แนวหน้า ฉบับวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
เรื่องของ “งานวิจัยและนวัตกรรม” นั้น ถือเป็น ส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญในการพัฒนาประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ก็ได้มีผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ดี มีประโยชน์ต่อชีวิตของผู้คนเกิดขึ้นมามากมาย
สำหรับงานใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วัน ข้างหน้านี้คือ มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 (Thailand Research Expo 2020) ครั้งที่ 15 ภายใต้แนวคิด “วิจัย เพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 สิงหาคม 2563 เวลา 09.00-18.00 น. ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับหน่วยงาน เครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ โดยในปีนี้จัดงานแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมจำนวนกว่า 300 ผลงาน ในรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ “นิว นอร์มอล” อันเป็นผลมาจาก การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการ วิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงงานนี้ว่า เป็นเวทีระดับชาติที่นำเสนอ ผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เน้นการเชื่อมโยงบูรณาการองค์ความรู้สู่การใช้ประโยชน์ ในการพัฒนาประเทศ ในมิติเชิงวิชาการ นโยบาย สังคม/ชุมชน และพาณิชย์/อุตสาหกรรม แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มงานวิจัย ได้แก่ งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ เพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน เพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ และเพื่อ ขับเคลื่อน BCG Economy Model ในปีนี้ ได้รับ พระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนิน ทรงเป็นประธานเปิดงาน ในวันที่ 4 สิงหาคม เวลา 10.00 น.
ภายในงาน ประกอบด้วย ภาคนิทรรศการ ได้แก่ นิทรรศการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็น “พระบิดา แห่งการวิจัยไทย” และเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จ พระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระมหากรุณาธิคุณต่องาน วิจัยไทย พร้อมด้วยนิทรรศการผลงานวิจัยและนวัตกรรมจากหน่วยงานในระบบวิจัยทั่วประเทศ นิทรรศการนวัตกรรมตอบโจทย์โรคอุบัติใหม่ นิทรรศการชุมชนเข้มแข็งด้วยวิจัยและนวัตกรรม และนิทรรศการผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา
ส่วนภาคการประชุมและสัมมนามีมากกว่า 100 เรื่อง กิจกรรม Research Clinic เป็นการให้คำปรึกษาในเรื่อง ของการวิจัย และ เปิดตัว “ทูตวิจัย” คนแรกของประเทศไทย ประจำปี 2563 “อั้ม-อธิชาติ ชุมนานนท์” ดาราหนุ่มชื่อดังอีกด้วย
ในปีนี้มีงานวิจัยที่น่าสนใจกว่า 300 ผลงานอาทิ การพัฒนาชุด PPE Coverall รุ่น “เราชนะ” สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในการป้องกันขณะเผชิญไวรัสโควิด-19 เจลพอกหน้า สารสกัดจาก ข้าวหอมมะลิแดง หุ่นยนต์เก็บขยะจากผิวน้ำ การออกแบบ บรรจุภัณฑ์น้ำผึ้ง การแก้ปัญหาช้างป่าในประเทศไทย โครงการเภสัชอาสาพาชุมชนยั่งยืน อาหารและเครื่องดื่ม หมักจากข้าวมอลต์แดง เป็นต้น
ยกตัวอย่างหนึ่งในผลงานเด่นที่ออกมาทันสถานการณ์ปัจจุบัน นั่นคือ นวัตกรรมเครื่องตรวจหา เชื้อโควิด-19 โดย ศ.ดร.โกสุม จันทร์ศิริ ผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการวิจัยด้านไบโอเซนเตอร์และภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ที่เปิดเผยว่าหลังเกิดการ ระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อต้นปี ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ ในการคิดผลิตชุดทดสอบคัดกรองผู้ป่วย ว่าจะทำอย่างไร ให้เกิดความรวดเร็ว โดยใช้หลักการในการตรวจเบื้องต้น ซึ่งใช้เวลาไม่นานประมาณ 1-2 ชั่วโมง ก็จะสามารถ รู้ผลทันทีและสามารถที่จะกระทำได้ทั้งในห้องแล็บปฏิบัติการและในพื้นที่มีเครื่องมือที่มีราคาแพง
ศ.ดร.โกสุมกล่าวว่า หลักการคือต้องเป็นวิธีทดสอบง่ายๆ และไม่ใช้เครื่องมือที่มีราคาแพง วิธีการ คือว่าเมื่อได้ตัวอย่างมาแล้ว ก็สกัดสารพันธุกรรมออกมา จากนั้นก็ทำการเพิ่มจำนวนพันธุกรรมโดยเพิ่มอุณหภูมิเดียว โดยออกแบบให้ตรวจจับเฉพาะไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นชิ้นส่วนพันธุกรรมที่จำเพาะ หลังจากนั้นเมื่อมันทำปฏิกิริยากันแล้วประมาณ 60 นาที เราก็เอาสารละลายผสมอันนี้หยดลงบนแผ่นสตริป ที่มีลักษณะเดียวกันกับชุดตรวจการตั้งครรภ์ แล้วก็สามารถอ่านผลได้ทันทีว่าเป็นบวกหรือลบ ถ้าอ่านได้แถบเดียวจะเป็นผลเนกาทีฟหรือเป็นลบ แต่ถ้าอยากทราบว่าในแถบอันนั้นมีปริมาณไวรัสเท่าไหร่ สามารถใช้กล้องถ่ายรูปผ่านแอพพลิเคชั่น บนมือถือในระบบแอนดรอยด์สามารถถ่ายรูปบนแผ่นสตริปที่เราได้ออกแบบไว้เทียบเคียงมาตรฐานที่ทำไว้แล้วก็สามารถที่จะแปลงออกมาได้ว่ามีปริมาณไวรัสที่อยู่ในนั้นเท่าไหร่การทดสอบนี้ใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นอยู่ในหลักร้อยเท่านั้น ขณะนี้อยู่ในการพัฒนาเฟสที่ 2
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ผ้าใยกล้วยบัวหลวง ผ้าประจำ จ.ปทุมธานี โดย ผศ.ดร.สาคร ชลสาคร และคณะนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เปิดเผยถึงผลงานชิ้นนี้ว่า ได้นำต้นกล้วย ที่เหลือจากการเก็บผลผลิตทางการเกษตรของ จ.ปทุมธานี มาเพิ่มมูลค่า พบว่าเส้นใยจากกล้วยเมื่อผ่านกระบวนการ วิจัยคิดค้นด้วยนวัตกรรม ทำให้เกิดเส้นใยที่มีความเหนียว และนุ่ม ปั่นเป็นเส้นด้ายและนำมาทอเป็นผืนผ้าได้ ซึ่งเส้นใยกล้วยที่รับซื้อจากชาวบ้านมีราคาเพียงกิโลกรัมละ 500 บาท เมื่อนำมาปั่นเป็นเส้นด้ายกล้วย ทำให้มีราคาสูงถึง 1,400 บาท
เครื่องสูบน้ำพลังเซลล์แสงอาทิตย์กู้วิกฤติน้ำ ชุมชน เพื่อแก้ปัญหาเรื่อง “น้ำ” ให้เกษตรกรที่อยู่ห่างไกล ระบบสายส่งกำลังไฟฟ้าและเขตชลประทาน คิดค้นโดย รศ.ดร.ทศวรรษ สีตะวัน และคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย ราชภัฏสกลนคร ปริมาณการสูบน้ำได้สูงสุด 2,500 ลิตร ต่อชั่วโมง สูบน้ำใต้ดินได้ลึก 10 เมตร ส่งน้ำในแนวราบได้ 300 เมตร เกษตรกรสามารถดูแล บำรุงรักษาได้เอง
ผลงานจากฟางข้าวสู่ผลิตภัณฑ์ย่อยสลายผลงานของ อ.เกวรินทร์ พันทวี อาจารย์สาขาวิชาศิลปกรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ร่วมกับ อ.วีระนุช สระแก้ว จากสาชาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย ราชภัฏจันทรเกษม มุ่งแก้ปัญหาด้านมลพิษ จากการเผาฟางข้าวหลังการเก็บเกี่ยว โดยมีการแปรรูปฟางข้าวให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ กระถางปลูกต้นไม้ ที่รองแก้ว ที่วางสบู่ ฯลฯ
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานต่างๆ ใน มหกรรม งานวิจัยแห่งชาติ 2563 เท่านั้น ผู้ที่มีความประสงค์เข้าร่วมงานต้องลงทะเบียนร่วมงานล่วงหน้าทางเว็บไซต์ เท่านั้น ที่ www.researchexpo.nrct.go.th และ www.nrct.go.th ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 กรกฎาคมนี้ และ ไม่อนุญาตให้เข้าชมงานแบบ Walk In ทุกกรณี สำหรับ ผู้ที่พลาดการลงทะเบียน ติดตามชมงานและร่วมประชุม- สัมมนาออนไลน์ได้ทุกหัวข้อ ที่เว็บไซต์ข้างต้นสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0-2561-2445 ต่อ 515-519
เข้าไปติดตามชมกันได้เลย แล้วจะรู้ว่า คนไทยเราก็มีดีไม่แพ้ชาติใดในโลกเหมือนกัน
Template file :: download-button does not exist!
20200729-Thailand Research Expo 2020