เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2563
นายอำนาจ แตงโสภา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแจงงาม อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี ในฐานะผู้นำวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกเมล่อนบ้านหนองคาง บอกว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพในการดำเนินงานของคลัสเตอร์เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรเมล่อนสุพรรณบุรี โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เริ่มต้นเมื่อปี 2549 โดยจุดประสงค์ต้องการให้ครอบครัวมีความอบอุ่น ให้มีชีวิตที่ดีขึ้น พื้นที่บริเวณตำบลแจงงาม “อีสานตะวันตก” เป็นพื้นที่แห้งแล้ง เสร็จจากฤดูทำข้าว ต้องอพยพไปทำงานต่างจังหวัด ทำให้ครอบครัวขาดความอบอุ่น มีแกนนำในการทำเกษตรเมล่อน 21 คน ใช้เวลา 5 ปี ในการลองผิดลองถูก จนประสบความสำเร็จเป็นแหล่งผลิตเมล่อนที่ใหญ่และผลิตได้ต่อเนื่อง1,100-1,200 ตัน/ปี สำหรับเมล่อนพรีเมียม สร้างรายได้ 70-100 ล้าน/ปี ทำให้เศรษฐกิจของคนในพื้นที่ดีขึ้น เมื่อเข้าปีที่ 6 บรรลุวัตถุประสงค์ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกเมล่อนบ้านหนองคาง ปัจจุบันมีสมาชิก 90 ราย เมล่อนของทางกลุ่มเน้นเรื่องคุณภาพ และความซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค การปลูกเมล่อนปลูกในโรงเรือน โดยปลูกในดิน ปลูกไปนาน ๆ ดินจะเสื่อม ทำให้เกษตรกรต้องเปลี่ยนดินแปลงใหญ่ เพิ่มต้นทุนในการผลิต จึงอยากแก้ปัญหา โดยทางอาจารย์ มทร.ธัญบุรี ได้นำเทคโนโลยีการปลูกเมล่อนในกระถางมาถ่ายทอด หวังว่าเทคโนโลยีที่ได้รับการถ่ายทอดเป็นตัวช่วยเสริม เกษตรกรนำมาปรับใช้ในการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต
นายธีระพงษ์ ควรคำนวณ หัวหน้าภาค วิชาวิศวกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เล่าว่า การพัฒนาในรูปแบบคลัสเตอร์ “เมล่อน” ในหลักสูตรการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับการผลิตและการแปรรูปเมล่อน ยุค 4.0 เนื้อหาทั้งหมดจะเน้นเกี่ยวกับองค์ความรู้เรื่องคลัสเตอร์ กรณีศึกษาการพัฒนาคลัสเตอร์ต้นแบบ บทบาทหน้าที่ผู้ประสานงาน (CDA) กิจกรรมจิตสัมพันธ์สร้างสรรค์ทีม สู่การบูรณาการพัฒนาเชื่อม โยงคลัสเตอร์ และเนื้อหาสำคัญด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ใช้กับการผลิตเมล่อน “การปลูกเมล่อนในกระถาง” รวมถึงการทำแผนยุทธศาสตร์ เพื่อการพัฒนาคลัสเตอร์ในปี 2563 โดยการร่วมกันปรึกษา แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากทีมคณาจารย์ มทร.ธัญบุรี ภายใต้งานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่จะนำไปสู่การลดต้นทุนการผลิต ก่อให้เกิดการใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ การขยายตัวของธุรกิจ ผลผลิตทางการเกษตรมีราคาที่เหมาะสม และผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นให้มีการรวมกลุ่มผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ แบบองค์รวม เพื่อให้เกิดความร่วมมือและเชื่อมโยงอย่างเข้มแข็ง สามารถพึ่งพากันภายในกลุ่ม เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
ด้านผศ.ดร.เกียรติศักดิ์ แสงประดิษฐ์ ผู้อำนวยการหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ มทร.ธัญบุรี เล่าว่า ปีที่ 2 ของคลัสเตอร์เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรเมล่อนสุพรรณบุรี โดย 80% ของกลุ่มเป็นเกษตรกรปลายน้ำ เกษตรกรผู้ประกอบการ ที่มีความต้องการเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการพัฒนาการปลูกเมล่อน เดิมเกษตรกรเมล่อนสุพรรณบุรีปลูกในดิน ซึ่ง เมื่อปลูกนาน ๆ ทำให้ดินเสื่อมสภาพ เมื่อเก็บ เกี่ยวผลผลิตเสร็จ ต้องพักดิน 1 เดือน ซึ่ง 1 ปี สามารถปลูกและเก็บเกี่ยวเมล่อนได้ 3 ครั้ง ถ้านำเทคโนโลยีการปลูกเมล่อนในกระถาง เกษตรกรไม่ต้องพักดิน นำกระถางใหม่ที่เติมมาใช้ 1 ปี สามารถปลูกและเก็บเกี่ยวเมล่อนได้ 4-5 ครั้ง เป็นการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต นอกจากการนำเทคโนโลยีมาใช้แล้ว จุดประสงค์คือการสร้างธุรกิจเทคโนโลยีผลิตกระถางเมล่อนให้กับกลุ่มเมล่อนสุพรรณบุรี สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร เป็นเจ้าของธุรกิจเป็น ผู้ประกอบการต่อไป
นายธนาวุฒิ มาสำราญ ผู้ประสานงานคลัสเตอร์เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรเมล่อนสุพรรณบุรี และเกษตรกรผู้ปลูกเมล่อนจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า ปีที่แล้วได้มีโอกาสเดินทางกับโครงการไปศึกษาดูงานและเผยแพร่การปลูก เมล่อนที่ประเทศกัมพูชา ทำให้เมล่อนสุพรรณบุรีเป็นที่รู้จัก ตลอดจนนำเมล่อนออกบูธตามที่ต่าง ๆ เช่น งานประจำจังหวัดสุพรรณบุรี ทำให้เมล่อนของหนองหญ้าไซเป็นที่รู้จัก ไปไหนมาไหนมีแต่คนบอกว่าเมล่อนหนองหญ้าไซอร่อย ได้ยินแล้วประทับใจ การเข้าร่วมโครงการนี้ได้รับความรู้ทางด้านเทคโนโลยี ความรู้ใหม่ ๆ เทคโนโลยีในการคำนวณการให้น้ำและปุ๋ย ซึ่งไม่เคยรู้ว่าเมล่อนที่ปลูกต้องการปุ๋ยจำนวนเท่าไร ได้แต่ใส่ ๆ ลงไป มีเทคโนโลยีมาคำนวณปริมาณปุ๋ย ทำให้ลดต้นทุนในการซื้อปุ๋ย.