให้เป็นประมุขเท่าไร เราต้องรู้สึกว่าเราต้องทำงานให้หนักกว่าทุกคน ต้องมีความรับผิดชอบ มีความเสียสละ ข้อสำคัญเป็นคนดีให้รู้จักเสียสละ ยิ่งเกิดมาในตำแหน่งลูกของประมุขแล้ว ก็ยิ่งต้องเสียสละมากขึ้น ต้องทั้งเรียนและต้องทั้งทำงานไปด้วย และก็ต้องพยายามทำให้ดี…”
ในฐานะสมเด็จแม่ “สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง” มิเพียงแต่จะเป็นแม่ที่ห่วงใย และเอาพระทัยใส่ในการเลี้ยงดูพระราชโอรสและพระราชธิดาอย่างดี ยังทรงเป็นแบบอย่างอันประเสริฐยิ่งในเรื่องความเสียสละ และการทุ่มเทพระองค์เพื่อทำงานให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ทรงเน้นย้ำกับพระราชโอรสและพระราชธิดามาตลอดถึงหน้าที่ความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ในฐานะพระราชวงศ์ไทย
“สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง” มักจะรับสั่งกับพระราชโอรสและพระราชธิดาเสมอว่า ความสุขของแม่จะไม่มีสิ่งใดยิ่งใหญ่ไปกว่าการที่ได้เห็นลูก ๆ มีความผูกพันรักใคร่กัน ช่วยเหลือกันและเป็นกำลังสำคัญของพระราชวงศ์ ในการที่จะรับใช้บ้านเมือง เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” ทรงเป็นที่รักของทุกคนในครอบครัวตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงโรแมนติก มีความละเอียดอ่อนกับความรักความอบอุ่นในครอบครัวมาก ขณะเดียวกัน ก็ทรงแสดงออกถึงความรักความผูกพันและความกตัญญูที่มีต่อ “สมเด็จแม่” มาตลอด โดยหลายครั้งปรากฏในรูปแบบของบทพระราชนิพนธ์อันลึกซึ้งกินใจ
ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง” ทรงเป็นแม่ผู้ประเสริฐยิ่ง อีกทั้งยังทรงเป็นมิ่งขวัญแรงใจของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ พร้อมเคียงบ่าเคียงไหล่เป็นกำลังสำคัญของราชวงศ์จักรีในการรับใช้ประชาชนและชาติบ้านเมือง
“ข้าพเจ้าโชคดีที่ได้มีโอกาสตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ทรงเยี่ยมราษฎรทั่วประเทศมานานหลายปี ได้แลเห็นพระวิริยะอุตสาหะและพระราชศรัทธา ที่จะทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน ทั้งยังทรงสอนเรื่องการทำงานให้แก่ข้าพเจ้าด้วย ทำให้ข้าพเจ้าซาบซึ้งในพระราชปณิธาน และได้ตั้งใจปฏิบัติงานที่ทรงมอบหมายมาอย่างสุดความสามารถ คืองานด้านสังคมสงเคราะห์ต่าง ๆ ได้แก่ การช่วยเหลือประชาชนที่เจ็บไข้ได้ป่วย ช่วยเหลือทางด้านสวัสดิการครอบครัว และส่งเสริมอาชีพทางด้านหัตถกรรม เพราะงานเพื่อประชาชนทั้งหลายมีความสำคัญเสมอกัน ย่อมต้องปฏิบัติไปพร้อม ๆ กัน จะละเว้นทางหนึ่งทางใดเสียมิได้…”
พระราชดำรัสดังกล่าว ที่พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯถวายพระพรชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๐ คงพอสะท้อนได้ดีถึงความแน่วแน่พระราชหฤทัยในการอุทิศพระองค์เพื่อรับใช้ประชาชน
โดยมรดกสำคัญที่ทรงมอบไว้เพื่อส่งเสริมอาชีพ, รายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนคนไทย ต้องยกให้ “ศิลปาชีพ” ศิลปะเพื่อชีวิตและการธำรงไว้ซึ่งมรดกแห่งแผ่นดิน “หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและฟาร์มตัวอย่าง” แนวพระราชดำริสำคัญในการสร้างอาชีพและแหล่งอาหาร ตลอดจน “ธนาคารอาหารชุมชน” แหล่งสะสมอาหารตามธรรมชาติ ซึ่งแสดงถึงพระราชวิสัยทัศน์อันยาวไกล
ขณะที่หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ได้จัดตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกที่บ้านดงยอ ตำบลพังขว้าง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร โดยสร้างบ้านพักเกษตรกร ๒๐ หลัง และจัดแบ่งที่ดินเพื่อทำการเกษตรครอบครัวละ ๒ ไร่ รวมทั้งจัดสร้างระบบสาธารณูปโภคให้แก่ราษฎรในโครงการ โดยมีวัตถุประสงค์ใช้ที่ดินที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อช่วยเหลือให้ราษฎรได้มีงานทำ กลายเป็นหมู่บ้านตัวอย่างที่ทำการเกษตรแบบปลอดสารพิษ โดยไม่ใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง อีกทั้งยังรณรงค์ให้ราษฎรรู้จักการปลูกป่าชุมชน ฟื้นฟูสภาพป่าให้มีผืนป่าเพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องทำลายป่าไม้ของชุมชน ภายหลังได้มีการขยายโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและฟาร์มตัวอย่าง ไปสู่พื้นที่ ๓ จังหวัดภาคใต้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจากเหตุการณ์ไม่สงบ ถือเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้ประชาชนชาวไทยทั่วทุกถิ่น ได้มีความหวังและพลังแรงใจในการดำเนินชีวิตต่อไปนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ต่อปวงชนชาวไทย ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน