ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562
อีกหนึ่งชิ้นงานวิจัยที่นำวัสดุเหลือทิ้งในชุมชนมาสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม นั่นก็คือ “กระดาษจากใบไผ่” ผลงานอาจารย์กรณัท สุขสวัสดิ์ สาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ภายใต้โครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากใบไผ่เพื่อการแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นของใช้และของที่ระลึก ทั้งนี้เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์โอท็อป จังหวัดปราจีนบุรี โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
อ.กรณัทเปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้หัตถกรรมไม้ไผ่ ก่อตั้งโดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสหแสงชัยเสื่อ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งมีเป็นผลิตภัณฑ์จากตอกไม้ไผ่ เช่น ตะกร้า กระจาด โดยใช้ประโยชน์จากใบต้นไผ่มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ขั้นตอนในการผลิตกระดาษจากใบไผ่ คัดเลือกใบไผ่สะอาด ใช้ได้ทั้งใบไผ่สดและแห้ง ซึ่งใบไผ่ 1 กิโลกรัม ทำเป็นกระดาษขนาด 60×80 เซนติเมตร ได้ 2-3 แผ่น แล้วนำใบไผ่ใส่หม้อต้ม ใส่น้ำให้ท่วมใบไผ่ นำโซดาไฟละลายน้ำใส่ในหม้อแล้วต้มน้ำให้เดือดและรักษาอุณหภูมิ 2-3 ชั่วโมง หรือรอดูจนใบไผ่เปื่อยยุ่ยหรือฉีกตัวออกจากกัน ช้อนเอาใบไผ่ที่ต้มได้ที่มาล้างน้ำเปล่า เพื่อให้สารโซดาไฟสลายตัวจากใบไผ่ (น้ำที่ได้จากหลังการต้มสามารถนำไปใช้ต้มในครั้งต่อไปได้) เมื่อได้เนื้อใบไผ่ที่ต้มและล้างแล้วให้นำมาปั่นด้วยเครื่องปั่น นำเนื้อเยื่อใบไผ่ที่ปั่นแล้วไปลงอ่างช้อนกระดาษ ผสมกับน้ำสะอาด เมื่อช้อนเนื้อเยื่อด้วยเฟรมแล้วให้นำไปตากแดดประมาณ 1 วัน โดยต้องเป็นอุณหภูมิแสงแดดที่สม่ำเสมอ
สำหรับ กระดาษจากใบไผ่สามารถนำไปต่อยอดแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กระดาษห่อของขวัญ ปกหนังสือ กระเป๋า โคมไฟ ผลิตภัณฑ์ใส่อาหาร สร้างอาชีพสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบให้แก่กลุ่มโอท็อป เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาไทยจากวัสดุเหลือใช้ในชุมชน กระดาษจากใบไผ่ 1 แผ่น ราคา 15 บาท ผู้สนใจกระดาษจากใบไผ่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 08-5675-6415.