กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2562
กรุงเทพธุรกิจ
ภาพรวมตัวเลขรายได้จาก การจำหน่ายสินค้า OTOP ทั่วประเทศในปี 2561 มีมูลค่าสูงถึง 190,000 ล้านบาท แต่ในทางกลับกัน ผู้ผลิต ผู้ประกอบการต้นน้ำกลับสะท้อนว่าขายสินค้าไม่ได้ รายได้ตกต่ำ จึงเป็นคำถามเชิงยุทธศาสตร์ว่า รายได้ OTOP ที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับรายได้ของ ผู้ประกอบการต้นน้ำจริงหรือ ?
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ ฝ่ายบูรณาการวิจัยและความร่วมมือ เพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ (ABC) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สกสว.) กล่าวถึง ภาพรวมงานวิจัย ‘โครงการงานวิจัยการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่คุณค่าของสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) บนฐานทรัพยากรไผ่จังหวัดปราจีนบุรี’ ภายใต้บันทึก ข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนางานวิจัย และการสนับสนุนชุดโครงการวิจัยที่มีผลกระทบสูง (Program based Research) ระหว่าง สกสว. และ เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ว่า เศรษฐกิจฐานรากที่เป็น Growth Engines สำคัญของประเทศไทย มี 3 sector ได้แก่ 1.OTOP 2.SME และ 3.วิสาหกิจชุมชน โดยสินค้า OTOP มีผลประกอบการโดยรวมมากขึ้น ทว่า ในทางกลับกัน งานวิจัยเชิงพื้นที่พบว่า ผู้ประกอบการต้นน้ำสะท้อนว่ารายได้ตกต่ำ ขายได้น้อย
จากโจทย์ดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการทำงานร่วมกัน โดยโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ถือเป็น 1 ใน 8 โครงการวิจัยที่ สกสว. ทำร่วมกับ 8 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคล ในการวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์ OTOP เด่นๆ ในพื้นที่ศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคลแต่ละแห่ง โดยใช้นวัตกรรมสร้างผลิตภัณฑ์ที่นำไปสู่ ‘ห่วงโซ่คุณค่าใหม่’ (New Value Chain) ที่นอกจากมีมูลค่ามากขึ้นแล้ว ยังต้องทำให้ ‘ต้นน้ำ’ ทั้ง ตัวเกษตรกรและกลุ่ม OTOP มีรายได้ ที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนและมีการกระจาย รายได้อย่างเป็นธรรม
ด้าน ผศ.ดร.วารุณี อริยวิริยะนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.ธัญบุรี เปิดเผยว่า มทร.ธัญบุรีได้จัดตั้งวิทยาเขตที่ 2 ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี และเมื่อมีทุนวิจัย ดังกล่าวเข้ามาจึงเน้นไปที่ การพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการ OTOP ของจังหวัด ซึ่งมีหลากหลายผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะใน เรื่องไผ่ พบว่า ปัจจุบันจังหวัดปราจีนบุรีมีเนื้อที่ปลูกไผ่ 21,998 ไร่ มีเกษตรกร ผู้ปลูกจำนวน 2,678 ครัวเรือน พบไผ่ 18 สายพันธุ์ซึ่งไผ่ที่นิยมปลูกในพื้นที่ มี 2 สายพันธุ์ คือ ไผ่ตงหม้อ และ ไผ่ตงศรีปราจีน
“เรามีแนวคิดว่าทางจังหวัดควรเลือกไผ่ที่เป็นพระเอกมา 5 ชนิดแล้วเอาไผ่เหล่านี้มาทำผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม เพราะไผ่แต่ละชนิด มีสมบัติต่างกัน ทำให้เกษตรกร ผู้ปลูกและผู้ใช้สามารถตัดสินใจเลือกไม้ไผ่ไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่ เหมาะสมได้ เราไปคุยกับปราชญ์ เกษตรกร และผู้ประกอบการในพื้นที่ ทำให้เกิดโจทย์ชุดโครงการแล้วนำไปสู่การวางแผนเพื่อยกระดับห่วงโซ่คุณค่าโดยผ่านกระบวนวิจัย
และจากผลการสำรวจชนิดผลิตภัณฑ์ OTOP ในจังหวัด ทางเราจึงเลือกมา 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่เป็นเกษตรอาหารและกลุ่มที่เป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ แล้ว
นำผู้ประกอบการเหล่านี้มาทำ Workshop ร่วมกับนักวิจัยเพื่อให้เห็นภาพรวมในทิศทางเดียวกัน และนำไปสู่การทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัย กลุ่มเกษตรกร ชุมชน และผู้ประกอบการในการพัฒนาสินค้า OTOP ที่นำไปสู่การยกระดับ รายได้ของเกษตรกรต้นน้ำ”
ด้าน ผศ.ดร.มโน สุวรรณคำ ผู้ช่วยอธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า ในเรื่องโครงสร้างต้นทุนที่เกษตรกรได้น้อยนั้นเกิดขึ้นจากมูลค่าที่ถูกส่งต่อไปเป็นทอดๆ ทำให้เรื่อง Marketing เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งนอกจากเรื่องราคาแล้วยังหมายรวมไปถึงการคำนวณต้นทุน ที่ผู้ผลิตต้นทางต้องหาภาพรวม Position ของตลาดและคู่แข่งเพื่อนำมาใช้เป็นฐานข้อมูลในการกำหนดราคาผลิตภัณฑ์นั้นๆ ซึ่งนักวิจัยต้องเข้ามาพัฒนาร่วมกับ ผู้ประกอบการด้วย
“การแข่งขันทางการตลาดเราต้อง ดูว่า Position ตลาดของเราว่าอยู่ ตรงไหน คู่แข่งของเราคือใคร เพื่อนำไปสู่ การกำหนดราคาของเราได้ถูกต้อง คือเราไม่ได้ไปแข่งกับแบรนด์ระดับโลก แต่เราต้องแข่งกับแบรนด์ที่สูสีกับเรา ซึ่งการตั้งราคาในที่นี้ต้องคิดเผื่อในเรื่องของ Marketing ด้วย เพราะจะทำให้ผลิตภัณฑ์เราสามารถแข่งขันในตลาดได้”
เช่นเดียวกับ ธนา ทิพย์เจริญ ผู้ประกอบการแปรรูปไม้ไผ่ บริษัท Thailand Bamboo กล่าวถึงการทำงานร่วมกับนักวิจัยว่า การพัฒนาสินค้า OTOP ต้องมีการวิจัยทุกมิติตั้งแต่ การยกระดับตลาด การพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาเครื่องจักร ตลอดจนการวิจัยสินค้าใหม่ๆ บนฐานเทคโนโลยีชีวภาพของท้องถิ่นนั้นๆ
“มุมมองของการพัฒนานอกจากการส่งเสริมการตลาดหรือวิธีการผลิตที่ทันสมัยแล้ว ภาครัฐต้องพัฒนาทั้งระบบ Supply Chain และ Cluster ด้วย รวมถึงต้องมีการวิเคราะห์ถึงจุดดีจุดเด่นของท้องถิ่นนั้นๆ เพราะบริบทของ แต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน มีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน ที่ผ่านมามีการก็อปปี้จากถิ่นหนึ่งไปยังอีกถิ่นหนึ่ง ยกตัวอย่างพื้นที่นี้ทำไม้ไผ่สวยดี พาคนไปดูงานแล้วก็อปปี้แบบเดียวกัน วางขายใน OTOP เหมือนกัน ซึ่งถือว่าไม่มีการนำจุดเด่น ของท้องที่ตัวเองไปปรับเปลี่ยน ทำให้สินค้าไม่เกิดการพัฒนา ซึ่งสุดท้าย ทุกอย่างต้องมาจับที่งานวิจัยหาคำตอบแล้วพัฒนาต่อทั้งระบบ”
อย่างไรก็ตาม การสร้างแบรนด์ OTOP ของไทยให้ยืนหนึ่งในเวทีโลก นอกจากการเร่งพัฒนาศักยภาพ ผู้ประกอบการและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ตลาดแล้ว แน่นอนว่างานวิจัยที่เข้าถึงปัญหาได้ตรงจุดทุกมิติคือส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้ OTOP เดินหน้าไปได้อย่างไม่สะดุด