โลกยุค 4.0 ที่ทุกอย่างกำลังแปรเปลี่ยนสู่จักรกลอัตโนมัติ วิชาชีพหลายแขนงล้วนปรับตัวเพื่อก้าวทันกับความเป็นดิจิทัล
และแน่นอนสถาบันอุดมศึกษาหลายต่อหลายแห่งจึงพยายามปรับตัวเพื่อให้เท่าทันกับสถานการณ์ตลาดแรงงานและสอดรับกับความต้องการของผู้เรียนมากที่สุด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาวิชาการเกษตร ซึ่งถือเป็นอาชีพที่สำคัญของประเทศไทย จะเห็นว่าสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนในแขนงนี้ ต่างขยับปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อก้าวให้ทันกับเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกและหนึ่งในนั้นก็คือชาวรั้ว “บัวสวรรค์” คณะเทคโนโลยีการเกษตรมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ธัญบุรี
เรื่องอินเทรนด์แบบนี้ “นายว้าก” ไม่ยอมพลาดที่จะไปเจ๊าะแจ๊ะถามไถ่บรรดาหนุ่มสาวคณะเทคโนโลยีการเกษตร
เริ่มต้นคนแรกกับหนุ่มหน้าใส “โอ๊ต” ภูริต กีรติกำจร ปี 3 สาขาวิชาสัตวศาสตร์ บอกว่า “คนไทยเราโชคดีที่มีพื้นที่ทำเลทองในการผลิตอาหารเพื่อปากท้อง หล่อเลี้ยงและจุนเจือผู้คนบนโลกใบนี้ได้และการเกษตรยังเป็นวิชาชีพแห่งชีวิต ที่ต้องใช้ความทุ่มเทในการศึกษาและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องจึงจะสามารถประสบความสำเร็จได้ผมเลือกเรียนสัตวศาสตร์ เพราะชอบเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่เด็ก จึงคลุกคลีและได้เรียนรู้พัฒนาการพฤติกรรมและลักษณะของสัตว์ด้วยตนเองและจากกลุ่มผู้เลี้ยง เริ่มตั้งแต่ปลา สุนัข อีกัวน่า กิ้งก่า และงู ความเป็นธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตทำให้หลงใหลและเกิดเป็นความรัก โดยเลือกเรียนสัตวศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ที่มุ่งเน้นการผลิตสัตว์เศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น การทำปศุสัตว์ในเนื้อที่จำกัด ไม่มีพื้นที่ในการปลูกพืชอาหารสัตว์ แต่ใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดความคุ้มค่า รวมถึงการบริหารจัดการและวิจัย สัตวศาสตร์จะเรียนทฤษฎีและปฏิบัติควบคู่กันไปมีหลายครั้งก็เรียนปฏิบัติมากกว่าด้วยความสนุกจึงอยู่ที่การได้ออกไปสัมผัสสิ่งมีชีวิตจริง ปัจจุบันการเกษตรมีตัวช่วยสำคัญที่มาเสริมเติมคุณภาพและช่วยในการผลิต นั่นคือความเป็นเทคโนโลยีกระบวนการผลิตสัตว์มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งการลดระยะเวลาการผลิต การเก็บรักษาผลผลิตการหาวิธีการต่างๆที่จะเสริมการทำงานเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในที่สุด และไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวกระโดดไปมากเพียงใดมนุษย์เราก็ยังต้องการอาหารอาหารก็มาจากการเกษตรเป็นหลัก จึงอยากให้ทุกคนให้เกียรติและยกย่องวิชาชีพการเกษตร”
อีกหนึ่งหนุ่มจากสาขาวิชาประมง “ดั๊มพ์” นันทวัฒน์ แก้วเซือง ปี 3 ดีกรี ประธานสาขาวิชาประมง เล่าว่า “เรียนประมง ไม่ได้เรียนเพื่อไปเป็นชาวประมง แต่มีรายละเอียดเชิงลึกกว่านั้นมากมาย เรียนพื้นฐานจนถึงเชิงลึกตั้งแต่การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การอนุบาลสัตว์ การปรับปรุงสายพันธุ์สัตว์น้ำ โดยเฉพาะพันธุ์ปลาที่หายากและใกล้จะสูญพันธุ์ ผู้ที่เข้ามาเรียนในคณะเทคโนโลยีการเกษตร ต้องมีความพยายาม ความทุ่มเทและอดทน มีหัวใจที่พร้อมลุยงานผมได้ไปฝึกงานกว่า 2 เดือน ที่ศูนย์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเขต 7 จ.ชลบุรี ได้เรียนรู้การเพาะพันธุ์ปลาชะโอนการไปฝึกงานจะช่วยเติมเต็มและสร้างประสบการณ์ที่ดี ก่อนจะก้าวสู่โลกการทำงานได้เห็นทิศทางของสาขาวิชาชีพทำให้สามารถเตรียมพร้อมและกระตุ้นให้เราพัฒนาตนเองได้มากกว่าแค่ในห้องเรียนและมองว่า จุดแข็งสาขาวิชาประมงของ มทร.ธัญบุรี อยู่ที่การส่งเสริมและกระตุ้นให้นักศึกษาเป็นบัณฑิตนักปฏิบัติมืออาชีพรวมถึงชีวิตสังคมเรียนของจริง ปฏิบัติจริง การเรียนของที่แห่งนี้มีความเป็นมิตรช่วยเหลือและให้ความร่วมมือที่ดีระหว่างกัน ตั้งแต่กิจกรรมในสาขาเรื่อยไปจนถึงกิจกรรมระดับมหาวิทยาลัย และระดับประเทศ”
“ขิง” ธันยภรณ์ พิมเสน ปี 2 สาขาวิชาเทคโนโลยีภูมิทัศน์ ร่วมแชร์ประสบการณ์ว่า “คณะเทคโนโลยีการเกษตรมีความหลากหลายผู้เรียนจะต้องเลือกเรียนตามความสนใจและความถนัด จึงจะสามารถเรียนอย่างมีความสุขและการร่วมกิจกรรมทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย จะทำให้เรามีโลกทัศน์ที่กว้างขึ้นมีเพื่อนและมีเครือข่ายมากขึ้นด้วยขิงเลือกเรียนสาขาวิชาเทคโนโลยีภูมิทัศน์ จะได้เรียนเกี่ยวกับต้นไม้พืชพันธุ์และการออกแบบเพื่อการจัดวางต้นไม้ในตำแหน่งที่เหมาะสม สามารถสร้างบรรยากาศให้สอดคล้องกับธรรมชาติสภาพแวดล้อมการออกไปเรียนรู้หน้างาน ลงมือทำงานจริงๆจะช่วยสร้างและเติมเต็มความเป็นนักภูมิทัศน์ที่ดีได้”
ปิดท้ายที่สาวหน้าหวาน “มิลค์” อนามิกา ทองเหลา สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร ปี 3 ร่วมแจมไอเดียว่า “เมื่อได้มาเรียนที่แห่งนี้ พบว่าเป็นสังคมการเรียนที่มีความใกล้ชิด และได้รับการฟูมฟักจากอาจารย์อย่างอบอุ่นที่สำคัญมีเครือข่ายความร่วมมือจากสถานประกอบการมากมายที่พร้อมจะส่งนักศึกษาไปเรียนรู้และฝึกงาน และส่วนตัวชอบเรียนวิทยาศาสตร์สนใจเรื่องอาหาร จึงเลือกเรียนสาขานี้ ตั้งเป้าหมายจะเป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพอาหารในโรงงานอุตสาหกรรมและวิจัยอาหาร ทุกสาขาวิชาชีพมีคุณค่าและมีความน่าสนใจเฉพาะตัว สำหรับคนที่จะเข้ามาเรียนในสาขา Food Science ต้องมีพื้นฐานสายวิทย์คณิตที่แน่นพอสมควร รู้จักอัปเดตความรู้ด้วยตนเองสม่ำเสมอ จะทำให้สามารถเรียนได้อย่างราบรื่น ภายใต้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”
นี่เป็นเพียงบางเศษบางเสี้ยวของความรู้สึกของบรรดาวัยโจ๋คณะเทคโนโลยีการเกษตร มทร.ธัญบุรี ที่ได้สะท้อนคุณค่าความเป็นเกษตรในยุค 4.0 ที่ตั้งใจและฝากไปถึงบรรดาน้องๆเจน Z ที่ยังลังเลว่าจะตัดสินใจเลือกเรียนต่อด้านไหนดี
เห็นแบบนี้แล้ว “นายว้าก” คงต้องขอยกสองมือเชียร์ และห้ามมองข้ามอาชีพการเกษตรเด็ดขาด…!!!