คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562
กว่า 10 ปี ในธุรกิจพลังงาน แสงอาทิตย์ ออกแบบและให้บริการจ่ายไฟฟ้าให้แก่ภาคเอกชน ภาคธุรกิจในพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าหรือเข้าไม่ถึง จนกระทั่งขยายธุรกิจสู่สาธารณูปโภค การวางท่อร้อยสายไฟฟ้าลงสู่ใต้ดิน การวางท่อประปา การระบายน้ำเสีย การขุดเจาะอุโมงค์ ไม่น่าเชื่อว่า จากเด็กที่กู้ยืมกองทุนเพื่อการศึกษา (กยศ.) จะมาไกลได้ถึงเป็นเจ้าของธุรกิจหลักพันล้าน
“ป๋อง” นิรุตติ นิลแก้ว วิศวกรวัย 41 ปี กรรมการผู้จัดการ บจก. เอ็นอาร์ที เซลส์แอนด์เซอร์วิส เชี่ยวชาญและประกอบธุรกิจเกี่ยวกับแบตเตอรี่ ระบบพลังงานทดแทน และการวางท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน ที่ผ่านงานรับจ้างเดินสายไฟ ติดตั้งและล้างแอร์ ทำงานหารายได้ระหว่างเรียน เป็นนักกีฬาฟุตบอลระดับจังหวัด มีเบี้ยเลี้ยงนักกีฬาและค่าฝึกซ้อม มาเป็นค่าใช้จ่ายไปพร้อมกับการกู้กยศ.
ก่อนจะมาก้าวสู่ กรรมการผู้จัดการ บจก. เอ็นอาร์ที เซลส์แอนด์เซอร์วิส ที่จับธุรกิจพันล้านนั้น ชีวิต ‘นิรุตติ’ ผ่านหลายเรื่องราว ทำงานหารายได้ระหว่างเรียน ด้วยการรับจ้างเดินสายไฟ ติดตั้งและล้างแอร์ และอาศัยเบี้ยเลี้ยงนักกีฬาและค่าฝึกซ้อม มาเป็นค่าใช้จ่ายต่อมื้อ จากการเป็นนักกีฬาฟุตบอลระดับจังหวัด รวมถึงการกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อส่งตัวเองให้ถึงฝั่งฝัน
“ป๋อง” เป็นคน อ.สอง จังหวัดแพร่ จบการศึกษาระดับ ปวช. ด้านไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยเทคนิคลำปาง และได้โควตาศึกษาต่อที่ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคพายัพ และได้มาศึกษาที่ ศูนย์กลางสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ปัจจุบันก็คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี รวมถึงศึกษาต่อจนจบปริญญาโท ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและกำลังเรียนปริญญาเอก ขณะที่กำลังเรียนปริญญาตรีเทอมสุดท้าย บริษัท เอฟ ดี เค (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของฟูจิตสึ กรุ๊ป และผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และแบตเตอรี่ระดับโลก จากประเทศญี่ปุ่น เข้ามาสัมภาษณ์และกำลังหาคนไปร่วมงานด้วย และ “ป๋อง” ได้ทำงานทันทีก่อนที่จะเรียนจบ และต่อเนื่องจากนั้นอีก 4 ปีกว่า ถือเป็นคนแรกๆ ในกลุ่มราชมงคลที่ได้ไปทำงานที่นั่น และสร้างความเชื่อมั่นในสถาบัน พร้อมกับชักชวนเพื่อนอีก 10 กว่าคน ไปทำงานด้วยกัน
“จากนั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง (พี่สมศักดิ์) ลาออกเพื่อมาทำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตแบตเตอรี่แห้ง เลยชวนให้ผมมาเป็นผู้จัดการโรงงาน ต่อมาเราก็อยากขยับขยายและสร้างโอกาสให้กับตนเอง และถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของการเริ่มต้นธุรกิจ ได้ใช้วิชาความรู้และประสบการณ์ทั้งหมดมาทำธุรกิจเกี่ยวกับแบตเตอรี่ ทั้งยังเริ่มนำเข้ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมกับต่อยอดจากความสนใจด้าน พลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ และเติบโตมาเรื่อยมากระทั่งวันนี้เป็นเวลา 14 ปีมาแล้ว”
“ป๋อง” เล่าว่า วิชาชีพวิศวกรรม ศาสตร์สำคัญ ต้องใช้ทักษะการคิดแบบมีเหตุผล ใช้การคำนวณ ใช้ทักษะการแก้ปัญหาร่วมด้วย แต่หากว่าได้รับการส่งเสริมในเรื่องการบริหารจัดการ ความเป็นผู้นำ ภาษาและการสื่อสารทางธุรกิจ รวมถึงเรื่องการตลาด จะก้าวสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการได้ทันที
ขณะเดียวกันสิ่งหนึ่งที่เขาทำมาตลอดคือ “ถ้าเราก้าวหน้าหรือประสบความสำเร็จขั้นหนึ่งแล้ว เราควรจะกลับบ้าน ไปพัฒนาบ้านของตนการพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนของเรา ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องทำมากหรือทำน้อยประการใด แต่ขอให้กลับมาบ้าน พัฒนาบ้านของเราให้ดียิ่งขึ้น” ปัจจุบัน บจก. เอ็นอาร์ที เซลส์แอนด์เซอร์วิส จึงเป็นสถานที่ฝึกงานให้แก่นักศึกษา ล่าสุดช่วยปรับปรุงห้องปฏิบัติการให้กับภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า เพราะมองว่าสภาพแวดล้อมยิ่งดีจะเอื้อต่อการศึกษาเล่าเรียนมากเท่านั้น และซื้อที่ดินเพิ่มเติมให้แก่โรงพยาบาลสอง อ.สอง จ.แพร่ 28.5 ไร่ เพื่อรองรับการพัฒนาและสังคมผู้สูงวัยต่อไปใน อนาคต
จากความมุ่งมั่นทั้งด้านการศึกษา การทำงาน และการแบ่งปันสังคม รวมถึงความมานะ บวกกับประสบการณ์ทางธุรกิจ ทำให้เขาก้าวสู่จุดมุ่งหมายในชีวิตและเป็นต้นแบบที่ดีแก่คนรุ่นใหม่ต่อไปได้ โดยเฉพาะหลักคิดที่ว่า “ความเจริญของคนเราจะเกิดขึ้นได้ ก็เพราะความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ”