ไทยรัฐ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2562
นักวิจัย มทร.ธัญบุรีกวาด 10 รางวัลใหญ่ งานวิจัยสิ่งประดิษฐ์เวที SIIF ที่ประเทศเกาหลีใต้ ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากสารสกัดจากโปรตีนถั่วหรั่งไฮโดรไลเสท ผลงานพอลิเมอร์ไมโครแคปซูลประสิทธิภาพสูงสำหรับการนำเอนไซม์กลับมาใช้ใหม่ และผลงาน “การย้อมสีธรรมชาติจากฟางข้าวและการพัฒนาลวดลายผ้าขาวม้าเพื่อการแปรรูป ผลิตภัณฑ์สิ่งทอและยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP” รับเหรียญทองและรางวัลพิเศษ อธิการบดีปลื้มพร้อมต่อยอดงานวิจัยเชิงอุตสาหกรรม
นายวิรัช โหตระไวศยะ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เปิดเผยว่า คณะอาจารย์ นักวิจัย นักประดิษฐ์ และนักศึกษาจาก มทร.ธัญบุรี ได้เข้าร่วมประกวดและแสดงนิทรรศการในงาน Seoul International Invention Fair 2019 (SIIF 2019) ที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลีใต้ ปรากฏว่า ผลงานของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยจาก มทร. ธัญบุรี คว้ารางวัลมาได้ถึง 10 รางวัลใหญ่ แบ่งเป็น 3 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง และ 3 รางวัลพิเศษจากทั้งหมด 8 ผลงานวิจัย
รางวัลเหรียญทอง ประกอบด้วย ผลงานเรื่อง “ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากสารสกัดจากโปรตีนถั่วหรั่งไฮโดรไลเสท” ของ ผศ.ดร.กรวินท์วิชญ์ บุญพิสุทธินันท์ วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย และรางวัลพิเศษจาก Patent Office of Cooperation Council for the Arab States of the Gulf กลุ่มประเทศอาหรับ ผลงาน “พอลิเมอร์ไมโครแคปซูลประสิทธิภาพสูงสำหรับการนำเอนไซน์กลับมาใช้ใหม่” ของ ผศ.ดร.อมร ไชยสัตย์ ผศ.ดร.ปรียาภรณ์ ไชยสัตย์ น.ส.จิตญา สาดชัยภูมิ และ ดร.พงศธร ประภักรางกูล คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และรางวัลพิเศษ FIRI AWARD จากประเทศอิหร่าน ผลงาน “การย้อมสีธรรมชาติจากฟางข้าว และการพัฒนาลวดลายผ้าขาวม้าเพื่อการแปรรูป ผลิตภัณฑ์สิ่งทอและยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP” โดยนายกรณัท สุขสวัสดิ์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ รักษาราชการแทนอธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวอีกว่า รางวัลเหรียญเงินจากผลงาน “ผลิตภัณฑ์เจลลดรอยแผลเป็นที่มีส่วนผสมจากสารสกัดว่านเพชรหึง” ของ ผศ.ดร.กรวินท์วิชญ์ บุญพิสุทธินันท์ วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย และผลงาน “อิเล็กทรอ-กรีต : คอนกรีตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากขยะอิเล็กทรอนิกส์” ของ ดร.ประชุม คำพุฒ และ ผศ.ดร.รัฐพล สมนา คณะวิศวกรรมศาสตร์ รางวัลเหรียญทองแดง จากผลงาน “เฟอร์นิเจอร์ขึ้นรูปด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ทางเลือกใหม่” ของ ผศ.ดร.วชิระ แสงรัศมี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และผลงาน “ผลิตภัณฑ์เม็ดบีดส์กะเพรา” ของ ผศ.ดร.อรวัลภ์ อุปถัมภานนท์ น.ส.ธิดารัตน์ ธาราวาสน์ น.ส.อรพรรณ หมีเม่น จากคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ และผลงาน “เครื่องพันขดลวดหม้อแปลงกึ่งอัตโนมัติ” ของ ผศ.ดร.จักรี ศรีนนท์ฉัตร นายนฤพล กลิ่นนิ่มนวล นายธนพล อินอ่อน นายศรัณย์พร ศรีตระกูลไพศาล นายทศพล แก้วรากมุข จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้รับเหรียญรางวัลจาก King Abdulaziz University ประเทศซาอุดีอาระเบีย
นายวิรัชกล่าวอีกว่า เป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจ มากที่ผลงานวิจัยของอาจารย์ มทร.ธัญบุรี ได้รับรางวัลในครั้งนี้ โดยเฉพาะผลงานจากวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย ได้รับความสนใจจากนักธุรกิจและภาคเอกชนเป็นอย่างมาก รวมถึงงานวิจัยชิ้นอื่นได้รับความสนใจถูกขอซื้อผลงานไปต่อยอดเชิงอุตสาหกรรม ในส่วนของ มทร.ธัญบุรี พร้อมจะผลักดัน ให้งานวิจัยของอาจารย์ออกสู่เวทีโลกให้มากยิ่งขึ้น ถือเป็นการสร้างชื่อเสียง สร้างความเชื่อมั่นและศักยภาพของมหาวิทยาลัย เพื่อก้าวสู่ Innovative University หรือมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม ทั้งยังช่วยส่งเสริมภาคการผลิตของไทยให้สามารถขายงานวิจัยในระดับโลกได้มากขึ้น
ด้าน น.ส.วารุณี อริยวิริยะนันท์ ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า ถือเป็นเวทีใหญ่ที่มีผลงานวิจัยกว่า 400 ผลงาน จากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก อาทิ จีน โปแลนด์ รัสเซีย เกาหลี ซาอุดีอาระเบีย ไต้หวัน มาเลเซีย เป็นต้น การพิจารณาให้คะแนนจะมีคณะกรรมการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ในแต่ละด้าน หากผลงานวิจัยใดผ่านเกณฑ์ตามที่กำหนดจะได้รับรางวัลเหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง และรางวัลพิเศษ น้อยมากที่จะมีผลงานวิจัยที่ได้รับทั้งเหรียญรางวัลและรางวัลพิเศษ เป็นที่น่ายินดีที่ผลงานวิจัยของ มทร.ธัญบุรี ที่ส่งเข้าร่วมการแข่งขัน ครั้งนี้ นอกจากกวาดมาได้ 7 เหรียญรางวัลแล้ว ยังได้รับรางวัลพิเศษเพิ่มอีกถึง 3 รางวัล ทั้งนี้ การเข้าร่วมการแข่งขันของ มทร.ธัญบุรี ถือว่าประสบความสำเร็จในเวทีระดับโลก กวาดรางวัลมาได้มากมาย ในขณะที่ผลงานวิจัยของหลายๆประเทศ หรือประมาณ 25% จากผลงานทั้งหมด ไม่ได้รับรางวัลใดๆติดมือ งานวิจัยทุกชิ้นของ มทร.ธัญบุรี นอกจากนำไปต่อยอด ภาคอุตสาหกรรมได้แล้ว ยังเป็นงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อชุมชนด้วย