เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2563
พงษ์พรรณ บุญเลิศ
หนึ่งใน “พืชสมุนไพร” ที่ปลูกได้ง่าย มีสรรพคุณทางยาช่วยรักษาและบรรเทาอาการเจ็บป่วยในเบื้องต้น อย่าง “ฟ้าทะลายโจร” นี่ถือเป็นสมุนไพรประจำบ้านที่มีสรรพคุณเด่น ซึ่งสมุนไพรชนิดนี้เป็นที่รู้จักกันมานาน และในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ ไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ “โควิด-19 ” สมุนไพร “ฟ้าทะลายโจร” ก็เป็นที่สนใจมากขึ้น
“ฟ้าทะลายโจร” กับกรณี “โควิด-19 ” ก็ต้องเน้นไว้ตั้งแต่ในตอนต้นว่า ณ ขณะนี้น่าจะ ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการกำจัดไวรัสร้ายชนิดนี้ อย่างไรก็ดี กับสรรพคุณในทางสมุนไพรโดยทั่ว ๆ ไปของ “ฟ้าทะลายโจร” ก็ยังนับว่าน่าสนใจอยู่ดี…
ทั้งนี้ แพทย์แผนไทยประยุกต์ (พทป.) แสงนภา ทองสา ประธานหลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์ และเภสัชกรหญิง ดร.บุณณดา ภมรปฐมกุล หัวหน้างานวิจัยและพัฒนายาและสมุนไพร ศูนย์ผลิตและบริการวิชาการผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ร่วมกันให้ความรู้และเรื่องราวน่ารู้ของพืชสมุนไพรที่ชื่อ “ฟ้าทะลายโจร” ว่า เป็นพืชสมุนไพรในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้หลายประเทศไม่เพียงเฉพาะประเทศไทย
ฟ้าทะลายโจร เป็นพืชที่ปลูกขึ้นง่ายในสภาพอากาศร้อนชื้น ขยายพันธุ์จากเมล็ด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความชื้นจะเติบโตได้ดี การปลูกไว้ที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นในกระถาง หรือปลูกไว้มุมหนึ่งมุมใดของบ้าน ก็จะได้รับประโยชน์ เป็นอีกหนึ่งพืชสมุนไพรที่จะช่วยป้องกันการเจ็บป่วยเบื้องต้นได้ โดยเฉพาะ เมื่อเริ่มมีอาการไอ เจ็บคอ มีไข้
แต่ข้อสำคัญควรใช้อย่างถูกต้อง อาจารย์แสงนภา และอาจารย์บุณณดา ให้ข้อมูลเพิ่มถึงลักษณะทั่วไปของฟ้าทะลายโจรว่า ฟ้าทะลายโจรเป็นพืชล้มลุก แตกกิ่งออกเป็นพุ่มเล็ก มีดอก กลีบดอกเป็นสีขาว ช่วงกลางดอกมีสีม่วงปน มีเส้นสีแดงม่วงเข้มพาดตามยาว สำหรับกิ่งมีความต่างไม่เหมือนต้นไม้อื่น ๆ จะมีความเหลี่ยม เล็ก ๆ ส่วนใบมีสีเขียวเข้ม มีความมันเงาคล้ายดั่งแวกซ์เคลือบ ส่วนผลจะเป็นฝักสีเขียว เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาล ปลายแหลม เมื่อผลแก่จะแตกเป็นสองซีก ดีดเมล็ดออกมา ซึ่งด้วยเมล็ดที่มีมาก ตกกระจายไปที่ใดก็จะเกิดเป็นต้นใหม่ขึ้นมา ทั้งนี้ ทุกส่วนของฟ้าทะลายโจรมีรสขม
“ฟ้าทะลายโจร แม้จะใช้ได้ทั้งต้น แต่ส่วนเมล็ดจะไม่นำมาทำยา เว้นแต่ติดต้นมา การเก็บฟ้าทะลายโจรที่จะใช้ทำยาจึงเก็บในช่วงที่ต้นกำลังจะแตกดอก ทั้งนี้หากออกดอกไปแล้วสารสำคัญจะไปอยู่ที่ดอก ยิ่งถ้าออกผลสารสำคัญก็จะกระจายไปที่ผล การนำมาใช้ถ้าจะให้ได้ฤทธิ์ดีจึงต้องเก็บไปใช้ก่อนที่ต้นจะแตกดอก หรือช่วงที่ดอกโรยไปแล้ว และไม่มีเมล็ดก็ให้ฤทธิ์ดีเช่นกัน”
ทุกส่วนของฟ้าทะลายโจรนำมาใช้ประโยชน์ได้ โดยเฉพาะส่วนใบ จะมีสารสำคัญอย่างหนึ่งคือ แอดโดรกราโฟไลด์ อยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งหากเป็นภาพรวมของสมุนไพรทั่วไปที่ไม่ใช่พืชชนิดนี้ สารสำคัญโดยมากจะอยู่ที่รากและแก่น แต่สำหรับฟ้าทะลายโจรเป็นพืชที่มีขนาดไม่ใหญ่มากจึง ใช้ได้ทั้งต้น โดยนำมาผึ่งให้แห้งและบดเป็นยา สารสำคัญ สารแอดโดรกราโฟไลด์จะมีอยู่ทุกส่วนในฟ้าทะลายโจร แต่จะมีอยู่ในปริมาณที่แตกต่างกัน
“ฟ้าทะลายโจรเป็นพืชที่มีรสขม เย็น มีสรรพคุณทางยาช่วยแก้อาการเจ็บคอ ลดไข้ และจากการทดลองสารสำคัญในพืชชนิดนี้ สารแอดโดรกราโฟไลด์จะยับยั้งแบคทีเรีย เชื้อไวรัส (บางชนิด) ทั้งสามารถเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยธรรมชาติได้ ซึ่งจะเป็นส่วนหลัก ๆ อีกทั้งยังช่วยแก้อาการท้องร่วง ท้องเสีย โดยฟ้าทะลายโจรบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ (บัญชียาจากสมุนไพร) ของกระทรวงสาธารณสุข ในหมวดหมู่ยารักษากลุ่มอาการของระบบทางเดินอาหาร และระบบทางเดินหายใจส่วนต้น อย่างเช่น โรคหวัด ไอมีเสมหะ เจ็บคอ”
การนำมาใช้ มีทั้งเพื่อป้องกันและรักษา แต่ การจะใช้เพื่อป้องกันก็จำเป็นต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้อง!! ซึ่งอาจารย์ทั้งสองท่านขยายความเพิ่มอีกว่า เมื่อเริ่มมีอาการไข้ เจ็บคอ มีอาการไอ เหมือนจะเป็นหวัด ครั่นเนื้อครั่นตัว สามารถกินฟ้าทะลายโจรได้เลย โดยใช้ในปริมาณที่ไม่สูงนัก เช่น รับประทาน 1-2 เม็ด เช้า-เย็น หรือเช้า กลางวัน เย็น เพื่อเป็นการบรรเทาอาการให้อาการโดยรวมดีขึ้น การนำมาใช้ควรมีความเข้าใจ ใช้เมื่อมีอาการ ไม่ใช่ว่าไม่เป็นอะไรแต่กินป้องกันไว้ก่อน ซึ่งสรรพคุณการป้องกันของฟ้าทะลายโจรที่มีด้วยนั้น ในที่นี้หมายถึงเมื่อมีอาการ อย่างเช่นเริ่มเจ็บคอ เริ่มมีอาการไข้ตัวร้อนรุม ๆ จึงเริ่มกินเพื่อป้องกันอาการไม่ให้รุนแรงขึ้น
และดังที่กล่าว สมุนไพรฟ้าทะลายโจรมีรสขม เย็น ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบไหลเวียนเลือดในร่างกายได้ ดังนั้น จึง ไม่แนะนำให้รับประทานต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือใช้เกิน 14 วัน โดยถ้ารับประทานเกินไปกว่านี้ จะมีอาการชาตามปลายประสาทได้ ไม่ว่าจะเป็นปลายมือ ปลายเท้า
ยาไทยส่วนมากควรจะกินก่อนอาหาร ทั้งนี้เพื่อผลที่ดีต่อการดูดซึม ยาสมุนไพรจะมีสารหลายตัว โดยถ้ากินไปในขณะที่มีอาหารอยู่ในกระเพาะจะยิ่งทำให้ฤทธิ์ยาเจือจางลงไป จึงแนะนำให้กินก่อนอาหารเพื่อให้ได้รับยาอย่างเต็มที่ ส่วนถ้าเป็นมุมมองยาแผนปัจจุบัน การกินฟ้าทะลายโจรหลังอาหารหรือขณะที่มีอาหารอยู่ ตัวกรดซึ่งมีฤทธิ์ทำลายตัวยาสำคัญก็จะไม่มีการออกฤทธิ์ จึงแนะนำให้กินก่อนอาหาร ก่อน 1 ชั่วโมงหรือครึ่งชั่วโมง เพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายตัวยาสำคัญ ซึ่งก็มีความสอดคล้องกันระหว่างยาแผนไทยกับแผนปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม หากกินสมุนไพรเกินกว่า 3 วัน โดยอาการไม่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาการไข้ เจ็บคอ ฯลฯ ไม่ควรวางใจ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย หาสาเหตุที่ชัดเจน ทั้งนี้ ทางอาจารย์ทั้งสองท่านเสริมความรู้เพิ่มอีกว่า ด้วยรสขมเย็นของสมุนไพร “ฟ้าทะลายโจร” ในปัจจุบันเพื่อให้ง่ายและเพิ่มความสะดวก จึงมีการบรรจุในเม็ดแคปซูล หากแต่ในการนำมาใช้ก็สามารถใช้ได้ทั้งสดหรือแห้ง โดยการกินเป็นยาชง หรือกินเป็นใบสด ที่ก็อาจต้องสัมผัสกับรสขมมากกว่า
สมุนไพรฟ้าทะลายโจร นอกจากสรรพคุณเด่นที่กล่าวมา ก็มี “ข้อพึงระวัง” ดังที่กล่าวไว้แล้ว ส่งผลให้มีอาการชาปลายมือปลายเท้าได้ ทั้งนี้ ในกรณีที่กินต่อเนื่องนาน ๆ อีกทั้ง การแพ้สมุนไพร อาจมีผื่นคัน วิงเวียนศีรษะ หายใจลำบาก ฯลฯ ก็ต้องหยุดใช้ทันที นอกจากนี้ยังเตือนระวัง ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์และมารดาที่ให้นมบุตร
พืชสมุนไพรรสขมเย็นที่นำมาใช้ในทางยาแผนไทย จะช่วยให้เจริญอาหาร นอนหลับได้ดี การใช้จึงควรมีความพอเหมาะพอดี และไม่ว่าจะเป็นชนิดใด ก่อนใช้ควรมีความเข้าใจที่ถูกต้อง อีกทั้งในฤดูร้อนที่เริ่มขึ้น พืชผักสมุนไพรที่นำมาปรุงอาหาร ที่ให้รสขม เย็น หรือผู้ที่มีธาตุเจ้าเรือนเป็นธาตุไฟ ก็มีความเหมาะสม ทั้งนี้ฤดูร้อนอุณหภูมิร่างกายเราจะสูงขึ้น เมื่อได้ยาหรืออาหารที่ให้ฤทธิ์เย็น โดยไม่เกี่ยวกับสรรพคุณ ก็จะช่วยให้อุณหภูมิร่างกายลดลง ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง สมดุล
ทั้งนี้ กับ สถานการณ์ “โควิด-19” แพร่ระบาด ทางอาจารย์แสงนภาและอาจารย์บุณณดา ทิ้งท้ายโดยย้ำถึงการที่ ควรต้องปฏิบัติตามคำแนะนำทางสาธารณสุข ทั้งการหลีกเลี่ยงอยู่ในที่ชุมชน โดยถ้ามีความจำเป็นควรสวมใส่หน้ากากอนามัย รับประทานอาหารที่ปรุงสุก และล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์ในรูปแบบเจลและสเปรย์ที่มีความเข้มข้น 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป จึงจะมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อได้ เป็นต้น…
การ “ดูแลรักษาสุขภาพด้วยการป้องกันด้วยความเข้าใจ” นี่ “มีความสำคัญ!!!”.
“ดูแลรักษาสุขภาพด้วย…การป้องกันด้วยความเข้าใจ”