ไทยรัฐ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2562
ไชยรัตน์ ส้มฉุน
“กลุ่มพวกเราเลี้ยงเป็ดตามทุ่งนา แต่ราคาไข่เป็ดที่ขายได้ ไม่แน่นอนขึ้นๆลงๆ แล้วแต่พ่อค้าที่มารับซื้อจะกำหนด เราเลยรวมตัวกัน 32 คน ทำเป็นไข่เค็มออกมาขาย แต่ไข่เค็มทำได้หลายวิธี ทั้งพอกด้วยดินจอมปลวก ดินสอพอง แล้วใช้แกลบดำหรือแกลบเผา มาเป็นตัวป้องกันไว้ไม่ให้ไข่วางติดกัน ทำแล้วมองดูไม่สวยงาม ไม่น่ากิน ทั้งที่บ้านเราปลูกเตยหอมกันมาก เลยทดลองนำมาใช้แทนแกลบดำ ปรากฏว่าไม่เพียงจะดูสวยงามน่ารับประทาน ยังช่วยทำให้ไข่ขาวนุ่มนวล ไม่แข็งกระด้าง ไข่เค็มมีรสชาติดี และมีกลิ่นหอมใบเตยสอดแทรกเข้ามาด้วย”
กรรณาภรณ์ คำดี แกนนำสมาชิกวิสาหกิจ ชุมชนหมู่ 2 บ้านโคกพุทรา ต.ถนนใหญ่ อ.เมือง จ.ลพบุรี เล่าถึงที่มาของ ไข่เค็มสูตรใบเตยดินสอพอง ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มฯ ที่ได้รับการยกชั้นให้เป็น ผลิตภัณฑ์โอทอปจังหวัดลพบุรี ที่การันตีด้วยรางวัลชนะเลิศศูนย์ศิลปาชีพบางไทร
กรรมวิธีผลิตไม่มีอะไรยุ่งยาก…เริ่มจากการเลือกไข่เป็ดจากเล้าธรรมชาติไม่เกิน 2 วัน มาล้างทำความสะอาดอย่างหมดจดทีละใบ แต่ห้ามล้างแบบแช่น้ำ เพราะจะทำให้น้ำซึมเข้าไปในไข่ขาว เมื่อเป็นไข่เค็มแล้วจะเน่าเสียง่าย จากนั้นนำไปดองในน้ำส้มสายชูประมาณ 10-15 นาที แล้วพักไว้ให้แห้ง
หั่นใบเตยเป็นฝอยแล้วปั่นกับน้ำจนได้น้ำใบเตยเข้มข้น นำไปผสมกับเกลือและดินสอพองที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว นำไปพอกไข่เป็ดให้ทั่วทั้งใบ เก็บให้มิดชิดรอจนดินสอพองแห้ง (ประมาณ 15 วัน) เพียงเท่านี้ จะได้ไข่เค็มใบเตยดินสอพองที่กลิ่นหอมพร้อมขาย
“หัวใจหลักของไข่เค็มใบเตยดินสอพอง คือเราใช้วัตถุท้องถิ่นทั้งหมดคัดเลือกอย่างดี โดยไม่รับจากแหล่งอื่น คุณภาพความอร่อย จึงคงที่และได้มาตรฐาน สามารถนำไปทำเป็นยำไข่เค็ม ส้มตำไข่เค็ม ไข่เค็มตุ๋น ผัดสมุนไพร ไข่เค็ม และอีกหลายรายการทั้งอาหารคาวและหวาน”
ปัญหาของกลุ่มฯ ทำออกมาขายไม่ได้ จึงได้รับการช่วยเหลือจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราช-มงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ให้เข้าร่วม โครงการส่งเสริมพัฒนาตลาดอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเอส-เอ็มอี พร้อมจัดอบรมให้ความรู้ด้านออนไลน์ในยุค 4.0 แก่ผู้ประกอบการ ทั้งรายเก่าและรายใหม่ ส่งผลให้ไข่เค็มหอมใบเตยได้ขยายไปสู่ช่องทางการขายทางออนไลน์ ได้มากขึ้นด้วยกำลังผลิตวันละ 500 ฟอง สนนราคาขายปลีกอยู่ที่ฟองละ 10 บาท สนใจผลิต-ภัณฑ์ ติดต่อได้ที่ 06-5681-9586
ก้าวขั้นต่อไป กรรณาภรณ์ คาดหวังจะพัฒนาไข่เค็มใบเตยดินสอพองให้เป็นสินค้าพรีเมียมนำขึ้นสู่ตลาดระดับติดแอร์ให้ได้…เป็นอีกตัวอย่างของการทำเกษตรแบบพึ่งพาตัวเองที่น่าจะเอาเยี่ยงอย่างในการรู้จักคิดนำวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นมาแปรรูปเป็นสินค้าที่แตกต่างเพื่อเพิ่มมูลค่า และรู้จักปรับตัวให้เข้ากับช่องทางการตลาดที่เปลี่ยนไป.