สยามรัฐ ฉบับวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2562
“การศึกษาเป็นเครื่องมือที่ยิ่งใหญ่ในการพัฒนาตนเอง การศึกษาช่วยให้ลูกชาวนาเติบโตขึ้นเป็นหมอได้ ลูกกรรมกรเหมืองแร่ เป็นหัวหน้าเหมืองลูกชาวสวนชาวไร่ เป็นประธานาธิบดีของประเทศที่ยิ่งใหญ่ได้”
คำกล่าวสำคัญของ “เนลสัน แมนเดลา” ประธานาธิบดีผิวดำคนแรก ของประเทศแอฟริกาใต้
“การศึกษา” เป็นเครื่องมือพัฒนาคนและพัฒนาชาติที่สำคัญในทุกประเทศ ทว่าในบ้านเรา ประชาชนทุกผู้คนกลับไม่สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาเพื่อพัฒนาตนเองได้อย่างเท่าเทียม โดยทุกปีเยาวชนจากครอบครัวยากจนต่ำสุดของประเทศไทยราว 1 แสนคน มีเพียงกว่า5,000 พันคนที่ได้รับโอกาสศึกษาต่อสูงกว่ามัธยมปลาย
หลังการบังคับใช้พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาในเดือนพฤษภาคม 2561 “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” หรือ กสศ.จึงเปิดตัวโครงการ ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง เพื่อเข้าช่วยเหลือเยาวชนผู้มีศักยภาพแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้ได้ศึกษาต่อในระดับ ปวช. และ ปวส. ในสาขาที่สนใจในกว่า 30 สาขาวิชาที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
จากการคัดเลือกทั้งสถานศึกษาต้นแบบและลงพื้นที่ค้นหา เข้าถึง เยาวชนผู้รับทุนอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงจัดงาน”ปลุกพลัง สร้างโอกาสแห่งอนาคต กับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” ที่อิมแพ็คเมืองทองธานี เพื่อเปิดเผยผู้รับทุนจำนวน 2,053 คน จาก 36 สถาบัน 26 จังหวัด ครอบคลุมทั้ง 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ และเพื่อวางแนวทางในการติดตามผลร่วมกันต่อไป โดยมีผู้นำนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่นที่ 1 และผู้บริหาร ครูอาจารย์ จากสถานศึกษาสายอาชีพ จำนวน36 แห่ง เข้าร่วมกว่า 300 คน
“นางสาวธรรมชาติ แสนซิว” ผู้ได้รับทุนศึกษาต่อระดับ ปวส. สาขาสัตวศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชัยภูมิ เล่าว่า แม้ครอบครัวยากจนแต่เธอมีความใฝ่ฝันที่จะเรียนต่อระดับสูงเหมือนเพื่อนนักเรียนคนอื่นๆ ซึ่งหากขาดทุนการศึกษา เธอจะไม่มีโอกาสได้ศึกษาต่ออย่างแน่นอน
“ตอน ม.6 หนูไม่มีเงินแม้จะไปสมัครสอบ แต่หาข้อมูลว่าที่ไหนค่าสมัครสอบถูกที่สุด แล้วก็ยืมเงินยาย 200 บาท ไปสมัครหนูสอบได้ที่ 17 จาก 200 คน แต่วันรายงานตัวต้องมีเงินเป็นหมื่น หนูไปไม่ได้จน ผอ.โรงเรียนโทรมาบอกว่า ถ้าอยากเรียนยังมีอีกทาง มีทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง หนูก็เข้าไปดู เหมือนแสงสว่างในชีวิตเลย มาทันเวลา” นางสาวธรรมชาติกล่าว
ที่ผ่านมาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างสูงในสังคมไทย และได้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนมาแล้วหลายทศวรรษ ตั้งแต่ปี 2539 ประเทศไทยจึงมีนโยบายกระจายโอกาสการศึกษาด้วยสิทธิเรียนฟรี 12 ปี เพื่อให้ประชากรไทยมีการศึกษาที่สูงขึ้น ซึ่งได้ส่งผลให้อัตราการเข้าศึกษาต่อระดับมัธยมปลายสูงขึ้นอย่างชัดเจน และการเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีก็ขยับขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตามเมื่อการวิเคราะห์ลงในรายละเอียดถึงผู้มีโอกาสศึกษาต่อระดับสูง โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกลับพบว่าเด็กจากครอบครัวรวยแรกสุด ร้อยละ 10 ของประเทศ มีอัตราการเข้าเรียนปริญญาตรีสูงถึง 65.8 ขณะที่เด็กจากครัวเรือนที่ยากจนต่ำสุด ร้อยละ 10 มีอัตราเพียง 4.2 หรือไม่ถึงร้อยละ 5 และในระดับยากจนรองลงมาร้อยละ10มีโอกาสเพียงร้อยละ11.1 เท่านั้น
เมื่อใดที่พ้นจากนโยบายความช่วยเหลือขั้นพื้นฐานของรัฐ สู่การศึกษาระดับสูง ปัญหาสังคมและความยากจนจึงพร้อมถั่งถม ฉุดนกน้อยที่บินต่ำอยู่แล้วให้ร่วงหล่นสู่พื้นกลับสู่วังวนแห่งความยากจนที่เขาและเธอจำเป็นต้องส่งต่อให้ลูกหลานต่อไป
“ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ประธานกรรมการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษาจำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือ ไม่อาจปล่อยให้เป็นช่องว่างที่จะขยายกว้างต่อไปได้ เพราะการศึกษาเป็นเครื่องมือที่จะช่วยแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และการพัฒนาประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดักการพัฒนา แข่งขันกับนานาประเทศได้ จำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถด้วยการพัฒนาคุณภาพคน ทักษะฝีมือแรงงาน ซึ่งหากยังมีเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาตั้งแต่ระดับก่อนมัธยมต้นและการศึกษาขั้นสูงจำนวนมากความสำเร็จนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้น
“ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของกสศ. เป็นการลงทุน เพื่อช่วยเหลือเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์แต่มีศักยภาพ ให้มีโอกาสเรียนต่อสายอาชีพชั้นสูงและมีงานทำทันที เมื่อจบการศึกษา เป็นแรงงานที่ประเทศต้องการ จึงจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำอันเป็นรากเหง้าของปัญหาอื่นๆโดยเฉพาะความยากจน ซึ่งหากแก้ไม่ได้จะส่งข้ามจากพ่อแม่สู่รุ่นลูก”
ดร.ประสาร ยังกล่าวต่อว่า สถานศึกษาสายอาชีพที่เข้าร่วมโครงการ ฯ ได้มีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้วยการสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ และภาคเอกชนอย่างเป็นระบบ จึงยิ่งเป็นโอกาสของผู้เรียนที่จะได้พัฒนาทั้งทักษะการทำงาน การใช้ชีวิต และภาษา ทั้งหมดเหล่านี้จะช่วยแก้ไขปัญหา Skill Mismatch (ช่องว่างระหว่างความสามารถ ของปัจเจกบุคคลกับงานที่ทำ) อันเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย
“ผมยกตัวอย่าง ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีชลบุรี ระดับ ปวส. สาขาระบบขนส่งราง สาขาบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าและสาขาเทคนิคเครื่องกลในระบบขนส่งทางรางมีโครงการความร่วมมือกับวิทยาลัยเทคโนโลยีอาชีวศึกษาทางรถไฟหลิ่วโจว(Liuzhou Railway Vocational Technical College) ประเทศจีน ผู้เรียนได้รับวุฒิการศึกษาจากทั้ง 2 สถาบัน ตรงนี้เป็นตัวอย่างความสำคัญในสาขาการเรียนที่ไม่เพียงจะพัฒนาประเทศไทย แต่จะขับเคลื่อนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ดร.ประสาร กล่าว
“นายนาถวัฒน์ ลิ้มสกุล” ได้รับทุนศึกษาต่อเนื่อง 5 ปี (ปวช- ปวส) แผนกการโรงแรมและการท่องเที่ยว วิทยาลัยเทคนิคพังงา กล่าวว่า เชื่อมั่นในศักยภาพและความสามารถของตนเองที่จะสามารถเรียนจบออกมาเป็นคนที่มีคุณภาพ ความยากจนทำให้ได้เรียนรู้ถึงการใช้เงินอย่างคุ้มค่า ซึ่งจะทำให้สามารถประคับประคองตนเองได้
“ผมเรียนท่องเที่ยว เพราะอยากให้นักท่องเที่ยวมีประสบการณ์ที่ดีกับประเทศไทย อยากให้เขาเก็บเกี่ยวสิ่งดีๆ ให้ได้มากที่สุด แต่หากไม่ได้เป็นมัคคุเทศก์ ผมก็อยากนำความรู้ที่ได้เรียนไปบอกต่อให้เป็นประโยชน์กับสังคม เพราะทุนนี้ผมได้มาจากสังคม” นายนาถวัฒน์ กล่าว
ด้าน “นายทิด แสนองค์” นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพรุ่นที่ 1 สาขาช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ กล่าวว่า เขาดีใจอย่างมากที่ได้รับโอกาสครั้งนี้ เพราะมีความฝันที่จะสร้างเครื่องบินโดยสารสัญชาติไทยลำแรก แต่ความยากจนจนที่บ้านไม่มีไฟฟ้าใช้ได้บั่นทอนกำลังใจ จนเขาเกือบจะตัดอนาคตทางการศึกษาของตนเอง
“ทุกวันนี้ผมตื่นเช้ามาพร้อมกับกำลังใจ พลังกายและใจเต็มเปี่ยมที่จะออกไปเรียน เครื่องบินลำใหญ่ไม่ได้อยู่บนฟ้าแล้วแต่จอดอยู่ที่ห้องเรียนของผม จากเรื่องไกลตัว วันนี้ผมได้สัมผัส ได้เรียนรู้เกี่ยวกับมันทุกวัน ผมจะทำตามความฝันให้เป็นจริงให้ได้” นายทิด กล่าว
ขณะที่ “ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ”อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี หรือ ดร.จากกองขยะ กล่าวให้แรงบันดาลใจแก่ผู้รับ ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่นที่ 1 ว่าโอกาสทางการศึกษาเพียงครั้งเดียว เมื่อทำอย่างดีที่สุดได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญในชีวิตของทั้งตนเอง และครอบครัวเปลี่ยนเด็กเร่ร่อน ทำงานผิดกฎหมายและเก็บขยะให้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ด้านวิศวกรรมศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่น
“ผมใช้เวลากว่า 30 ปี เพื่อกลับมาบอกว่าโอกาสที่ได้รับทำให้ผมเติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพขึ้นมาได้อย่างไร เพื่อกลับมาบอก ทำให้เห็นว่าความลำบากความยากจนไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของเรา ต่อให้ไม่มีก็ต้องหาให้ได้ทำให้ได้ ทำจนได้” ดร.กุลชาติ กล่าว
สำหรับ “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่นที่ 1” มีผู้รับทุนในประเภทประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ต่อเนื่อง ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)/อนุปริญญา(ทุน 5 ปี) จำนวน 922 ทุน และประเภทปวส./อนุปริญญา (ทุน 2 ปี) จำนวน 1,131 ทุน เข้าศึกษาต่อใน 30 สาขาวิชาขาดแคลนและเป็นที่ต้องการของประเทศ โดยสาขาวิชาวิชาที่มีจำนวนผู้รับทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สาขาเครื่องกล จำนวน286 ทุน สาขาเกษตรศาสตร์ จำนวน 220 ทุน สาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรมจำนวน 200 ทุน สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จำนวน 163 ทุนและสาขาไฟฟ้า จำนวน 161 ทุน
นับเป็นอีกหนึ่งความพยายามของมาตรการด้านการศึกษาที่จะได้เข้าไปหยุดยั้งวงจรของความยากจน พัฒนาคุณภาพฝีมือแรงงานไทย ซึ่งคาดหวังผลได้อย่างเป็นรูปธรรมในเวลาไม่นานนับจากนี้