ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2563
หน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี นำทีมโดยอาจารย์ประชุม คำพุฒ และว่าที่ร้อยเอกกิตติพงษ์ สุวีโร สองนักวิจัยที่ได้ริเริ่มนำขยะจากทะเลไทยมาเพิ่มมูลค่า (Up-cycling) เป็นวัสดุก่อสร้างสำหรับอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ และถ่ายทอดความรู้ให้กับชุมชนในพื้นที่แถบชายทะเล
อาจารย์ประชุมกล่าวว่า ประเทศไทยมีขยะทะเลติดอันดับ 6 ของโลก ทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมกับนักวิจัยด้านวัสดุและด้านสิ่งแวดล้อมจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ดำเนินงานวิจัยโครงการ “ทะเลไทยไร้ขยะ” เพิ่มมูลค่าด้วยการ อัพไซคลิ่งขยะจากทะเลไทย ซึ่งในปีแรกของการดำเนินงานมุ่งเน้นการนำขยะทะเลประเภทขยะพลาสติก ทั้งพลาสติกที่รีไซเคิลได้คือ ขวดน้ำพลาสติก และพลาสติกที่เป็นประเภทใช้ครั้งเดียวไม่นิยมนำรีไซเคิล ประกอบด้วย ถุงพลาสติกหูหิ้ว แก้วน้ำพลาสติก ฉลากพลาสติกข้างขวด และหลอดดูดน้ำพลาสติก ซึ่งขยะพลาสติกเหล่านี้เป็นปัญหาหลักของประเทศที่ทุกภาคส่วนทราบดีว่ามีความสำคัญเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขปัญหาอย่างท้าทาย
ในปีแรกนี้ ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ได้ทำการวิจัยผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ อาทิ ถังขยะพลาสติก ด้วยกระบวนการขึ้นรูปแบบหมุนจากขวดและฝาขวด ผลงานของ ดร.ณรงค์ชัย โอเจริญ ผลิตภัณฑ์วัสดุผนังสามมิติสำหรับตกแต่งภายในอาคารจากขยะพลาสติก โดย ผศ.ดร.ธรรมศักดิ์ โรจน์วิรุฬห์ ผลิตภัณฑ์วัสดุกระเบื้องยางปูพื้นยางพาราผสมขยะพลาสติก โดย ผศ.วรุณศิริ จักรบุตร และผลิตภัณฑ์วัสดุปูพื้นจากขยะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียว ของหน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถนำมาต่อยอดในการสร้างมูลค่าทั้งเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม เนื่องจากเป็นการกำจัดขยะที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลในระบบด้วยการเพิ่มมูลค่าเป็นวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทนการนำไปฝังกลบหรือเผาทิ้ง
“การนำข้อดีของขยะพลาสติกที่มีความเบาและมีความเหนียวไปใช้เป็นวัสดุทดแทนมวลรวมจำพวกหินทรายก่อสร้าง ซึ่งหินทรายเป็นทรัพยากรสิ้นเปลืองที่ใช้แล้วหมดไป นับวันยิ่งเหลือน้อยลงทุกวัน และกำลังจะหมดไปจากประเทศในระยะเวลาอีกไม่นาน”
ในกระบวนการผลิตเน้นความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้ขยะพลาสติกจากพื้นที่แถบชายฝั่งทะเล ในการลงพื้นที่เก็บขยะของชุมชนและกลุ่มอนุรักษ์ทะเลไทย ซึ่งมีการเก็บขยะกันอยู่เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการจัดกิจกรรมของภาครัฐและภาคเอกชนภายในพื้นที่ รวบรวมขยะ นำไปแยกประเภท ทำความสะอาด และบดย่อยเป็นมวลรวมแทนที่มวลรวมปกติบางส่วน ตามปริมาณที่เหมาะสม
โดยเลือกกระบวนการเทคโนโลยีการทำปฏิกิริยาระหว่างปูนซีเมนต์กับน้ำเป็นสารเชื่อมประสานให้เกิดเป็นก้อนวัสดุแข็งแทนการเชื่อมประสานด้วยความร้อนจากการต้มหรือการหลอมละลายพลาสติก เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดมลพิษต่อผู้ผลิตและผู้ใช้งาน โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้จากวิธีนี้ คือ กระเบื้องคอนกรีตปูพื้น และบล็อกประสานปูพื้น โดยมีอัตราส่วนการผสมเศษขยะพลาสติกมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของพลาสติกที่นำมาใช้
อย่างไรก็ดี หากนำพลาสติกทุกชนิดมาบดย่อยรวมกันก็สามารถใช้งานได้เลย ซึ่งนับเป็นข้อได้เปรียบของการผลิตกรรมวิธีนี้ เพราะว่าสามารถใช้ขยะพลาสติกได้ทุกชนิดโดยไม่ต้องเหลือตกค้าง หรือเป็นการใช้ขยะให้เหลือศูนย์ (Zero waste) นั่นเอง โดยหน่วยวิจัยฯ มีการทดลองสำหรับเลือกสูตรที่เหมาะสมในการผลิต ซึ่งจะส่งผลให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องตามข้อกำหนดของมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และสามารถนำไปใช้งานได้จริง
“นอกจากผ่านมาตรฐาน มอก.แล้ว ข้อเด่นของวัสดุก่อสร้างที่ทำจากขยะทะเลไทย มีน้ำหนักเบา ลดการสะสมความร้อนได้ดีกว่าวัสดุประเภทเดียวกันทั่วไปที่จำหน่ายในท้องตลาด สามารถสร้างสรรค์ออกแบบรูปทรงรูปร่างที่สวยงามแตกต่าง”
ทั้งนี้เป็นการยกระดับงานทางด้านวัสดุตกแต่งทางสถาปัตยกรรม มีการทำสี ลวดลายผิวหน้าตามความต้องการของผู้ใช้งาน สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย ทั้งการก่อสร้างและการตกแต่ง สำหรับคอนโดฯ บ้านจัดสรร และอาคารทั่วไป ตลอดจนเป็นวัสดุเฟอร์นิเจอร์ภายในอาคารที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน โดยใช้ขยะพลาสติกที่นำขึ้นมาจากทะเลให้เกิดประโยชน์ถึงเกือบ 100% ด้วยอุปกรณ์ เครื่องมือการผลิต ตลอดจนการใช้งานพื้นฐานทั่วไป ไม่ยุ่งยากซับซ้อน มีต้นทุนต่ำ จึงมีความคุ้มค่าในการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ เป็นทางเลือกใหม่ของวัสดุก่อสร้างแนวทางอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและเป็นการรับผิดชอบต่อสังคม
การนำวัสดุก่อสร้างจากขยะทะเลไทยไปใช้ประโยชน์ได้จริงในปัจจุบันนั้น เป็นการนำไปใช้ขยายผลในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ประกอบด้วย องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่แถบชายทะเล พื้นที่นำร่อง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี และในปีต่อไปจะขยายผลไปยังชุมชนขุนสมุทรจีน จ.สมุทรปราการ ซึ่งมีปัญหาขยะทะเลเป็นอย่างมาก
ภาคเอกชนมีบริษัทพัฒนาอสังหาริม ทรัพย์รายใหญ่ ต้องการนำผลิตภัณฑ์ไปใช้งานในโครงการขนาดยักษ์ที่มีมูลค่าสูง ตลอดจนบริษัทมหาชนอีกหลายบริษัทที่ต้องการทำกิจกรรมเชิงสังคม อีกทั้งชุมชนที่ให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่ใช่เพียงแค่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่แถบชายทะเลเท่านั้น โครงการนี้ยังสามารถขยายผลไปจนถึงชุมชนที่อยู่บนพื้นที่สูง ซึ่งเป็นต้นทางของขยะพลาสติกอีกด้วย อย่างเช่น ชุมชนเมืองจัง จ.น่าน เป็นต้น ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ยังได้นำบล็อกปูพื้นจากขยะทะเลไปทำการปูพื้นจำนวน 60 ตารางเมตร ณ วัดอัมพาราม ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ในโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสัญจร
ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ได้ดำเนินกระบวนการยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญาในส่วนที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการและชุมชน ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือต้องการนำไปต่อยอดขยายผลผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ หน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โทร. 0-2549-3410.