กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2563
กรุงเทพธุรกิจ กว่า 30 ปีของ “ไทยนครเพนท์แอนด์เคมีคอล” ยืนหยัดในความเป็นผู้ผลิตสีพ่นรถยนต์ชั้นนำของประเทศ บนพื้นฐานการทำวิจัยคิดค้นผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า ควบคู่กับความรู้และความชำนาญด้านเคมีภัณฑ์ ชัดเจนด้วยผลงานนวัตกรรม “Lezzon TX 599” วัสดุซ่อมแซมปิดผิวรถยนต์ (สีโป๊ว) จากขวดพลาสติก รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ในการประกวดรางวัลการออกแบบเชิงนวัตกรรม ประจำปี 2560 จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ล่าสุดส่งโจทย์วิจัยไปยังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ดำเนินโครงการพัฒนา “ผลิตภัณฑ์สีกันไฟชนิดพองตัว” ผลักดันธุรกิจอุตสาหกรรมสีคุณภาพสูงด้วยเทคโนโลยีคนไทย
“ตอบความต้องการทุกเฉดสี”
ภูมิภัทร์ ตรรกสกุลวิทย์ กรรมการและผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไทยนครเพนท์แอนด์เคมีคอล จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้วิจัยค้นคว้าและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับรถยนต์จำนวนมากทำให้มีรายได้ถึง 300 ล้านบาทในปี 2548 ต่อมาในปี 2549 ได้คิดค้นร่วมกับบริษัทผู้ผลิตสีพ่นรถยนต์จากมาเลเซีย พัฒนาแม่สีแบบเข้มข้นสูงระบบผสมกาว 70% ขึ้นครอบคลุมกว่า 70 เฉดสีด้วยกัน โดยอาศัยเทคโนโลยีทางด้านสีจากเยอรมนีซึ่งรวมถึงสีอะลูมินัมและสีมุก ที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถเลือกผสมเฉดสีสำหรับรถยนต์รถจักรยานยนต์ได้ทุกเฉดสีตามต้องการ ส่วนผลงานรางวัลนวัตกรรมข้างต้น Lezzon TX 599 มีองค์ประกอบของ พอลิเอสเทอร์เรซิ่นชนิดไม่อิ่มตัว ได้จากการนำขวดเพท (PET) ที่ใช้แล้วผ่านกระบวนการสังเคราะห์ด้วยปฏิกิริยาไกลโคไลซิสและขั้นตอนการผลิตอื่นๆ ที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตสีโป๊วรถยนต์ได้ประมาณ 15% รวมทั้งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุรีไซเคิลจากขยะขวดเพทได้ประมาณ 21 เท่า เพิ่มปริมาณการใช้ประโยชน์จากขยะขวดเพทได้ประมาณ 1,300 ตันต่อปี
ปัจจุบันบริษัทได้ส่งโจทย์วิจัย “การพัฒนาผลิตภัณฑ์สีกันไฟชนิดพองตัว” ให้นักวิจัย มทร.ธัญบุรี ช่วยขบคิดแก้ปัญหา ขณะนี้ดำเนินการสำเร็จแล้วกว่า 90% ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และมีแนวโน้มความเป็นไปได้สูงในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อใช้งานและจัดจำหน่ายต่อไปในอนาคตอันใกล้
“การเข้ามามีส่วนร่วมของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากบริษัทเป็นแกนหลัก ได้ช่วยให้เกิดแนวทางใหม่ๆ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนาความรู้ร่วมกันในเรื่องวัสดุนาโนและนาโนเทคโนโลยี ที่เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่น่าสนใจ หวังว่าในอนาคตจะได้รับความร่วมมือที่ดีในด้านการวิจัยและพัฒนาเช่นนี้ต่อไป”
“รับโจทย์วิจัยอุตสาหกรรม”
ผศ.สมหมาย ผิวสอาด รักษาราชการแทนอธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า นักวิจัยได้ต่อยอดองค์ความรู้จากการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม หรือโครงการส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคเอกชนและโครงการตามยุทธศาสตร์ของประเทศ (Talent Mobility) นำโดย ผศ.สรพงษ์ ภวสุปรีย์ และ ผศ.ฉันท์ทิพ สกุลเขมฤทัย อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมวัสดุและโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มีนักศึกษาเข้าร่วมด้วย 2 คน
ความสำเร็จดังกล่าวนี้เป็นไปตามนโยบายและมาตรการการส่งเสริมการลงทุน ที่เกิดประโยชน์ต่อบริษัท สถานประกอบการต่างๆ และเป็นการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยีของนักวิจัยไทยในมหาวิทยาลัยร่วมกับนักวิจัยของผู้ประกอบการไทย โดยรับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
“นวัตกรรมสีเคลือบกันไฟนาโน”
“โจทย์วิจัยคือ ปัญหาเรื่องเทคโนโลยีในการสังเคราะห์วัสดุนาโน และปัญหาการขยายตัวของสารเคลือบกันไฟชนิดพองตัว ที่มีอัตราการขยายตัวต่ำ ส่งผลต่อการเป็นชั้น ฉนวนป้องกันความร้อนที่ส่งผ่านสู่เหล็กโครงสร้าง ไม่ให้เกิดความเสียหายหรือเกิดช้าลง จากจุดเริ่มต้นดังกล่าวจึงร่วมกันวิจัยพัฒนาด้านวัสดุนาโน เพื่อนำมาใช้เพิ่มอัตราการขยายตัวของสีกันไฟ และเกิดเป็นโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์สีกันไฟชนิดพองตัว”
ผลิตภัณฑ์สีกันไฟชนิดพองตัว ทำหน้าที่เสมือนฉนวนกันไฟ ยกตัวอย่างเมื่อนำไปใช้ทาโครงสร้างเหล็ก จะป้องกันความร้อนที่ส่งผ่านสู่เหล็กโครงสร้างไม่ให้เกิดความเสียหาย หรือเกิดช้าลงในกรณีที่เกิดเพลิงไหม้ ซึ่งอาจช่วยส่งผลต่อความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน โดยใช้วัสดุนาโนเป็นส่วนประกอบสำคัญ และได้ทำการทดสอบสมบัติการทนไฟ ตามมาตรฐานสากล ทดสอบการขยายตัว อนุภาคพื้นผิวและทดลองนำไปใช้งานเบื้องต้น ซึ่งมีผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจ และเตรียมผลักดันร่วมกับบริษัทเพื่อการผลิตในเชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคตอันใกล้
“ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการวิจัย ดังกล่าว ทำให้บริษัทหรือสถานประกอบการได้กระบวนการผลิตวัสดุนาโน เพื่อวางแผนการผลิตสีนาโนและสีกันไฟชนิดพองตัว สามารถรองรับการขยายตัวของบริษัทในการผลิตระดับอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันยังลดการนำเข้าวัสดุนาโนเชิงพาณิชย์จากต่างประเทศ และที่สำคัญอาจารย์ นักวิจัยและนักศึกษาได้ร่วมปฏิบัติงานจริง
‘ทาเลนท์โมบิลิตี้’ช่วยพัฒนาขีดความสามารถของประเทศด้วยองค์ความรู้ในมหาวิทยาลัยร่วมกับผู้ประกอบการ
สมหมาย ผิวสอาด
Template file :: download-button does not exist!