ข่าวสด ฉบับวันที่ 02 กรกฎาคม พ.ศ. 2562
ใช้สมองกลอัจฉริยะจัดการระบบไฟในบ้าน
รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ ภูมิกิตติพิชญ์ ผอ.บัณฑิตศึกษา และอาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวถึงผลงานบ้านปราชญ์เปรื่องด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือแนวคิดบ้านอัจฉริยะแบบใหม่นั้นว่า ผลงานดังกล่าวได้รับทุนวิจัยจากโครงการขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนจากเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ในหัวข้อวิจัยเรื่อง “บ้านไร้เบรกเกอร์ 4.0 ปฏิวัติอุตสาหกรรมการใช้ไฟฟ้าและการป้องกันภัย”
รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์กล่าวต่อว่า สำหรับบ้านปราชญ์เปรื่องด้วยปัญญาประดิษฐ์เป็นการสร้างตัวบ้านให้เป็นอัจฉริยะ มีการติดตั้งตู้รวมไฟฟ้าอัจฉริยะ ซึ่งเคยพัฒนาไปก่อนหน้านี้มาต่อยอด แต่งานวิจัยครั้งนี้จะยกระดับไปอีกขั้น ให้เป็นตู้รวมไฟฟ้าสมองกลอัจฉริยะทำหน้าที่คล้ายซีพียูหลักของบ้าน จับตัวคลื่นไฟฟ้าโดยตรง ควบคุม ป้องกัน และจัดการไฟฟ้าที่จ่ายไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้า ทำให้การจัดการเครื่องใช้ไฟฟ้าและการใช้ไฟฟ้าเป็นไปอย่างปลอดภัยเหนือกว่าบ้านอัจฉริยะที่สามารถสั่งงานอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่ระบบใหม่นี้จะเพิ่มเรื่องความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้าเข้าไปด้วย โดยตู้รวมไฟฟ้าสมองกลอัจฉริยะนี้จะเก็บข้อมูลของใช้พลังงานไว้ในระบบคลาวด์ เพื่อนำมาสังเคราะห์ ตรวจจับการใช้ไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ปลั๊กและอื่นๆ ช่วยให้เจ้าของบ้านสามารถนำข้อมูลที่ได้มาลดการใช้พลังงาน นอกจากนี้ระบบยังช่วยให้สามารถเห็นถึงความผิดปกติของการใช้ไฟฟ้า ป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดจากการใช้ไฟได้ และการออกแบบระบบปฏิบัติการบนตู้รวมไฟฟ้าที่เป็นสมองของบ้าน ทำให้สามารถเพิ่มเติมเครื่องใช้ไฟฟ้าได้โดยไม่กระทบต่อการใช้งานแอพพลิเคชั่นบนเครื่องมือสื่อสารของผู้ใช้ไฟฟ้าแต่อย่างใด
รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีการทำต้นแบบบ้านปราชญ์เปรื่องด้วยปัญญาประดิษฐ์ จำนวน 58 หลัง โดยใช้ในบ้านที่ความแตกต่างทั้งฐานะและแบบบ้าน ตามข้อตกลงของการขอทุนวิจัย เพื่อให้เกิดความหลากหลายของข้อมูลที่จะได้รับ เป็นการศึกษาที่จะพัฒนาต่อยอดบ้านต่างๆ ไปสู่การเป็น Internet of Things (IoT) ที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ สามารถเชื่อมโยงหรือส่งข้อมูลถึงกันได้ด้วยอินเตอร์เน็ต โดยไม่ต้องป้อนข้อมูล เพราะประเทศไทยจะต้องก้าวเข้าสู่เมืองอัจฉริยะ
“การเปลี่ยนบ้านให้ปราชญ์เปรื่องจะยุติการสั่งการที่ไม่ปลอดภัย แจ้งเตือน ดำเนินการทำงานตามคำสั่งที่ปลอดภัย และแสดงผลลัพธ์แบบที่เรียกว่าบ้านปราชญ์เปรื่อง เป็นการจัดการไฟฟ้าภายในบ้านด้วยสมองกลฝังในบ้านที่ปลอดภัย ขณะที่สร้างความสะดวกสบายและไม่สูญเสียการควบคุมแบบเดียวกับระบบบ้านอัจฉริยะ นั่นคือเราทำทุกอย่างที่บ้านอัจฉริยะทำได้ แต่บ้านอัจฉริยะทำทุกอย่างที่เราทำไม่ได้” รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์กล่าว