เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2562
เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้ชุมชน และส่งเสริมให้ประชาชนหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชนตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าบีทีเอส กลุ่มบริษัทบีทีเอส ร่วมกับ คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.มหิดล วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ศูนย์การแพทย์อาร์ เอส ยู เฮลท์แคร์ รพ.วิภาวดี รพ.จุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ รพ.กล้วยน้ำไท รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร รพ.ไทยนครินทร์ รพ.เมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) รพ.มนารมย์ และวิสาหกิจสุขภาพชุมชน รวม 11 หน่วยงาน จัดงาน “คลินิกลอยฟ้าปีที่ 17” โดยให้ประชาชนตรวจโรคฟรีทั้ง โรคตา มะเร็ง เบาหวาน หัวใจ ฟัน กระดูกและข้อ ฯลฯ ระหว่างวันที่ 5-8 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่สถานีบีทีเอสปากน้ำ
ในงานมีการเสวนาเรื่องสมุนไพรไทย หัวข้อ “มหัศจรรย์…สมุนไพรไทย” จากเภสัชกรชำนาญการ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ภญ.วัจนา ตั้งความเพียร และ บัณฑูร นิยมาภา (ลุงตู้) มาให้ความรู้เรื่องการใช้สมุนไพรรักษาโรคอย่างปลอดภัยและถูกวิธี โดย ภญ.วัจนา ให้ความเห็นเกี่ยวกับสมุนไพรว่า สมุนไพรไทยเป็นสิ่งมหัศจรรย์ เป็นการเอาความมหัศจรรย์ของธรรมชาติมาใช้ในการดูแลสุขภาพตนเอง ทั้งให้คุณประโยชน์ ช่วยรักษา และบำบัดอาการเจ็บไข้ ได้ป่วยของชาวบ้านมายาวนาน แต่ต้องใช้ให้ถูกหลักและถูกวิธี โดยเฉพาะปัจจุบันนี้การวิจัยพัฒนา ค้นพบความมหัศจรรย์ของพืช ที่มีสรรพคุณดูแลสุขภาพได้ไม่น้อยไปกว่ายาแผนปัจจุบันเลย หรือว่าบางตัวอาจดีกว่าในแง่ที่ใช้แล้วได้ผลเร็ว และไม่มีอาการข้างเคียง
ส่วนการเลือกใช้ยาสมุนไพร ต้องดูธาตุของแต่ละคน อาการในแต่ละช่วงเวลานั้น ช่วงฤดูนั้น หรือช่วงวัยนั้น เพราะว่าในตำราแพทย์แผนไทย วัยที่ต่างกัน หรือว่าเกิดในช่วงฤดูที่ต่างกันจะมีการดูแล การเตรียมยาที่ไม่เหมือนกัน เช่น พืชสมุนไพรพื้นบ้าน ต้นกระดูกไก่ดำมีสรรพคุณ แก้ปวดเมื่อย หรือฟกช้ำดำเขียว โดยไม่ต้องผสมตัวยาอะไรทั้งสิ้น แค่นำใบมาตำ แล้วพอกบริเวณที่ปวดเมื่อยจะดี ขึ้น นอกจากนี้ยังแนะนำมะขามป้อม ซึ่งเปรียบเสมือนยาอายุวัฒนะของคนไทย เพราะมีสรรพคุณตามตำราสมุนไพรไทย ที่มีรสเปรี้ยวช่วยขับเสมหะ และยังเป็นน้ำผลไม้ ที่มีซูเปอร์แอนตี้ออกซิแดนซ์ สามารถกินได้เรื่อย ๆ ช่วยบำรุงตับ ถ้ากินสดมีวิตามินซีสูงมาก ถือว่าเป็นผลไม้ซูเปอร์ฟรุต ที่กินเป็นประจำทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง
“การใช้ยาทุกชนิด ไม่ว่าจากแพทย์แผนไทยหรือแผนปัจจุบัน เวลาเลือกใช้ต้องดูว่ามีประโยชน์ มีโทษ มีข้อห้ามอย่างไรในการใช้ บางคนมองสมุนไพรเป็นผู้ร้ายก็มี เพราะว่าอาจใช้ผิด ใช้ไม่ถูกส่วน ไม่ถูกชนิด หรือว่าใช้ไม่ถูกกับอาการ ซึ่งผู้บริโภคสมัยใหม่จำเป็นต้องมีความรู้ที่ถูกต้อง เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ร่างกาย และใช้อย่างถูกวิธีก็จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับตัวเอง” ภญ.วัจนา กล่าว
ด้าน บัณฑูร นิยมาภา (เครือข่ายผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์) กล่าวถึงสมุนไพรกัญชา ว่า ทุกคนรู้จักกัญชาว่าคือยาเสพติด แต่จริง ๆ สามารถนำมาบำบัด รักษาโรคได้ ปัจจุบันมีการรับรองจากต่างประเทศมากมาย ที่กล่าวว่ากัญชาสามารถรักษาโรคมะเร็ง เริ่ม ศึกษาข้อมูลกัญชา จึงรู้ว่า ในก้านของกัญชามีสาร CBD (Cannabidiol) ระงับเซลล์มะเร็งที่กำลังเติบโต และทำให้เซลล์มะเร็งค่อย ๆ สลายไป อีกทั้งมีสรรพคุณที่ช่วยลด อาการคลื่นไส้อาเจียน ลดการอักเสบ บวม ของแผลหรือเนื้องอก ระงับการเกร็งหรือชักกระตุก และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันในระบบประสาทได้ ตัวเองไม่ใช่หมอ ทุกคนอาจจะไม่เชื่อ จึงอยากแนะนำว่า หากอยากใช้กัญชาควรปรึกษาแพทย์ และต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ทุกครั้งเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง.