ไทยรัฐ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562
ยกระดับหน่อไม้ดองปี๊บสู่ผลิตภัณฑ์สุญญากาศ เพิ่มมูลค่าให้สินค้าโอทอป
ดร.อารณี โชติโก อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า จังหวัดปราจีนบุรี เป็นจังหวัดที่มีการปลูกไผ่มากที่สุดในประเทศและมีหน่อไม้ที่อร่อยรสชาติและคุณภาพที่โดดเด่น ซึ่งเป็นผลิตผลทางการเกษตรแบบฤดูกาล กล่าวคือจะมีมากจนล้นตลาดราคาตกต่ำในช่วงฤดูฝน และปลูกขึ้นยากมากในฤดูแล้ง จึงทำให้หน่อไม้ถูกนำมาแปรรูปเพื่อให้สามารถเก็บได้นานขึ้นเพื่อให้มีไว้บริโภคได้ตลอดทั้งปีด้วยเหตุนี้เกษตรกรในพื้นที่จึงนิยมนำหน่อไม้มาหมักดองด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้าน เพื่อเพิ่มมูลค่าและสามารถสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรแม้ว่าการดองหน่อไม้จะเป็นภูมิปัญญาที่สานต่อกันมารุ่นสู่รุ่นแต่ยังคงมีอุปสรรคที่ทำให้หน่อไม้ดองที่ทำนั้นขายได้ในราคาที่ไม่สูงนักเนื่องจากปริมาณวัตถุดิบไม่แน่นอน คุณภาพไม่สม่ำเสมอ และในเรื่องของความปลอดภัยทำให้ผู้บริโภคไม่มั่นใจในสินค้าดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมการดองและเก็บรักษาในบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม มีคุณภาพ มีมาตรฐาน และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคยิ่งขึ้นคณะนักวิจัยของ มทร.ธัญบุรี ประกอบด้วยตน ผศ.ดร.สมพงศ์ แสนเสนยา อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผศ.ดร.ปาลิดา ตั้งอนุรัตน์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร และ ดร.ปพนพัชร์ ภัทรฐิติวัสส์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ จึงได้ร่วมกันบูรณาการข้ามศาสตร์วิจัยเพื่อพัฒนา และยกระดับหน่อไม้ดองปี๊บสู่หน่อไม้ดองแบบบรรจุสุญญากาศ
ดร.อารณีกล่าวอีกว่าการพัฒนาและยกระดับหน่อไม้ดองปี๊บสู่หน่อไม้ดองแบบบรรจุสุญญากาศจะทำใน 4 ส่วน คือ 1.การวิเคราะห์สารปนเปื้อนและสารเจือปนในหน่อไม้สดและผลิตภัณฑ์จากหน่อไม้ 2.การใช้กล้าเชื้อแบคทีเรียกรดแลคติกเพื่อยกระดับคุณภาพการผลิตหน่อไม้ดอง 3.การศึกษาอุณหภูมิและเวลาที่เหมาะสมในการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนของผลิตภัณฑ์หน่อไม้ดอง และ 4.การประเมินและทำนายอายุการเก็บรักษาของผลิตภัณฑ์หน่อไม้ดองภายใต้สภาวะต่างๆ ซึ่งหลังจากคณะนักวิจัยได้เข้าไปส่งเสริมองค์ความรู้ในเรื่องดังกล่าวให้กับชาวบ้านเดิมนั้นหน่อไม้ดองที่เกษตรกรผลิตจะขายทั่วไปกิโลกรัมละ 17-20 บาท แต่หลังจากได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวแล้วเพิ่มราคาหน่อไม้ดองได้สูงถึงกิโลกรัมละ 70-80 บาท โดยมีการพัฒนาเรื่องกระบวนการดองการฆ่าเชื้อการบรรจุภัณฑ์และชูจุดขายเรื่องความสะอาดปลอดภัยและไม่มีวัตถุกันเสียผลลัพธ์ของโครงการวิจัยนี้เกิดจากการบูรณาการศาสตร์และการทำงานร่วมกันของคณาจารย์จาก 3 คณะความสำเร็จนี้เป็นทิศทางที่ดีที่จะพัฒนางานวิจัยเชิงบูรณาการแบบนี้ได้อีกในอนาคต
ด้าน ดร.ปพนพัชร์กล่าวว่า การพัฒนาและยกระดับหน่อไม้ดองปี๊บสู่หน่อไม้ดองแบบบรรจุสุญญากาศทำให้เกิดองค์ความรู้สำคัญในการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าโอทอปเกี่ยวกับไผ่ รวมถึงจากการลงพื้นที่ก็ได้รับความสนใจที่ดีจากเกษตรกรและผู้ประกอบการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงไผ่ใหญ่ จ.ปราจีนบุรี เป็นงานวิจัยที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ในรูปแบบบริการวิชาการให้กับกลุ่มเกษตรกร เพื่อนำไปใช้สำหรับการลดปริมาณสารพิษในหน่อไม้และการพัฒนากระบวนการผลิตที่ดี สร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์หน่อไม้ที่ปราศจากสารพิษ.