กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
แม้จะเป็นที่ยอมรับกันว่า “การคัดแยกขยะ” เป็นการบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง แต่การทำให้ขยะไร้ค่าเหล่านี้มี “มูลค่าที่จับต้องได้” ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยเฉพาะ “ขยะพลาสติก” ที่ปัจจุบันมีราคาและมีการรับซื้อเพื่อนำไปรีไซเคิลหรือนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น
สำหรับหมู่บ้านเอื้ออาทรรังสิตคลอง 10/2 หมู่ 3 ต.บึงสนั่น อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เป็นอีกชุมชนที่ให้ความสำคัญกับการคัดแยกขยะ โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมกันจัดตั้งธนาคารขยะให้เป็นจุดรับซื้อขยะจากคนในชุมชน เพื่อรวบรวมขยะพลาสติกและขยะมีค่าอื่นๆ ขายให้กับคนที่มารับซื้อ ซึ่งแม้จะช่วยลดปริมาณขยะที่เทศบาลเข้ามาจัดเก็บได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ก็มีพลาสติกหลายชนิด เช่น ขวด PET สีต่างๆ ซองขนม ซองกาแฟ โดยเฉพาะถุงหูหิ้วที่ได้จากร้านสะดวกซื้อ รวมถึงขยะพลาสติกประเภทฟิล์มต่างๆ เช่น ถุงหูหิ้ว ถุงใส่แกง ถุงใส่น้ำยาปรับผ้านุ่ม ถุงขนมคบเคี้ยวต่างๆ จะเป็นพลาสติกที่รถซาเล้งไม่สนใจรับซื้อ เนื่องจากต้องนำไปคัดแยกส่วนที่โรงงานรีไซเคิล
จากปัญหาข้างต้น จึงเป็นที่มาของงานวิจัย “โครงการแผ่นลามิเนตจากขยะถุงพลาสติก” ที่มี ผศ.วรุณศิริ จักรบุตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เป็นหัวหน้าโครงการ ร่วมกับชาวบ้านในช่วงต้นของการทำวิจัย พบว่ากลุ่มที่รับซื้อขยะจากคนในชุมชน ต้องการวิธีที่จะทำให้ถุงหูหิ้วเหล่านี้กลายเป็นของที่มีมูลค่ามากกว่าเดิม ซึ่งวิธีการที่นำเสนอคือการทำเป็นแผ่นลามิเนตที่สามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้หลายชนิด ทำให้วัตถุประสงค์สำคัญงานวิจัยนี้คือ การพัฒนาเทคนิคการผลิตแผ่นลามิเนตจากถุงหูหิ้วที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม พร้อมทั้งพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีแผ่นลามิเนตเป็นวัตถุดิบหลัก
ทำให้ช่วงแรกของการทำวิจัย จึงเป็น การศึกษาคุณสมบัติของถุงหูหิ้วที่มีอยู่ในท้องตลาด จากนั้นจึงทำการพัฒนาเครื่องอัดความร้อนที่สามารถอัดให้ถุงหูหิ้ว 2-5 ชั้น ผสานเป็นแผ่นลามิเนตเนื้อเดียวกันได้ง่ายๆ พร้อมทั้งทดสอบ จนพบว่าแผ่นลามิเนตดัง
กล่าวมีคุณสมบัติที่ทนต่อแรงดึง แรงฉีก นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเทคนิคการเคลือบแผ่นลามิเนตบนชิ้นผ้าเพิ่มลวดลายให้สวยงามมากยิ่งขึ้น
เมื่อได้ผลการวิจัยที่ชัดเจนแล้ว ทางทีมวิจัยจึงได้จัดให้มีการอบรมการใช้เครื่องดังกล่าวให้กับคนในชุมชน กลุ่ม อสม.และผู้สูงอายุ ให้สามารถผลิตแผ่นลามิเมตจากถุงหูหิ้วได้เอง ส่วนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากแผ่นลามิเนต ทีมวิจัยต้องการให้คนในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ว่างงานมีรายได้จากกิจกรรมนี้ด้วย ดังนั้นนอกจากจะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจสำหรับผู้ซื้อแล้ว ยังจะต้องมีวิธีการผลิตที่ไม่ซับซ้อน และสามารถทำได้ด้วยอุปกรณ์ที่หาได้ง่ายโดยผลิตภัณฑ์ที่ทำได้ตอนนี้คือ กระเป๋า แผ่นรองปูแก้ว และเสื่อปูพื้น
ในพลวัตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เมื่อกลุ่มรีไซเคิลในชุมชน ทำหน้าที่ผลิตแผ่นลามิเนต จากถุงพลาสติก และส่งต่อให้สมาชิกในชุมชนรับไปผลิตเป็นกระเป๋าผ้า แล้วส่งกลับมาให้กลุ่มรีไซเคิลจำหน่ายอีกครั้ง โดยผู้ผลิตกระเป๋าจะได้รับค่าตอบแทนใบละ 5 บาท ซึ่งกระเป๋าผ้านี้มีราคาขายอยู่ที่ใบละ 40-80 บาท (ขึ้นกับขนาดและรูปแบบ) ถือเป็น การกระจายรายได้ให้คนในชุมชน
ความสำเร็จของงานวิจัยนี้ไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี แต่อยู่ที่การใช้ “ข้อมูล-ความรู้” มาแก้ไขปัญหาให้ชุมชน ทำให้ชุมชนมีทางเลือกในการจัดการขยะพลาสติกที่สร้างมูลค่าได้มากกว่าการเก็บรวบรวมเพื่อขายต่อเท่านั้น โดยเฉพาะขยะประเภทถุง หรือฟิล์มพลาสติกชนิด PP และ PE ที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ให้กลายเป็นของมีคุณค่าและมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ถือเป็นการแก้ปัญหาขยะได้อย่างตรงจุดและช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้อีกด้วย และที่สำคัญคือช่วยสานสัมพันธ์ของคนในชุมชนได้อีกทางหนึ่ง
Template file :: download-button does not exist!