ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2562
“ยูนิคอร์น” ชื่อนี้ถูกหยิบมาใช้ในยุคกระแสสังคมดิจิทัลที่กำลังมาแรง หลายคนกล่าวถึง จะเดินบนเส้นทางยูนิคอร์นไปให้ถึงดวงดาวแห่งความสำเร็จในธุรกิจสตาร์ตอัพ…”ระดับยูนิคอร์น” ให้จงได้
ความหมายเข้าใจง่ายๆก็คือ ธุรกิจสตาร์ตอัพที่หลายคนรู้กันดีอยู่แล้วแต่เพิ่มเส้นทางยูนิคอร์นเข้าไปก็คือ…ธุรกิจที่มีมูลค่าการระดมทุนมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แน่นอนว่าบริษัทที่จะทำได้จำเป็นต้องรู้ความต้องการของลูกค้าและมองอนาคตของโลกให้ได้ โดยมีปัจจัยสำคัญคือเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว
คนรุ่นใหม่เฝ้าฝันอยากทำธุรกิจสตาร์ตอัพกันทั้งนั้น และเกือบทั้งหมดอาจจะกล่าวได้ว่า…มีเป้าหมายอยากที่จะประสบความสำเร็จเป็นยูนิคอร์น
ก่อนจะก้าวไปถึงจุดนั้นจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งจากภายในเฉพาะบุคคล ตัวอย่างโครงการ “Thailand Digital Young Talent Development Project ” (TDYT) ความร่วมมือระหว่าง 26 หน่วยงานเพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์สู่…”ดิจิทัล ไทยแลนด์”
มุ่งเน้นพัฒนาสมรรถนะกำลังคนด้านดิจิทัลให้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ…ปริมณฑลและพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) บอกว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดประการหนึ่งของการส่งเสริมสังคมเศรษฐกิจดิจิทัล คือ การพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลที่มีความรู้ความสามารถเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรม
“ประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพและสามารถทำงานได้จริง เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจ…อุตสาหกรรม”
โครงการนี้ดีป้าและทีโอทีผนึกความร่วมมือของแต่ละภาคส่วนที่มีบทบาทสนับสนุนซึ่งกันและกันอาทิภาคอุตสาหกรรม…สถานประกอบการจะเป็นผู้เสนอโจทย์โครงการจากอุตสาหกรรมกำหนดคุณสมบัติของนักศึกษาที่เข้ารับการฝึกงาน…พัฒนาโครงการนั้นๆ ส่วนภาคการศึกษาก็จะคัดสรรนักศึกษาที่มีคุณสมบัติ
…นำโจทย์ไปพัฒนาระบบและเป็นแนวทางการปรับปรุงหลักสูตร…รูปแบบการเรียนการสอนให้สามารถผลิตนักศึกษาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันให้มากยิ่งขึ้น และในส่วนของภาครัฐ ทั้งดีป้าและทีโอทีจะส่งเสริมสนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
เพื่อให้เกิดการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม…เกิดประโยชน์ร่วมกันพัฒนาต่อยอดให้เป็น “Community” ที่จะเกิดการแบ่งปันร่วมกันในกลุ่มผู้ที่มีความสนใจร่วมกัน
ดร.มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ย้ำว่า ทีโอทีอยู่ในช่วงของการปรับเปลี่ยนแนวคิด…รูปแบบการดำเนินการธุรกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ขีดความสามารถขององค์กรในยุคดิจิทัล ที่สำคัญเราเล็งเห็นความสำคัญของการบริหาร…การพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล
“โครงการนี้จะเป็นพื้นที่กลางเพื่อรองรับการพัฒนาความร่วมมือเพื่อสร้างทักษะความเชี่ยวชาญทางด้านดิจิทัล โดยมีองค์กรร่วมพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษา”
หลักใหญ่ใจความมีว่า…เราเริ่มต้นพัฒนากันจาก “โจทย์” หรือ “ปัญหา” ของภาคอุตสาหกรรมเป็นตัวตั้งต้น เพื่อเตรียมความพร้อมและพัฒนากำลังคนในระดับอุดมศึกษาให้มีความรู้…ทักษะ…ตลอดจนทัศนคติที่สอดคล้องกับความต้องการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม
มุ่งเน้นการพัฒนา “ความรู้” และ “ทักษะ” ทางด้าน “ดิจิทัล” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics), ความสามารถที่จะปกป้องระบบคอมพิวเตอร์เครือข่าย (CyberSecurity) และ การสื่อสารและประสานงานอย่างชาญฉลาด (Smart Communication) เป็นต้น
โครงการนี้มีความร่วมมือจากหลายภาคส่วนนอกจากดีป้าและทีโอทียังประกอบด้วย 10 สถาบันการศึกษา และ 14 สถานประกอบการ ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยศรีปทุม, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก…
สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม, บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยออยล์ เอนเนอร์ยี เซอร์วิส จำกัด, บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยซัมมิท ฮาร์เนส จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยซัมมิท เคเบิ้ล แอนด์ พาร์ท จำกัด, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, บริษัท เจเทคโตะ ออโตโมทีฟ (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท ทีบีเคเค (ประเทศไทย) จำกัด,
บริษัท สยามซีแลนด์ ทรานสปอร์ต จำกัด, บริษัท พรเทพ อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด, บริษัท จีเอเบิล จำกัด, บริษัท สยามซีเคียวร์ คอนซัลติ้ง จำกัด, บริษัท ดีพ เทค เทคโนโลยี จำกัด โดยการดำเนินงานในระยะแรกตั้งเป้าพัฒนานักศึกษา 200 คน แบ่งออกเป็น 2 รุ่น คือรุ่นที่ 1 จำนวน 80 คน และรุ่นที่ 2 จำนวน 120 คน
กิจกรรมที่สำคัญ อาทิ ฝึกอบรมแบบกลุ่ม เพื่อปรับฐานความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจอุตสาหกรรมอนาคตรวมถึงการศึกษาดูงานธุรกิจสตาร์ตอัพ…เทคโนโลยีดิจิทัลและการประยุกต์ใช้ รวมถึงการพัฒนาแนวคิดเพื่อตอบโจทย์ของอุตสาหกรรม
กิจกรรมการพัฒนาทักษะทางด้านดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับโครงการของอุตสาหกรรมที่สนใจกิจกรรมการนำเสนอแนวคิด…ผลงานเชิงนวัตกรรมมุ่งหวังติดอาวุธต่อเติมเสริมแกร่งให้กับนักศึกษาผู้เข้าร่วม
ผู้ที่สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ http://www.facebook.com/digitalyoungtalent หรือไลน์โครงการ:@tdyt.line
การศึกษายุค 4.0 จำเป็นต้องเป็นเช่นใด…จึงเป็นอีกคำถามสำคัญในวันนี้?
ดร.มนต์ชัย มองว่า ด้วยการที่เราพัฒนาระบบออกเป็น 3 กลุ่ม เน้นการทำงานด้านวิเคราะห์ข้อมูลระบบความปลอดภัยเครือข่าย และสมาร์ทคอมมิวนิเคชันเราต้องการให้เด็กได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง…ลงมือเองในด้านทักษะใหม่ๆ…ให้เด็กไปเรียนนอกห้องเรียนเรียนผ่านประสบการณ์ 1-2 ปี
“โครงการนี้จึงเป็นการเริ่มต้นเพื่อเป็นการผลักดันให้เยาวชนได้สัมผัสประสบการณ์จริงที่คุณจะต้องเจอในอนาคต…ชีวิตจริงในการทำงานเป็นประสบการณ์ตรงเพื่อให้เค้าได้ปรับตัว…เตรียมความพร้อมในอนาคตยอมรับกับการทำงาน การแลกเปลี่ยนความคิดและทัศนคติระหว่างคนรุ่นเก่า…คนรุ่นใหม่ ในการทำงานเป็นสิ่งที่ต้องการให้น้องๆสัมผัสชีวิตจริง…มันเป็นจุดเริ่มต้นของวัยทำงานในวันข้างหน้า”
ดร.มนต์ชัย ฝากทิ้งท้ายว่า เราไม่ได้คาดหวังว่าทุกคนจะต้องกลับมาทำงานในจุดที่เริ่มฝึกหัด แต่เราต้องการเน้นคุณภาพด้านการพัฒนาคน…”จบตรงตลาดจริง” แน่นอนว่าอนาคต “เด็กไทย”…เป็นความท้าทายสำคัญในวันนี้…”การศึกษาไทยต้องเปลี่ยนไปตามยุคสมัยการเรียนการสอนได้ถูกออกแบบมาให้น้องๆได้หาประสบการณ์…ระบบศึกษาให้มีความรู้หลากหลายเรื่องในเชิงลึก รู้เรื่องด้านดิจิทัล อาทิ สัมผัสการทำ Chatbot…โปรแกรมที่พัฒนาให้ตอบกลับการสนทนาข้อความอัตโนมัติเสมือนการตอบโต้ของคนจริงๆเติมเต็มความสามารถการสร้างการทำงานเป็นทีมการมีเครือข่ายที่น้องๆได้สัมผัส คือ…ความท้าทาย”
วันนี้เราอาจจะยังไม่มี…”ยูนิคอร์น” แต่ถ้าเรายังไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่…อนาคตก็อาจจะมีลุ้น.
ดร.มนต์ ชัยฝากทิ้งท้ายว่า เราไม่ได้คาดหวังว่าทุกคนจะต้องกลับมาทำงานในจุดที่เริ่มฝึกหัดแต่เราต้องการเน้นคุณภาพด้านการพัฒนาคน…”จบตรงตลาดจริง” แน่นอนว่าอนาคต “เด็กไทย”…เป็นความท้าทายสำคัญในวันนี้…”การศึกษาไทยต้องเปลี่ยนไปตามยุคสมัยการเรียนการสอนได้ถูกออกแบบมาให้น้องๆ…”