กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
พิมพ์พัดชา กาคำ
ธนาชัย ประมาณพาณิชย์
จังหวัดปทุมธานีมีดอกบัวหลวงเป็นสัญลักษณ์ ปัจจุบันนี้ยังเห็นดอกบัวบานดาษดื่นทั่วทั้งจังหวัด อีกทั้งยังเป็นแหล่งปลูกกล้วยหอมและกล้วยน้ำว้าขนาดใหญ่ เป็นที่มาของสินค้า โอท็อปประจำจังหวัด “ผ้าไทย” ที่ถักทอจาก “ใยกล้วย” แล้วย้อมด้วยสีจากใบ “บัวหลวง” บุญนภา บัวหลวง ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านแสงตะวัน ประธานเครือข่ายโอท็อปจังหวัดปทุมธานี มีความรู้เรื่องเสื้อผ้าเนื่องจากเรียนจบจากสถาบันรพี และเรียนดีไซน์จากสมาคมฝรั่งเศส กล่าวถึงสินค้าจากใยกล้วยว่า
“สินค้าเราจะมีทั้งเสื้อผ้า ชุดเดรส เสื้อสูท กางเกง กระเป๋า หมวก จานรอง ฝากระเป๋า เบาะรองนั่ง เบาะหุ้มโซฟา ฯลฯ มีทั้งย้อมจากสีธรรมชาติ และสีเคมี คุณสมบัติของใยกล้วยจะมีความเหนียวทนทานเป็นพิเศษ เท็กซ์เจอร์ผ้าจะมีความ ต่างจากผ้าปกติ ยังไงก็ตามเส้นใยกล้วยต้องทอผสมผสานกับเส้นใยอื่นเพื่อจะได้เนื้อผ้าที่อ่อนนุ่มแล้วได้ความเหนียวทนทานจากใยกล้วย สมัยก่อนที่ยังไม่ได้มีการวิจัยพัฒนาก็จะเอาใยกล้วยมาร้อยทำเสื่อ พื้นผิวก็จะมีความหยาบ ส่วนผ้าที่ออกมาเป็นสีน้ำตาลอ่อนอมชมพูนิดๆ เราย้อมด้วยใบของบัวหลวง อาจารย์ที่ราชมงคลเขาก็จะมาสอนวิธีย้อมสีจากธรรมชาติจากใบบัวหลวงดอกไม้ประจำจังหวัดปทุมธานี ท่านผู้ว่าฯ ก็ให้ชื่อว่าเป็นผ้าใยกล้วยบัวหลวง”
ผศ.ดร.สาคร ชลสาคร คณบดีคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) กล่าวว่า งานวิจัยได้รับการสนับสนุนโดยบริษัท One Banana คลอง 7 ผู้ส่งออก กล้วยรายใหญ่ช่วยขนต้นกล้วยนับ 1,000 กิโลกรัมไปสนับสนุนงานวิจัยถึงในมหาวิทยาลัย
“เรานำใยกล้วยน้ำว้า และกล้วยหอมทองมาวิจัยเมื่อปี 2561 สาเหตุที่มาวิจัย เพื่อตอบโจทย์ทางจังหวัด ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีปลูกกล้วยส่งออกเยอะ อย่างกล้วยที่ขายในเซเว่นก็มาจากจังหวัดปทุม เรามีพื้นที่ปลูกกล้วยทั้งหมดประมาณ 3 หมื่นไร่ ก็เลยคิดว่าจะนำวัสดุเหลือใช้ก็คือต้นกล้วยมาทำประโยชน์อะไรได้บ้าง ทางด้านสิ่งทอ ต้นกล้วยเป็นพื้นที่ให้เส้นใยอยู่แล้วเราก็เลยเอากล้วยทั้งสองชนิดมาวิจัยผลปรากฏว่าเส้นใยของกล้วยน้ำว้ามีความเหนียว มันแวววาวกว่า เราก็เลยนำเส้นใยของกล้วยน้ำว้ามาพัฒนาต่อยอด กาบชั้นในจะมีขนาดเล็กอ่อนนุ่มกว่าก็จะนำมาถักทอเป็นเส้นใยสำหรับเสื้อผ้า ส่วนกาบชั้นนอกมีขนาดโตเส้นใยจะหยาบกว่าเราก็เอามา ถักทอเป็นเสื่อ จานรอง พอเราทำงานวิจัยออกมาสำเร็จก็ส่งมอบให้กับทางจังหวัดปทุมธานี คุณเก๋ในนามตัวแทนกลุ่มแม่บ้านก็มารับมอบสานต่อนำไปผลิตเป็นสินค้า ท่านผู้ว่าฯก็เลยให้ผ้าทอใยกล้วยบัวหลวงเป็นผ้าประจำจังหวัด”
เก๋-บุญนภามีประสบการณ์ด้านงานผ้า เคยมีความคิดว่าหากทอผ้าใช้เองโดยไม่ต้องสั่งผ้าในท้องตลาดก็จะสร้างรายได้ให้กับชุมชนและรังสรรค์งานได้อย่างอิสระเสรี
“ทางอาจารย์สาครให้เส้นใยกับทางกลุ่มแล้วมาสอนแยกเส้นใย แล้วเราก็ย้อมด้วยสีธรรมชาติ นอกจากสีจากใบบัวหลวงแล้วยังมีสีจากครั่ง ฝาง ดอกดาวเรืองให้สีเหลือง ใบสักให้สีม่วง ใบขนุนให้สีเขียว แต่จะเป็นแบบเอิร์ธโทน ถ้าลูกค้าต้องการสีสดใสเราก็จะใช้สีเคมี ตอนนี้สินค้าเรามีเสื้อผ้า หมวกกระเป๋า กำลังจะผลิตรองเท้า ที่สำคัญเราให้ลูกค้าออกแบบเองได้
เช่นเรามีลายผ้าหลากหลายที่ขึ้นไว้แล้ว พอลูกค้าเห็นแล้วชอบลายนี้ ต้องการลายนั้นไปไว้ตรงโน้น ก็สามารถออกแบบให้เราจะทอผ้าออกมาเป็น ผืนใหม่โดยไม่มีการตัดต่อ สามารถสั่งสีสั่งลายได้ ในผ้า 1 เมตร อยากได้ลายนี้ 70 ซม. ต่อด้วยลายนี้ 10 ซม. ลายนั้น 5 ซม.เราก็ทำให้ได้ คนใส่ก็จะภาคภูมิใจเพราะได้ออกแบบเอง จุดประสงค์ของเราก็คืออยากให้อนุรักษ์ความเป็นผ้าไทยเอาไว้ แต่มีความทันสมัยเหมาะกับคนทุกรุ่น สามารถออกแบบตามที่ตัวเองชอบได้ ใส่ไปทำงาน หรือใส่ไปไหนก็ได้ไม่ล้าสมัย และภูมิใจได้ว่านี่คือ ผ้าไทย”
ประธานกลุ่มแม่บ้านกล่าวอย่างอารมณ์ดีว่า ต้องการให้ผลงานของกลุ่มแม่บ้านชื่อดังไปไกลไม่แพ้แบรนด์ใด ในโลก “แอบหวังเล็กๆ ว่าจะเป็นชาเนลเมืองไทย”
“เส้นใยธรรมชาติที่อาจารย์วิจัยไว้มีเยอะมากเราก็อยากจะเอามาใช้ผสมผสานกับใยกล้วยเพื่อให้ได้เนื้อผ้าที่มีเท็กซ์เจอร์ อื่นๆ เพิ่มขึ้น ตอนนี้เราทำเส้นใยกล้วยผสมฝ้าย ยังมีเส้นใยกัญชง เส้นใยไหม เส้นใยผักตบชวา ฯลฯ เอามารวมกันก็จะ ได้เท็กซ์เจอร์ใหม่ๆ ถ้าสังเกตดูของชาเนลเขาจะเอามารวมกันหลายๆ แบบ ทอในผืนเดียวกัน เราก็อยากรวมเส้นใยธรรมชาติของเราแล้วให้เกิดเทคเจอร์แบบนั้น ออกแบบเป็นชุดเก๋ๆ เรามีแบรนด์เสื้อผ้า พิมพ์ตะวัน ท่านพาณิชย์จังหวัดเป็นคนตั้งชื่อให้”
อีกอย่างเธอเห็นลูกสาวขึ้นเวทีแฟชั่น โชว์ สวมใส่ชุดผ้าขาวม้าที่เธอตัดเย็บเอง ดูแล้วมีเสน่ห์ สวยงาม แทบไม่อยากจะเชื่อว่ามาจากผ้าขาวม้าผืนละ 100 บาท เป็นแรงบันดาลใจให้เธอไปเรียนทอผ้า จังหวะดีที่ได้เส้นใยพิเศษจากงานวิจัยพอดี ส่วนการถักทอต้องใช้ใยกล้วย 40 เปอร์เซ็นต์ บวกกับเส้นใยอื่น 60 เปอร์เซ็นต์เพื่อความอ่อนนุ่มใส่สบาย เธอสนุกกับการออกแบบลายผ้าที่ได้อย่างใจนึก
ถือว่าเป็นอีกชุมชนตัวอย่างที่มีความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันทุกฝ่ายทั้ง ภาครัฐและเอกชน โดยมีสถานที่คือ “วัดไก่เตี้ย” เป็นศูนย์รวมในการฝึกอาชีพตั้งแต่ ปี 2548 มีอาหารการเกษตรแปรรูป กล้วย ส้ม ข้าวหลาม ทองม้วน อาหาร โอท็อป (รุ่นคุณแม่ของเก๋) ส่วนเก๋มาสานต่อแล้วทำเรื่อง กระดาษจากฟางข้าว (ไม่ต้องเผาทิ้งให้เป็นมลพิษทางอากาศ)ดอกไม้จันทน์ฟางข้าว (โครงการจาก มหาวิทยาลัยฯ) ล่าสุดเป็นผ้าใยกล้วย บัวหลวงดังกล่าว
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้าน แสงตะวัน เครือข่ายโอท็อปจังหวัดปทุมธานี โทร. 09 4438 6587
Template file :: download-button does not exist!
20200729-OTOP@Pathumthani
20200729-OTOP@Pathumthani