เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2563
นายประชุม คำพุฒ นักวิจัยและอาจารย์ที่ปรึกษา เครื่องอัดแผ่นวัสดุชีวภาพต้นทุนต่ำ เล่าถึงข้อดีของเครื่องอัดแผ่นวัสดุชีวภาพต้นทุนต่ำ โดยเป็นผลงานร่วมระหว่างอาจารย์และนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ประกอบด้วย นายธนะชัย เดชสิมา นายอมรฤทธิ์ บุญเรือง นายพงศธร ยิ้มเจริญ นายปฏิภาณ พิทักษ์พงศ์ นายธีรภัทร์ การกลจักร และนายณัฐพงศ์ เหล้าผอม ว่า เครื่องอัดแผ่นวัสดุ หรือที่รู้จักกันคือเครื่องอัดไม้พาร์ติเคิล บอร์ด ซึ่งที่วางขายในท้องตลาดมีราคาสูงมาก โดยราคาตั้งแต่ 500,000 บาท ขึ้นไปจนถึงหลายล้านบาท เนื่องจากเป็นการอัดร้อนแบบไฮดรอลิกอัตโนมัติ ทำให้ชุมชนไม่สามารถเข้าถึงและไม่สามารถสั่งซื้อไปใช้งานเพื่อเป็นเครื่องจักรในการผลิตไม้อัดจากเศษชิ้นไม้หรือวัสดุต่าง ๆ เพื่อสร้างสรรค์ทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จำหน่ายสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้ จึงได้คิดค้นและพัฒนาเครื่องอัดไม้พาร์ติเคิลบอร์ด ให้มีราคาที่ถูกลง โดยมีราคาเครื่องละไม่เกิน 100,000 บาท แต่คุณสมบัติของชิ้นงานที่ดีเทียบเท่ากับเครื่องราคาแพง อีกทั้งสามารถผ่านเกณฑ์มาตรฐานอุตสาหกรรม เรื่องแผ่นชิ้นไม้อัด ซึ่งหลักการทำงานของเครื่อง คือ การใช้ความร้อนจาก ฮีทเตอร์ที่ติดกับฝาบนและฝาล่างของแท่นเครื่องอัด เพื่อให้ความร้อนกับชิ้นงานที่ทำการอัดแผ่นชีวภาพ ตั้งค่าแรงดันและอุณหภูมิในการอัดขึ้นรูป ได้ตามความต้องการใช้งาน ในการอัดแผ่นทำได้โดยใช้ ไฮดรอลิกแบบมือโยก ทำการอัดขึ้นรูปชิ้นงานแผ่นอัดชีวภาพจากเศษวัสดุบดย่อยผสมกับกาวตามอัตราส่วนและอุณหภูมิที่กำหนดไว้ แผ่นอัดชีวภาพเมื่อนำออกจากเครื่องแล้วนำไปผึ่งชิ้นงานไว้ในสภาพ ปกติให้อากาศถ่ายเทเป็นเวลา 1 วัน สามารถนำแผ่นอัดชีวภาพไปใช้งานได้
“จุดเด่นที่แตกต่างจากเครื่องที่มีอยู่แล้ว คือ มีขนาดเล็ก กะทัดรัด น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายได้สะดวก เหมาะสำหรับชุมชน การบำรุงรักษามีราคาถูก ซ่อมง่ายโดยช่างทั่วไป ในชุมชน ไม่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ให้แรงอัดที่สูงกว่าเครื่องอัดปกติถึง 3 เท่า เนื่องจากใช้ไฮดรอลิกแบบเฉพาะ โดยให้แรงคงที่ควบคุมความเร็วได้ตลอดอย่างสม่ำเสมอด้วยแรงงานคน ลดภาระการใช้ไฟฟ้ามากกว่าร้อยละ 20” ชิ้นงานที่ได้จากเครื่องอัดแผ่นวัสดุชีวภาพนี้ มีผิวเรียบ และแน่น เนื่องจากอัดด้วยแรงสูงถึง 60 ตัน สามารถเพิ่มความหนาแน่นให้สูงขึ้นได้ สามารถออกแบบให้ชิ้นงานมีความหนาได้มากกว่า 7 ซม. ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้อัดเส้นใยธรรมชาติเป็นวัสดุฉนวนป้องกันความร้อนได้ โดยในการวิจัยครั้งนี้ได้ทดลองกับวัสดุชีวภาพ ได้แก่ การพัฒนาแผ่นพาร์ติเคิลบอร์ดจากแกนกัญชง และแผ่นพาร์ติเคิลบอร์ดจากก้านยาสูบ โดยผ่านการทดสอบมาตรฐานของไม้อัด มอก.876-2547 นำไปใช้ประโยชน์ในการก่อสร้าง ตกแต่ง หรือนำไปใช้ในวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เพื่อให้ได้ประโยชน์ที่สูงสุด
จากการคิดค้นและวิจัยเครื่องอัดแผ่นวัสดุชีวภาพต้นทุนต่ำนี้ ทำให้ชุมชนสามารถมีงบประมาณในการซื้อเครื่องจักรไปผลิตเป็นแผ่นไม้พาร์ติเคิลเพื่อใช้สร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนจากเศษวัสดุเหลือทิ้งภายในชุมชน อาทิ วัสดุตกแต่งอาคาร เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ หรือวัสดุอุปกรณ์บนโต๊ะอาหาร เป็นต้น ชุมชนจึงมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตชุมชนดีขึ้น ตลอดจน ผู้ประกอบการ ภาคเอกชน ภาครัฐ ชุมชน วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) นำเครื่องอัดแผ่นวัสดุชีวภาพต้นทุนต่ำไปใช้ประโยชน์ผลิตแผ่นอัดวัสดุชีวภาพ เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สร้างรายได้ ลดการใช้พลังงาน มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนภายในประเทศ ผู้สนใจเครื่องอัดแผ่นวัสดุชีวภาพต้นทุนต่ำต้นแบบ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและชมเครื่องจักรได้ที่ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี โดยอาจารย์ยินดีให้บริการวิชาการแก่อาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา ผู้ประกอบการภาคเอกชน และบุคคลทั่วไปได้นำไปใช้ประโยชน์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ดร.ประชุม คำพุฒ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา โทร. 0-2549-3410 หรือ เฟซบุ๊ก “หน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”.