ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 07 มิถุนายน พ.ศ. 2563
นายว้าก/รายงาน
“ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019” หรือ “โควิด-19”
โรคติดเชื้อไวรัสที่คร่าชีวิตประชากรในประเทศต่างๆทั่วโลกไปแล้วหลายแสนคนและยังมีผู้เจ็บป่วยสะสมอีกมากมายหลายล้านคน
ผู้คนในทุกสาขาอาชีพต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสตัวนี้ ไม่เว้นแม้กระทั่งในแวดวงการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่ต้องออกไปเรียนและฝึกงานสหกิจศึกษายังต่างประเทศในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี หรือลูก “บัวสวรรค์” เป็นอีกหนึ่งในหลายๆมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย อีกทั้งมีนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเองออกไปเรียนและฝึกงานสหกิจศึกษายังต่างประเทศแม้จะเป็นช่วงปิดภาคเรียน แต่จากวิกฤติเช่นนี้จึงไม่สะดวกนักที่จะเดินทางกลับประเทศไทย
ในสถานการณ์ที่ยากลำบากแบบนี้ มทร.ธัญบุรี มีมาตรการป้องกันและดูแลลูกศิษย์และนักศึกษาที่อยู่ต่างบ้านต่างเมืองกันอย่างไร “นายว้าก” ไม่พลาดที่จะไปถามไถ่ ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดี มทร.ธัญบุรี สาธยายว่า “ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มหาวิทยาลัยเป็นห่วงลูกศิษย์และบุคลากรเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะลูกศิษย์ที่ต้องออกไปเรียนและฝึกงานสหกิจศึกษายังต่างประเทศ จะทำอะไรก็คงยากลำบากเพราะอยู่ต่างบ้านต่างเมืองขณะเดียวกันเราก็มีลูกศิษย์ที่เป็นชาวต่างชาติที่มาเรียนในมหาวิทยาลัย รวมถึงลูกศิษย์คนไทยที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยที่ได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน จึงต้องหาทางช่วยเหลือ ดูแลกันอย่างเต็มที่ โดยมุ่งเน้นให้ทุกคนมีความปลอดภัย มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีที่สุดเท่าที่มหาวิทยาลัยจะทำได้ ทั้งการสนับสนุนการหารายได้พิเศษระหว่างเรียน จัดตั้งศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือนักศึกษา มทร.ธัญบุรี ที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งการให้บริการข้าวกล่อง ตั้งตู้ปันสุข ให้นักศึกษาได้รับประทาน มีการลดค่าน้ำ ค่าไฟ ห้าสิบเปอร์เซ็นต์ให้กับนักศึกษาที่อาศัยอยู่ในหอพักในและติดต่อประสานงานให้นักศึกษาที่อยู่ต่างประเทศได้เดินทางกลับโดยเร็วที่สุด แต่ในระหว่างที่ยังเดินทางกลับมาไม่ได้ก็ได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ทำให้นักศึกษาไม่เครียด และไม่คิดว่าถูกทอดทิ้ง”
มาฟังเสียงของบรรดาวัยโจ๋ชาวกัมพูชาที่เข้ามาเรียนใน มทร.ธัญบุรี กันบ้างเริ่มที่ “เต้ย” Puthvathna Chourn ปี 2 สาขาวิศวกรรมโยธาค ณะวิศวกรรมศาสตร์ เล่าว่า “มหาวิทยาลัยได้จัดให้มีการเรียนแบบออนไลน์เพื่อความปลอดภัยช่วงซัมเมอร์จะอยู่ที่หอพักในมหาวิทยาลัยวันไหนที่ไม่มีเรียนจะเข้าร่วมโครงการทำงานพาร์ตไทม์ กับกองพัฒนานักศึกษา มีโอกาสทำงานโครงการจิตอาสาที่แปลงปลูกผัก ทำหน้าที่ตัดหญ้ารดน้ำผัก ซึ่งผักที่ได้นำไปปรุงอาหารของช่วงซัมเมอร์จะอยู่ที่หอพักในมหาวิทยาลัยวันไหนที่ไม่มีเรียนจะเข้าร่วมโครงการทำงานพาร์ตไทม์กับกองพัฒนานักศึกษามีโอกาสทำงานโครงการจิตอาสาที่แปลงปลูกผักทำหน้าที่ตัดหญ้ารดน้ำผักซึ่งผักที่ได้นำไปปรุงอาหารของครัวลูกบัวสวรรค์ และปรุงอาหารแจกนักศึกษา ที่ได้รับความเดือดร้อน ทั้งนี้ ผมได้ติดต่อกับพ่อแม่ที่กัมพูชาว่าไม่ต้องเป็นห่วง มหาวิทยาลัยดูแลและมีมาตรการที่ดี และฝากให้ทุกคนดูแลสุขภาพผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน”
ขณะที่ “ไม้” Mengleang Van เฟรชชี่หนุ่มสาขาออกแบบภายในคณะศิลปกรรมศาสตร์ บอกว่า “อาศัยอยู่ที่หอพักในมหาวิทยาลัยกับเพื่อนและรุ่นพี่ที่มาจากกัมพูชา ทุกวันจะเดินทางจากหอพักมาทำงานพาร์ตไทม์ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยจะช่วยกันทำหน้ากากอนามัย ซึ่งมหาวิทยาลัยนำไปบริจาคให้กับโรงพยาบาลส่วนใหญ่ไม่ได้ออกไปไหนเพราะว่า อยู่ในมหาวิทยาลัยจะค่อนข้างปลอดภัยเพราะมีมาตรการที่ดี ทั้งยังให้ความช่วยเหลือดูแลตลอดมีการทำอาหารแจกทุกวัน ไม่ใช่เพียงเด็กต่างชาติแต่นักศึกษาทุกคนที่ได้รับผลกระทบจะได้รับการดูแลหมด”
ขณะที่ 2 เฟรชชี่สาว “ตุ๊ก” Thida Lun สาขาการโรงแรม คณะศิลปศาสตร์ และ “ตาล” Daly Chan สาขาการจัดการโลจิสติกส์ คณะบริหารธุรกิจ ร่วมแชร์ประสบการณ์ว่า “เพื่อเป็นการป้องกันโควิค-19 จึงไม่ได้ออกนอกมหาวิทยาลัยกินข้าวกล่องที่มหาวิทยาลัยทำแจก อาหารอร่อย ปรุงสุกใหม่ๆ ปลอดภัยนอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัย โดยองค์การและสภานักศึกษายังตั้งตู้ราชมงคลปันสุข สามารถหยิบอาหารแห้งในตู้ปันสุข ไม่ต้องออกไปซื้อข้างนอก ตอนช่วงปิดเทอมต้องกลับบ้านแต่เทอมนี้ไม่ได้กลับบ้าน เพราะโควิค-19 ที่หอพักนักศึกษามีบริการอินเทอร์เน็ตไวไฟฟรี ทุกวันก็เลยวิดีโอคอลกลับบ้านทำให้หายคิดถึงบ้านได้พอสมควร”
ปิดท้ายที่นักศึกษาไทย “มะนาว “ณัฐกานต์ เซียงเจี่ย ปี 3 สาขาวิชาโรงแรม คณะศิลปศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ที่ออกไปฝึกงานสหกิจศึกษาที่ประเทศมาเลเซีย ส่งเสียงใสๆผ่านวิดีโอคอลมาร่วมแจมว่า “ช่วงเดือน ธ.ค.2562 ต้องออกฝึกงานสหกิจศึกษาที่ต่างประเทศ โดยเลือกที่เบอร์จายา ลังกา วีรีสอร์ท ประเทศมาเลเซีย ช่วงที่เริ่มฝึก สถานการณ์การระบาดยังไม่มาก แต่เมื่อเข้าฝึกได้ 3 เดือน มีการล็อกดาวน์ในประเทศรีสอร์ตปิดให้บริการ ทางมหาวิทยาลัย โดยท่านอธิการบดีและอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ได้ประสานไปยังท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล และเจ้าหน้าที่ช่วยประสานในการเดินทางกลับประเทศผ่านเรือมาลงที่ด่านจังหวัดสตูล และได้กักตัวเป็นเวลา 14 วัน ที่สนามกีฬากลางจังหวัดสตูล ระหว่างอยู่ศูนย์กักกันท่านอธิการบดี อาจารย์ เจ้าหน้าที่ จะคอยถามไถ่ชีวิตความเป็นอยู่ตลอด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ได้ถามมะนาวว่าเป็นลูกเป็นหลานท่านอธิการบดีหรือเปล่าทำไมท่านให้ความห่วงใยมาก ซึ่งก็ตอบท่านไปว่าเป็นแค่ลูกศิษย์คนหนึ่งในมหาวิทยาลัย รู้สึกประทับใจถึงความห่วงใยที่มหาวิทยาลัยมอบให้”
ในสถานการณ์ที่ยากลำบากของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เช่นนี้ “นายว้าก” ขอชื่นชมทุกภาคส่วนที่ร่วมด้วยช่วยกันดูแลกันและกันโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ และถึงวันนี้ แม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 3 แล้ว แต่ที่สำคัญทุกคนการ์ดต้องไม่ตกเด็ดขาด
แล้วเราจะผ่านเรื่องร้ายๆนี้ไปด้วยกัน…!!!