ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2562
ผลใช้วิเคราะห์ลักษณะชั้นบรรยากาศ คาดการณ์อากาศแม่นยำ
ที่อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. มีพิธีรับมอบ KU TOWER หรือสถานีตรวจวัดอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดินและมูลสารทางอากาศจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) โดยมี ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการอธิการบดี มก.เป็นประธาน
ผศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มก.กล่าวว่า สถานีตรวจวัดอุตุนิยมวิทยาฯ เป็นความร่วมมือระหว่าง สสน.มก. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดยสถานีติดตั้งที่คณะสิ่งแวดล้อม มก. เป็นเสาสูงขนาด 117 เมตรแบบต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ที่ระดับความสูง 5 ระดับคือ 10, 30, 50, 75 และ 110 เมตร เพื่อตรวจวัดลักษณะทางอุตุนิยมวิทยารวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลและประมวลผลแบบออนไลน์เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการพยากรณ์ลักษณะทางอุตุนิยมวิทยา โดยสถานีตรวจวัดอุตุนิยมวิทยาฯ ถือเป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของประเทศไทยที่ใช้ในการวิจัยอิทธิพลของมูลสารในบรรยากาศต่อลักษณะอุตุนิยมวิทยาใกล้ผิวดินในเขตเมือง คือ ครอบคลุมชั้นบรรยากาศที่อยู่ด้านบนในแนวดิ่งด้วย ทั้งผลการตรวจวัดไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อรายงานลักษณะอุตุนิยมวิทยาในชีวิตประจำวันแต่นำไปใช้ในการวิเคราะห์ลักษณะชั้นบรรยากาศที่มีผลต่อการเคลื่อนที่ของมูลสารในบรรยากาศ
ด้าน ดร.รอยล จิตรดอน ผู้ริเริ่มโครงการสถานีตรวจวัดอุตุนิยมวิทยาฯ กล่าวว่าปัญหามลพิษพบมากในเมืองใหญ่ทั่วโลก ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน สภาพสังคม เศรษฐกิจ อย่าง กทม. ประสบปัญหามลภาวะด้านอากาศเป็นประจำ ทั้งจากฝุ่นควันการจราจร การก่อสร้าง การทำอุตสาหกรรมและการพัดพามาจากพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งสารที่เกิดมลพิษ ดังนั้น เพื่อให้การจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีข้อมูลสภาพอากาศในแนวดิ่งเพื่อใช้เป็นข้อมูลทางอากาศที่สำคัญของประเทศไทย
ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผอ.สสน. กล่าวถึงการใช้ประโยชน์จากสถานีตรวจวัดอุตุนิยมวิทยาฯ ว่าโครงการนี้เป็นโครงการแรกของประเทศไทย มีการเก็บตัวอย่างทางอุตุนิยมฯ ถึง 5 ระดับ ตลอด 24 ชั่วโมง ข้อมูลที่ได้จึงเป็นประโยชน์ในหลายมิติ อาทิ การคาดการณ์สภาพอากาศ คุณภาพอากาศในช่วงเวลาเร่งด่วน สสน.ใช้ประโยชน์จากสถานีดังกล่าวเพื่อเทียบความถูกต้องผลการคาดการณ์สภาพอากาศการเก็บตัวอย่างฝุ่นในอากาศ เป็นต้น.