เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2563
พงษ์พรรณ บุญเลิศ
ไม่เพียงความประณีตสวยงาม ความพิถีพิถันในขั้นตอนสร้าง สรรค์ “ขนมไทย” ขนมที่ผูกพันแน่นแฟ้นกับวิถีชีวิตไทยมาเนิ่นนานยังมีบทบาทในเทศกาลสำคัญ ในโอกาสพิเศษ
“สงกรานต์” ประเพณีเก่าแก่ของไทยที่สืบสานต่อกันมาแต่โบราณ เป็นประเพณีงดงามเอื้ออาทร แสดงถึงความกตัญญู การระลึกถึงกัน “สงกรานต์” เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า การเคลื่อนที่ หรือการเคลื่อนย้าย โดยหมายถึง การเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์จากราศีหนึ่งไปยังราศีหนึ่ง โดยช่วงเวลาสงกรานต์ของไทยเป็นช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนสู่ราศีเมษ จึงเป็นประเพณีการฉลองขึ้นปีใหม่ตามสุริยคติ และโดยทั่วไปกำหนดไว้ 3 วันคือ วันที่ 13 เมษายนเป็น วันมหาสงกรานต์ วันที่พระอาทิตย์ก้าวเข้าสู่ราศีเมษและเป็นวันสิ้นปีเก่า วันที่ 14 เมษายน เป็น วันเนา วันที่เชื่อมระหว่างปีเก่ากับปีใหม่ และวันที่ 15 เมษายนเป็น วันเถลิงศก หรือวันขึ้นปีใหม่
จากข้อมูลความรู้หนังสือแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรมและงานเทศกาล มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมยังอธิบายถึงกิจกรรมที่ยึดปฏิบัติสืบทอดกันมา โดยที่สำคัญได้แก่ การทำความสะอาดบ้านเรือน ทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับ การแสดงความกตัญญู ระลึกถึงผู้มีพระคุณ แสดงความปรารถนาที่ดีต่อกัน ซึ่งเป็นความงดงามของประเพณี เป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นปีใหม่ไทย
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยช่วงเทศกาลสงกรานต์แม้จะมีประกาศเลื่อนวันหยุดสงกรานต์ และงดเว้นการจัดงานสงกรานต์ในทุกระดับ ซึ่งการสืบสานประเพณีสงกรานต์ ทางกระทรวงวัฒนธรรมได้ให้แนวทางการปฏิบัติไว้ โดยสรงน้ำพระพุทธรูปที่บ้าน แสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ที่อาศัยในบ้านเดียวกัน ใช้วิธีการกราบไหว้และขอพร โดยเว้นระยะห่างระหว่าง บุคล ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข และ แสดงความกตัญญูและขอพรต่อพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ห่างไกล แสดงออกผ่านช่องทางโทรศัพท์หรือสื่อออนไลน์
ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีไทยที่งดงาม มีคุณค่า นอกจากที่กล่าวมายังมีอีกหลายมิติที่น่าศึกษา โดยหนึ่งในนั้นได้แก่ ขนมในเทศกาล ทั้งนี้ ผศ.พงษ์ศักดิ์ ทรงพระนาม อาจารย์ประจำสาขาวิชาอาหารและโภชนาการ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ให้ความรู้ ขนมไทยในเทศกาล ขนมที่มีความหมายมงคลในวันขึ้นปีใหม่ไทย ว่า ประเพณีสงกรานต์ ดังที่ทราบเป็นการเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์จากราศีหนึ่งไปยังอีกราศีหนึ่ง โดยวันสงกรานต์ ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย
จากเทศกาลที่เริ่มขึ้นในวันที่ 13 เมษายน ก่อนหน้าการเริ่มต้นปีใหม่จะทำความสะอาดบ้านเรือน ทำความสะอาดหิ้งพระ ฯลฯ เพื่อต้อนรับสิ่งดีงาม สิ่งที่เป็นมงคล อีกทั้งจัดเตรียมอาหารคาวหวานเพื่อทำบุญ โดยอาหารและขนมส่วนใหญ่จะมีชื่อความนัยความหมายเป็นมงคล ทั้งความเฟื่องฟู ความงอกงาม สำหรับ “ขนม” จากที่มีข้อมูลกล่าวถึง กะละแม ข้าวเหนียวแดงและข้าวเหนียวแก้ว ซึ่งเป็นที่นิยมทำขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อนำไปทำบุญและเลี้ยงต้อนรับญาติพี่น้อง
ขนมไทย ขนมที่บอกเล่าได้ถึงความละเอียดประณีต ความพิถีพิถัน รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยโบราณ ผศ.พงษ์ศักดิ์ ให้ความรู้เพิ่มถึงขนมไทย ขนมที่มีความหมายมงคลที่เกี่ยวเนื่องกับเทศกาล และในโอกาสสำคัญ ๆ เพิ่มอีกว่า ขนมไทยหลายเมนูมีชื่อปรากฏในงานพิธีสำคัญ ๆ ในงานมงคล และงานบุญประเพณีต่าง ๆ มาเนิ่นนาน
ขนมที่มีชื่อดี มีความหมาย หรือที่มีรูปลักษณะสวยงาม ใช้วัตถุดิบที่ดี ที่มีความหมายถือเป็นความมงคล ดังเช่น ขนมที่ทำจากไข่หลายเมนู โดยที่รู้จักกันดีได้แก่ ทองหยิบ ทองหยอด ฯลฯ ขณะที่ ขนมที่มีชื่อเกี่ยวกับการเฟื่องฟู มีลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงการขึ้นฟูต่าง ๆ ขนมที่เป็นเส้นยาว เส้นละเอียดดั่งเส้นไหม ก็ถือเป็นขนมมงคล มีความหมายดี ได้รับความนิยมในเทศกาล งานสำคัญต่าง ๆ เช่นกัน
สำหรับเทศกาลสงกรานต์ ขนมที่โดดเด่นที่ได้รับการกล่าวถึง อย่างเช่น กะละแม ข้าวเหนียงแดงและข้าวเหนียวแก้ว ในมุมมอง ขนมดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความร่วมแรงร่วมใจ และความผูกพันกลมเกลียวของคนในครอบครัว และในชุมชน ทั้งนี้ขนมแต่ละชนิดมีรายละเอียด มีวิธีการทำที่พิถีพิถัน อย่างเช่น กะละแม นอกจากมีความโดดเด่นในด้านรสชาติ ยังมีวิธีการทำที่น่าสนใจ โดยนำข้าวเหนียวที่ยังเป็นเม็ดที่ยังไม่หุงนำไปแช่น้ำค้างคืน
จากนั้นนำน้ำตาลโตนดผสมกับน้ำกะทิคนผสมให้เข้ากัน ใส่น้ำกาบมะพร้าวเผาซึ่งทำจากกาบมะพร้าวเผาไฟจนไหม้ นำผงกาบมะพร้าวละลายกับน้ำแล้วกรอง นำน้ำมาใช้ ต่อมาใส่น้ำมันขี้โล้ลงไป ซึ่งน้ำมันขี้โล้ คือน้ำกะทิที่เคี่ยวจนแตกเป็นน้ำมันขึ้นมา กวนต่อจนกระทั่งข้าวเหนียวแตกตัว จากเม็ดข้าวจะค่อย ๆ หักลงไป เรื่อย ๆ กระทั่งเป็นเนื้อละเอียด
“แต่ละขั้นตอนของกะละแมนั้นพิถีพิถัน กวนจนกระทั่งข้าวเหนียวแตกละเอียด เข้ากับวัตถุดิบอื่น ๆ ที่ให้ทั้งสีสัน และความหอมหวาน อีกทั้งการกวนจะต้องควบคุมความร้อนคุมไฟในเตาให้ดี โดยจะเริ่มจากไฟแรง และค่อยราไฟลง กวนต่อไปจนกระทั่งขนมมีลักษณะเหนียว นุ่ม เป็นขนมที่มีลักษณะไม่ติดไม้พาย”
จากนั้นนำไปตักหยอดลงบนใบตองที่ทาด้วยน้ำมันขี้โล้ รับประทานคู่กับถั่วลิสงคั่วซึ่งจะใส่ไว้บนขนม หรือจะนำขนมใส่ลงในถาด ตัดเป็นชิ้น ๆ แล้วห่อด้วยใบตอง ใช้ใบตองตานีอ่อน หรือใช้ใบตองตานีแห้งรีดจนเรียบแล้วนำไปห่อขนมเป็นคำ ๆ ซึ่งกะละแมเป็นขนมที่เก็บไว้รับประทานได้นาน
ข้าวเหนียวแก้ว ขนมอีกชนิดที่มีความโดดเด่นหลายด้าน โดยเฉพาะความนัยความหมายของชื่อที่เป็นมงคล เป็นดั่งแก้วแวววาว และมีความสดใส วัตถุดิบของขนมทำจากข้าวเหนียวซึ่งนำมานึ่งแล้วจึงนำมากวนกับน้ำตาลทรายและน้ำกะทิ และน้ำปูนใส กวนจนกระทั่งขึ้นเงา ข้าวเหนียวแก้วจะมีกลิ่นหอมจากน้ำลอยดอกไม้ มีความเหนียวละมุน ซึ่งลักษณะของขนมชนิดนี้จะมีความคล้ายคลึงกับ ข้าวเหนียวแดง โดยข้าวเหนียวแดงจะใช้น้ำตาลมะพร้าว กะทิ ใช้ข้าวเหนียวที่นึ่งและนำไปผึ่งลมพอหมาด ๆ ก่อนจะนำไปกวนจนกระทั่งได้ข้าวเหนียวที่มีลักษณะจับตัวกัน การรับประทานจะคู่กับงาขาว ซึ่งตัดกับสีขนมที่มีสีน้ำตาล โดยสีน้ำตาลได้มาจากน้ำตาลมะพร้าว หรือถ้าจะใช้น้ำตาลโตนดก็สามารถทำได้
ผศ.พงษ์ศักดิ์ ให้ความรู้เพิ่มอีกว่า ในวันขึ้นปีใหม่ไทยเป็นช่วงเวลาที่ญาติพี่น้องกลับมารวมกัน การทำขนมไทยยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ครอบครัว โดยทุกคนจะร่วมมือช่วยกันทำขนม เตรียมอาหารเพื่อนำไปทำบุญ ส่งต่อความระลึกถึงญาติผู้ล่วงลับ และบุคคลที่เคารพต่อไปซึ่งเป็นกุศโลบายแยบยลของคนโบราณ
“ขนมไทย ยังแสดงถึงวัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทยความสามารถในการนำวัตถุดิบในท้องถิ่น ในธรรมชาติรอบตัวนำมาใช้ได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งยังส่งต่อการเรียนรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ได้สืบสานและพัฒนาต่อยอด ต่อไป โดยช่วงเวลานี้อาจใช้โอกาสนี้ทดลองฝึกทำขนม ทั้งนี้การทำขนมไทยในปัจจุบันสามารถทำได้ง่ายขึ้น อย่างเช่น กะละแม จากเดิมที่ใช้ข้าวเหนียวเป็นเม็ด ปัจจุบันมีแป้งข้าวเหนียวนำมาใช้ได้สะดวกขึ้น หรือถ้ามีข้าวเหนียวเหลืออยู่ ลองนำมากวนทำข้าวเหนียวแก้ว ทำตามขั้นตอน ตามวิธีการ ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะได้ขนมที่น่าภาคภูมิใจ ที่ทำขึ้นด้วยตนเองแล้ว ยังเป็นการถนอมอาหาร ทั้งส่งมอบต่อไปถึงผู้ที่ระลึกถึง เข้ากับเทศกาลสงกรานต์ อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ร่วมสืบสานรักษาขนมไทย เผยแพร่ขนมไทยที่มีเอกลักษณ์ และมนต์เสน่ห์.
“ผูกพันแน่นแฟ้นกับวิถีชีวิตไทย”
Template file :: download-button does not exist!