ข่าวสด (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2562
จิตรกรนักปฏิบัติ 67 ชีวิต จาก 4 สาขาวิชาของภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) จัดแสดงนิทรรศการศิลปนิพนธ์ครั้งที่ 28 ที่เวนิส อาร์ตสเปซ วัชรพล กรุงเทพฯ ได้รับเกียรติจาก ดร.พินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าฯ ปทุมธานี เป็นประธานในพิธีเปิด ทุกคนต่างรังสรรค์ผลงานจนเกิดเป็นศิลปะเฉพาะตัว โดยเปิดให้สาธารณชนเข้าร่วมชมและประเมินคุณค่าผลงาน
โก๋ พีรพล อินทร์ตุ้ม นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาศิลปะไทย วัย 25 ปี จิตรกรผู้ร่วมจัดแสดงผลงานครั้งนี้ เล่าถึงผลงานของตนในชื่อผลงาน “สัมพันธภาพในความขัดแย้ง”(ชิงนาง) ซึ่งอธิบายถึงเรื่องราวความเป็นมาของสังคมทั้งในปัจจุบันและอดีต ผ่านการใช้สัญญะที่มีในวัตถุ สิ่งของ ที่ตนสะสมและผูกพันมาตั้งแต่วัยเด็ก นำมาเล่าเรื่องราวร้อยเรียงให้เกิดความหมาย ใช้เทคนิคการจัดวางองค์ประกอบ จัดท่าทางของวัตถุสิ่งของต่างๆ อย่างมีระบบและแฝงไปด้วย นัยยะที่สำคัญ
“ผลงานสัมพันธภาพในความขัดแย้ง (ชิงนาง) หยิบยกความเป็นไทยจากเรื่องรามเกียรติ์ ตอนศึกชิงนาง เข้ามาขยายความ โดยใช้โมเดลรูปปั้นวีนัสสีขาว วางองค์ประกอบตรงกลาง เปรียบเสมือนนางสีดา และนำเอาโมเดลฮีโร่ที่ตนเองสะสมไว้ตั้งแต่เด็กมาเป็นองค์ประกอบร่วม คล้ายกับกำลังต่อสู้หรือกำลังทำสงคราม และจัดวางองค์ประกอบทั้งหมดให้เหมือนละครเวที” เจ้าของผลงานอธิบาย
ส่วนผลงานอีกหนึ่งชิ้นมีลักษณะคล้ายกันแต่พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง มีองค์ประกอบของภาพมากกว่า ใช้โมเดลสะสมจำพวกสัตว์ ตัวการ์ตูนต่างๆ และรถถัง สื่อให้เห็นถึงการต่อสู้ ดิ้นรน การอยู่ร่วมกัน และมีความพิเศษตรงที่ของทุกชิ้นวางอยู่บนกระจกสีดำซึ่งให้เงาสะท้อน แฝงไปด้วยนัยยะที่หลายคนต่างตีความไปในทิศทางเดียวกันในเรื่องของสัจธรรมชีวิตและการกระทำ
โก๋อธิบายการสร้างสรรค์ผลงานเริ่มต้นจากการนำโมเดลของสะสมมาจัดวางตามจินตนาการ จัดแสงให้ดูมีมิติ มีความหมาย แล้วถ่ายภาพ จากนั้นนำมาวาดด้วยสีอะครีลิกลงบนเฟรมผ้าใบและตัดทอนความจริงออกไปบ้าง แต่ยังแฝงด้วยความหมายที่ตนเองต้องการจะสื่อออกไป โดยมีอาจารย์คมกริช สวัสดิรมย์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ทั้งสองภาพอาจต่างกันที่องค์ประกอบ แต่ให้ความสนุกของสีและชวนให้คิดตีความตามการรับรู้ของ ผู้เข้าชมแต่ละคน
จากของสะสมเกือบ 200 ชิ้น ที่มีคุณค่าต่อจิตใจ สนนราคาตั้งแต่หลักสิบหลักร้อยจนถึงหลักพัน ถูกเลือกมาเป็นโมเดลก่อเกิดเป็นงานศิลปนิพนธ์ในครั้งนี้
“รู้สึกภาคภูมิใจที่หลายคนเข้ามาชมผลงานและร่วมกันตีความ ประเมินคุณค่าผลงานไปในทิศทางที่ดี” โก๋กล่าว
ถือเป็นจุดเปลี่ยนอันยิ่งใหญ่ก่อนสำเร็จการศึกษาและออกไปทำงานตามความฝันที่ตั้งใจไว้ นั่นคือการเป็นจิตรกรมืออาชีพ