กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563
จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยต้องถดถอยอยู่ในขณะนี้ ทีมนักวิจัยเชื่อว่าหากประเทศต้องการพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตใหม่ได้อีกครั้ง จำเป็นต้อง Disrupt งานที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดขึ้น เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค จำเป็นที่จะต้องมองเทคโนโลยีให้ก้าวล้ำไปข้างหน้าที่เป็นอนาคต
เช่น การทำไมโครกริดอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีบ้านไร้เบรกเกอร์ เพื่อการจัดการภารกิจในชีวิตด้วยเครื่องมือสื่อสาร สร้างเสริมคุณภาพชีวิตของคนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึงเหมาะสมและปลอดภัย และต่อยอดด้วยการสนับสนุนให้เกิดงานวิจัยพัฒนาแอพในกลุ่ม Smart Cityได้หลากหลาย เป็นการนำทุนของประเทศที่มีศักยภาพมาใช้ประโยชน์อย่างบูรณาการและเกื้อกูลกัน สามารถสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศได้
รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษณ์ชนม์ ภูมิกิตติพิชญ์ รองอธิการบดี มทร.ธัญบุรี และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี เล่าถึงงานวิจัยชิ้นล่าสุด ‘การสร้างแพลตฟอร์มบ้านปราชญ์เปรื่องด้วยปัญญาประดิษฐ์’ ได้รับทุนวิจัยจากโครงการขอรับการส่งเสริม และสนับสนุนจากเงินกองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ
ในหัวข้อวิจัยเรื่อง “บ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0 ปฏิวัติอุตสาหกรรมการใช้ไฟฟ้าและการป้องกันภัย” ผ่านการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในองค์กรของรัฐคือการให้การส่งเสริมการปรับปรุงบ้านด้วยตู้รวมไฟฟ้าดิจิทัล หากทำด้วยการสนับสนุนเงินทุนจากภาครัฐ สร้างงานให้กับประเทศมากกว่า 60,000 ตำแหน่ง
จากการประเมินความสามารถในการทำงานต่อวันได้ 3 หลังคาเรือนต่อช่างไฟฟ้า 1 ทีม 3 คน ด้วยปริมาณที่อยู่อาศัยที่มีอยู่ 20 ล้านหลังคาเรือน ไม่เพียงแต่ประเทศจะมีเทคโนโลยีการป้องกันไฟฟ้าที่จะพลิกรูปแบบการป้องกันและจัดการไฟฟ้าเหมือนเทคโนโลยีมือถือที่พลิกชีวิตการใช้โทรศัพท์แล้ว ยังส่งผลให้เยาวชนและสถาบันการศึกษา เกิดการพัฒนาแอพตามจินตนาการใหม่ๆ เพื่อตอบสนองตลาดในภูมิภาคบน Home Store กระตุ้นให้เกิดการคิดค้น Sensor ใหม่ๆ เพื่อสนองตอบคุณภาพชีวิตใหม่ๆ เกิดองค์ความรู้ใหม่
เกิดหลักสูตรใหม่ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาบุคลากร เปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้าไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น พัฒนาทักษะให้คนมีการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต ต่อยอดสู่การสร้างนวัตกรรมที่ เกิดจากการฝึกฝนเป็นความคิดสร้างสรรค์ จากระบบนิเวศน์ของ “Self-Thinking Home” บน HoME@Cloud Platform ที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาและประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำรงชีวิตทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจและสังคม
การสร้างแพลตฟอร์มบ้านปราชญ์เปรื่องด้วยปัญญาประดิษฐ์เป็นนวัตกรรมที่หลอมรวมศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและศาสตร์ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Electrical and ICT Convergence) ด้วยการจัดการไฟฟ้าภายในบ้านด้วยสมองกลแทนตู้รวมไฟฟ้าแบบเก่า เป็นแพลตฟอร์ม HoME@Cloud ที่มีตู้รวมไฟฟ้าดิจิทัลของเทคโนโลยี บ้านไร้เบรกเกอร์
พร้อมด้วยความสามารถเป็น Gateway เชื่อมโยงข้อมูลจาก เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านไปเก็บไว้บน Cloud และมี Application แบบ Cross Platform ที่ให้ผู้ใช้สามารถบริหารจัดการเครื่อง อำนวยความสะดวกต่างๆ ในบ้านได้ผ่านมือถือหรือ Web Application รวมทั้งยังมี API เพื่อให้นักนวัตกรไทยรุ่นใหม่ (New Talent Innovator) สามารถใช้จินตนาการสร้างบริการใหม่ๆ ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ระบบ บ้านไร้เบรกเกอร์นี้
รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษณ์ชนม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบ HoME@Cloud Platform ของบ้านไร้เบรกเกอร์ เป็นการพัฒนาที่สอดคล้องกับแนวทางของ DEPA ที่กำลังขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะอยู่ในขณะนี้ เพียงผู้ใช้ไฟฟ้าทุกบ้านในเขตที่กำหนดติดตั้งระบบบ้านไร้เบรกเกอร์นี้ ทำให้พื้นที่นั้นสามารถพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะได้ทันที ซึ่งในโครงการนี้จะนำมาใช้ในพื้นที่เมืองอัจฉริยะมหาไถ่เป็น Platform เมืองที่คาดว่าจะทดลองใช้กับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 50 หลังคาเรือนภายในสิ้นปี 2563