ไทยรัฐ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2562
นายวิรัช โหตระไวศยะ รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่า ตามที่ มทร.ธัญบุรี ดำเนินนโยบายในการผลักดันงานวิจัยของนักวิจัยให้สามารถนำไปพัฒนาและต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ อีกทั้งงานวิจัยได้มีการจัดอนุสิทธิบัตรในชื่อของมหาวิทยาลัยรวมถึงทางสถาบันวิจัยและพัฒนาได้มีการนำผลงานไปแสดงนิทรรศการตามเวทีต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนได้รับความสนใจจากบริษัทเอกชนเป็นจำนวนมากนั้น ล่าสุดได้มีบริษัทเอกชน 5 แห่งลงนามขออนุญาตใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัย จำนวน 6 รายการ แบ่งออกเป็นประเภทอนุสิทธิบัตร 4 รายการ และเครื่องหมายการค้า 2 รายการ ได้แก่ ประเภทอนุสิทธิบัตร ผลงานวิจัยสูตรและกรรมวิธีการสกัดสารจากตำรับสมุนไพรสำหรับบำรุงเส้นผม เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และอาหารเสริม, ประเภทอนุสิทธิบัตร ผลงานวิจัย สารสกัดเงาะสีชมพูสำหรับใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ยา เครื่องสำอางและอาหารเสริม, ประเภทอนุสิทธิบัตร ผลงานวิจัย อุปกรณ์ระบายความร้อนของคอยล์ร้อน โดยใช้น้ำที่กลั่นจากกระบวนการควบแน่นที่คอยล์เย็น, ประเภทอนุสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ผลงานวิจัยวิธีการเตรียมฟองอากาศขนาดเล็กในน้ำเพื่อใช้เพิ่มประสิทธิภาพการเร่งปฏิกิริยาโดยใช้แสง และผลงานวิจัยน้ำแร่บำรุงผิวหน้า และประเภทเครื่องหมายการค้า ผลงานวิจัยน้ำแร่บำรุงผิวหน้า
นายวิรัช กล่าวต่อว่า การลงนามในครั้งนี้สามารถสร้างรายได้ให้กับมหาวิทยาลัยกว่า 1 ล้านบาท และเมื่อบริษัทพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ออกจำหน่าย มทร.ธัญบุรีจะได้รับส่วนแบ่ง 2% จากยอดขาย เป็นระยะเวลา 2-3 ปี แล้วแต่ตามข้อตกลงของแต่ละบริษัท อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีงานวิจัยและนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่ทางมหาวิทยาลัยผลักดันและยกระดับศักยภาพการวิจัยมุ่งเป้าที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์พร้อมใช้อีกจำนวนมาก.