ไทยรัฐ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
ด้วยแต่ละวันกระดูกไก่จากอุตสาหกรรม และร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดเหลือทิ้งมากมาย นายศุภศิษฐ์ สีลา นายคุณานนต์ แซ่บ้าง นายจิรายุส ยีสมัน และนายนภัสรพี แสงสว่าง นักศึกษาภาควิศวกรรมโยธาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ธัญบุรี จึงมีแนวคิดที่จะนำกระดูกไก่มาผสมลงในคอนกรีตเพื่อเพิ่มมูลค่าแก้ปัญหากระดูกไก่ที่เหลือทิ้งมาสร้างมูลค่าและพัฒนาคุณสมบัติของคอนกรีต
โดยออกแบบส่วนผสมกระดูกไก่บดในคอนกรีตแล้วนำมาขึ้นรูปเป็นลูกบาศก์ขนาด 15x15x15 ซม.ก่อนจะทำการทดสอบคุณสมบัติ ทั้งทางกายภาพและทางกลวิธานเพื่อเปรียบเทียบกับคอนกรีตทั่วไปตามมาตรฐาน ASTM และ BSI พบว่าใช้ทดแทนทรายได้เป็นอย่างดี
ว่าที่ร้อยเอก ดร.กิตติพงษ์ สุวีโร อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการฯ เผยว่าผลการวิเคราะห์หาส่วนขนาดคละของมวลรวม กระดูกไก่บดมีค่าโมดูลัสความละเอียดใกล้เคียงกับทราย สามารถผ่านข้อกำหนดของกรมทางหลวง และคอนกรีตจะมีค่าการยุบตัวที่น้อยลงเมื่อปริมาณของกระดูกไก่ปนเป้อนสารฟลูออไรด์มากขึ้น
“ส่วนผลการทดสอบระยะเวลาการก่อตัวของซีเมนต์เพสต์ พบว่า ภายในกระดูกไก่มีส่วนผสมของสารฟลูออไรด์อยู่มากก็จะส่งผลให้ระยะเวลาก่อตัวของซีเมนต์เพสต์ใช้เวลาน้อยลง ในขณะที่อุณหภูมิจากปฏิกิริยาไฮเดรชันเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ดร.กิตติพงษ์ อธิบายเพิ่มเติมว่านอกจากนี้ การที่กระดูกไก่มีช่องว่างในการดูดซึมสารฟลูออไรด์มาก จะทำให้คอนกรีตที่ได้มีค่าน้ำหนักต่อก้อนและความต้านทานแรงอัดลดลง รวมทั้งมีการดูดซึมน้ำที่เพิ่มขึ้นบ้างสามารถนำไปใช้แทนทรายในการออกแบบและใช้งานได้เช่นเดียวกับคอนกรีตทั่วไป ทั้งยังเหมาะสำหรับใช้ในงานที่มีความต้องการเร่งการก่อตัวของคอนกรีตให้เร็วมากขึ้น.