กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2562
กรุงเทพธุรกิจ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์กรมหาชน) หรือ สคช.ร่วมกับ ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สานต่อโครงการมาตรฐานวิชาชีพธุรกิจเสริมสวย ระยะที่ 2 โดยมีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พร้อมหน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมให้ความร่วมมือ เพื่อให้เกิดมาตรฐาน มีความเป็นสากล เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศตามมาตรฐาน ISO 17024
นพดล ปิยะตระภูมิ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สคช.กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพสาขาวิชาชีพ สาขาธุรกิจเสริมสวย ระยะที่ 2 ณ โรงแรมเซ็นทารา ศูนย์ราชการ ศูนย์วายุภักดิ์ กรุงเทพฯ ว่า ที่ผ่านมา สคช. ได้จัดทำมาตรฐานอาชีพไปแล้วกว่า 700 อาชีพ ทั้งในกลุ่มเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และการบริการ ฯลฯ
โดยวิชาชีพธุรกิจเสริมสวยเป็นหนึ่ง ในสาขาการบริการที่เป็นอาชีพแรกขององค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพที่ได้รับมาตรฐาน ISO 17024 และได้จัดทำมาตรฐานอาชีพในเฟสแรกไปแล้ว 2 สาขา คือ ช่างทำผมบุรุษและช่างทำผมสุภาพสตรี ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยมีผู้สนใจร่วมเข้ารับการประเมินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการเดินหน้าต่อยอดการจัดทำมาตรฐานอาชีพธุรกิจเสริมสวยต่อในเฟส 2 นี้ จะมีครอบคลุมเพิ่มอีก อย่างน้อย 5 อาชีพ อาทิ ช่างทำเล็บ ช่างสักเสริมความงาม ช่างแต่งหน้า ครูสอนเสริมสวย และผู้บริหารธุรกิจเสริมสวย ซึ่งจะเป็นการพัฒนายกระดับ ขีดความสามารถของบุคลากรให้มีมาตรฐานในวิชาชีพดังกล่าวเพื่อการ ยอมรับในระดับสากล
โดยปัจจุบันในส่วนของ สคช.ได้พัฒนาเทคโนโลยี และจัดทำ แอพพลิเคชั่น “TPQI” ปักหมุดมืออาชีพ เพื่อความทันสมัยในยุคดิจิทัล และอำนวยความสะดวกให้ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคสามารถค้นหาข้อมูลบุคคลในอาชีพที่เป็น มืออาชีพซึ่งผ่านมาตรฐานการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพได้สะดวกและรวดเร็วขึ้นผ่านการใช้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงการก้าวสู่ความเป็นสากลในการสร้างมาตรฐานวิชาชีพในอาชีพสาขาต่างๆ ของคนไทยว่า “เป็นมืออาชีพ”ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานตามเกณฑ์จาก สคช.
ด้าน รศ.เนตร์พัณณา ยาวิราช ผู้แทนจาก ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ผู้จัดการโครงการมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพฯ ธุรกิจเสริมสวย (ระยะที่ 2) กล่าวว่า การพัฒนากำลังคนให้มี “สมรรถนะ”อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จำเป็นที่จะต้องมีกลไกระบบการวัดที่มี “มาตรฐาน” ซึ่งระบบคุณวุฒิวิชาชีพที่เป็นมาตรฐานสากลจะสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือ เป็นที่ ยอมรับทั้งจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งใน ระดับชาติและนานาชาติ
สำหรับการจัดทำมาตรฐานอาชีพเสริมสวย ระยะที่ 2 นี้นับเป็นโอกาสที่ดีเพราะเป็นครั้งแรกวงการอาชีพในธุรกิจเสริมสวย ที่ได้รวมทีมของผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาอาชีพ ที่มากด้วยประสบการณ์ ซึ่งมีผลงาน และมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ตลอดจนทีมงานวิจัยที่พร้อมให้ ความร่วมมือในการกำหนดมาตรฐานอาชีพในธุรกิจเสริมสวยทุกกระบวนการ เช่น ต้องรู้ว่าช่างทำผม ช่างแต่งหน้า ช่างทำเล็บ ฯลฯ ควรต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ในแต่ละขั้นตอนการให้บริการต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเสริมสวยอย่างครบวงจรให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้วงการธุรกิจเสริมสวยมีความเข้มแข็งและยั่งยืน สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ ตามนโยบายรัฐบาลอีกด้วย