แนวหน้า ฉบับวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2563
คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ร่วมกับ ศูนย์สหวิทยาการชุมชน มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จัดประชุมกลุ่มศึกษาการสื่อสารกับกลุ่มคนและชุมชนศึกษา ครั้งที่ 1/2563 ตอน “ที่สุดเลยเว้ยแก…” พร้อมการนำเสนอผลงาน วิจัยและวิทยานิพนธ์ที่เป็นที่สุดครบทุกรสชาติ อาทิ ซีรี่ส์สุดปัง “Project S” ภาพซ้ำของเพศหญิงในนิทาน จาก “คน” สู่ “ยอดคน” และถอดรหัสการทำข่าวสิ่งแวดล้อมในไทย โดยได้รับเกียรติ การปาฐกถาพิเศษจาก รศ.ดร.กาญจนา แก้วเทพ นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 2548 สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและ นิเทศศาสตร์ ที่ห้อง JM 402 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563
ผศ.ดร.อัจฉรา ปัณฑรานุวงศ์ คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน กล่าวเปิดงานในครั้งนี้ว่า “คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนให้ความสำคัญกับการจัดกิจกรรม ทางวิชาการและการเสวนามาโดยตลอดโดยเฉพาะ อย่างยิ่งนับเป็นโอกาสที่ดีเนื่องจากเป็นการฉลอง ครบรอบปีที่ 65 ของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน การจัดงานครั้งนี้ได้รับความร่วมมือ จากศูนย์สหวิทยาการชุมชนศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ภายใต้โครงการกลุ่มศึกษาการสื่อสารกับกลุ่มคนและชุมชนศึกษา ในชื่อตอน “ที่สุดเลยเว้ยแก…” ซึ่งจะนำเสนอและสะท้อนภาพปรากฏการณ์งานสื่อสารจากงานวิจัยได้เป็นอย่างดี โดยได้รับเกียรติการปาฐกถาพิเศษจาก รองศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา แก้วเทพ พร้อมทั้ง การนำเสนอผลงานวิจัยที่เป็นดุษฎีนิพนธ์ในแง่มุมที่หลากหลายมิติ มีความทันสมัย ไม่ว่าจะเป็น ซีรี่ส์ทางโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยม นิทานภาพ สำหรับเด็กที่สะท้อนภาพเรื่องราวความเป็นผู้หญิง ในมิติต่างๆ การจัดกิจกรรมผ่านการวิ่งของคนกลุ่มหนึ่งที่สร้างแรงบันดาลใจแก่คนเป็นจำนวนมาก และการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวกับโลกร้อน ซึ่งเป็นเรื่องที่กำลังอยู่ในกระแสเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติจากคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศที่ร่วมนำเสนองานและวิพากษ์งานวิจัยในลักษณะการเป็นกัลยาณมิตรและเครือข่ายทางวิชาการร่วมกัน อาทิ วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และผู้ร่วมการประชุมกลุ่มศึกษาที่ให้ ความสนใจทุกท่าน
คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนกล่าวเพิ่มเติมว่า “การสร้างความรู้เรื่องการสื่อสารโดยเชื่อมโยงแนวทางจากศาสตร์และ สาขาวิชาอื่นๆ ผ่านกิจกรรมการเสวนาวิชาการมีความสำคัญยิ่งนับเป็นการสร้างองค์ความรู้ ตลอดจนเพื่อนำมาเผยแพร่แลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกัน นับเป็นการพัฒนาศาสตร์ด้านสื่อสาร มวลชนและสื่อศึกษาให้มีความก้าวหน้าและทันสมัย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานวิชาการร่วมกันต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนเล็งเห็นและให้ความสำคัญกับ การสร้างเครือข่ายทางวิชาการแก่คณาจารย์ นักวิชาการ นักศึกษา อย่างต่อเนื่อง