สยามรัฐ ฉบับวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562
อีกหนึ่งชิ้นงานการวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)ธัญบุรี ที่นำวัสดุเหลือทิ้งในชุมชน มาสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือทิ้ง กลายเป็น “กระดาษจากใบไผ่”
ผลงาน อาจารย์กรณัท สุขสวัสดิ์ สาขาวิชาการออกแบบแฟชั่น และเครื่องแต่งกาย คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ภายใต้โครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไผ่ เพื่อการแปรรูปผลิตภัณฑ์ของใช้ ของที่ระลึก เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP จังหวัดปราจีนบุรี โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.)
อาจารย์กรณัท เล่าว่า จากการลงพื้นที่ ศูนย์การเรียนรู้หัตถกรรมไม้ไผ่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพสหแสงชัยเสื่อ จังหวัดปราจีนบุรี ผลิตภัณฑ์เสื่อลำแพน ผลิตภัณฑ์จากตอกไม้ไผ่ เช่น ตะกร้ากระจาด ส่วนใหญ่นำส่วนของต้นไผ่มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ เหลือส่วนของใบที่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ จึงนำวัสดุเหลือทิ้ง “ใบไผ่” มาสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์กระดาษจากใบไผ่ต่อยอด แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ
ขั้นตอนในการผลิตกระดาษจากใบไผ่ คัดเลือกใบไผ่ที่จะนำมาทำเป็นกระดาษ ควรเป็นใบไผ่ที่สะอาด (ใช้ได้ทั้งใบสดและใบแห้ง) ซึ่งใบไผ่ 1 กิโลกรัมทำเป็นกระดาษได้ 2-3 แผ่น (ขนาด60 x 80 เซนติเมตร)
นำใบไผ่ใส่หม้อต้ม ควรใส่น้ำให้ท่วมใบไผ่ นำโซดาไฟละลายน้ำใส่ลงในหม้อต้ม ต้มน้ำให้เดือดและรักษาอุณห ภูมิ2-3 ชั่วโมง หรือรอดูจนใบไผ่ที่ต้มเปื่อยยุ่ยหรือฉีกตัว ออกจากกัน ช้อนเอาใบไผ่ที่ต้มได้ที่มาล้างน้ำเปล่า เพื่อให้สารโซดาไฟสลายตัวจากใบไผ่ (น้ำที่ได้จากหลังการต้มสามารถนำไปใช้ต้มในครั้งต่อไปได้)
เมื่อได้เนื้อใบไผ่ที่ต้มและล้างแล้วให้นำมาปั่นด้วยเครื่องปั่น นำเนื้อเยื่อใบไผ่ที่ปั่นแล้วไปลงอ่างช้อนกระดาษ ผสมกับน้ำสะอาด เมื่อช้อนเนื้อเยื่อด้วยเฟรมแล้วให้นำตากแดดประมาณ 1 วัน โดยต้องเป็นอุณหภูมิแดดที่สม่ำเสมอ
สำหรับ กระดาษจากใบไผ่ สามารถนำไปต่อยอดแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่นกระดาษห่อของขวัญ ปกหนังสือ กระเป๋าโคมไฟ ผลิตภัณฑ์ใส่อาหาร สร้างอาชีพสร้างรายได้ ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบและเป็นทางเลือกให้กับกลุ่ม OTOP ที่มีความสนใจ เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาไทยจากวัสดุเหลือใช้ในชุมชน ช่วยลดปัญหาการว่างงานในชนบท
อีกทั้งยังส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงโดยกระดาษจากใบไผ่ 1 แผ่น ราคา 15 บาท ผู้สนใจกระดาษจากใบไผ่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 08-5675-6415