กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2562
ชุลีพร อร่ามเนตร
qualitylife4444@gmail.com
กรุงเทพธุรกิจ ต้องยอมรับว่าหากหน่วยงานหรือองค์กร สามารถบริหารจัดการข้อมูล ขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า “Big data” ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จะช่วยส่งเสริมให้ข้อมูลนั้นมีมูลค่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมหาศาล ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้เกิดอาชีพที่เนื้อหอม มีความต้องการสุดๆ คือ “อาชีพนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล หรือ Data scientist”
สถาบันการศึกษา จึงต้องผลิตคน เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน ภาคอุตสาหกรรม และเทรนด์ของโลก จึงได้ปรับตัว ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงเปิดหลักสูตร การเรียนการสอนเกี่ยวกับการจัดการข้อมูล พัฒนาบัณฑิต คนรุ่นใหม่ให้สอดคล้องกับเทรนด์ของโลก ให้สามารถรับมือ”ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI” ที่จะเข้ามีส่วนในการทำงานของผู้คนในทุกด้าน
ไม่ปรับตัวAIจะเข้ามาแทนที่
สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อองค์กรธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม จนเกิดคำพูดว่าในอนาคตจะเข้ามาทดแทนตำแหน่งงานของคน เนื่องจากสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง สามารถวางแผนคิดวิเคราะห์ด้วยเหตุและผล ตอบโต้การสนทนาได้อย่างดีเยี่ยม มีความคิดสร้างสรรค์ และยังช่วยให้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ถูกนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจ
ดังนั้น บัณฑิตยุคใหม่ต้องมีความพร้อม ทั้งด้านองค์ความรู้วิชาการ เชี่ยวชาญการปฏิบัติ คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ดังกล่าว ควบคู่ไปกับการเปิด ปรับหลักสูตรใหม่ ให้สอดรับสถานการณ์และความต้องการของตลาดแรงงาน
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สจล. จึงได้พัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์เชิงธุรกิจ (Bachelor of Science Program in Data Science and Business Analytics-DSBA) เน้นการเรียนรู้ทั้งศาสตร์ด้านวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์เชิงธุรกิจเข้ามาช่วย เพื่อทำให้สามารถรวบรวมข้อมูลจากฐานข้อมูล และคลังข้อมูล จากแหล่งต่าง ๆ ซึ่งมีความซับซ้อนและมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล เพื่อนำมาจัดเตรียม และประมวลผลด้วยเครื่องมือซึ่งใช้กลไกของอัลกอริทึมขั้นสูง เพื่อทำให้ได้สารสนเทศที่สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์และพยากรณ์ได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว
โดยเมื่อสำเร็จการศึกษาจาก หลักสูตรนี้ จะมีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญด้านวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์เชิงธุรกิจ สามารถทำในตำแหน่งงานด้านต่างๆ ได้แก่ นักวิทยาการข้อมูล นักวิเคราะห์ข้อมูล, สถาปนิกด้านข้อมูล นักวิเคราะห์ธุรกิจ นักวิเคราะห์ระบบ ซึ่งมีข้อมูลมากมายใน https://www.it.kmitl.ac.th/th/
จัดการข้อมูลและวิเคราะห์
วิชชา ฉิมพลี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต(มสด.) กล่าวว่า หากมองอนาคตตลาดแรงงาน หรือเทรนด์อาชีพที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่ต้องการในยุคศตวรรษที่ 21 หรือยุคดิจิทัลอันดับที่ 2 คือ นักวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติ และการทำเหมืองข้อมูล ดังนั้น ด้วยความต้องการบุคลากรด้านดังกล่าว คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เปิดสาขาวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์ (วท.บ.)มุ่งพัฒนาบัณฑิตมีความรู้ ด้านวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์ที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลง มีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ในมิติที่หลากหลายและค้นหาสารสนเทศ ที่มีคุณค่า เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจและการปรับปรุงประสิทธิภาพทางธุรกิจ รวมถึงการเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับการแก้ไขปัญหา คิดวิเคราะห์ พัฒนางาน ด้านวิทยาการข้อมูลอย่างมีระบบ สามารถพัฒนาไปเป็น นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data scientist) นักวิเคราะห์ข้อมูลเชิงธุรกิจ (Business Analyst) นักโปรแกรมเมอร์ นักพัฒนาคลังข้อมูล หรือแม้แต่ ผู้ประกอบอาชีพอิสระงานด้านวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์ (Data Science and Analytics Freelancer) ดูข้อมูลได้ที่ www.dusit.ac.th
พัฒนาสนองดิจิทัลอีโคโนมี่
ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเซาท์แทมตัน ประเทศอังกฤษ และมหาวิทยาลัยฮอกไกโด อินฟอร์เมชั่น ประเทศญี่ปุ่นเปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาการข้อมูลและสารสนเทศ เพื่อตอบสนองนโยบายดิจิทัลอีโคโนมี่ของรัฐบาล เพราะ จากนี้ไปเชื่อว่าประเทศไทยจะมีระบบ 5G รองรับการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่การพัฒนาบุคลากรให้สามารถนำข้อมูลที่มีจำนวนมาก มาบริหารจัดการและ นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเนื้อหาวิชามุ่งเน้นการสร้างนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เป็นบุคลากรสำคัญขององค์กรที่ จะทำหน้าที่เปลี่ยนข้อมูลให้เป็นยุทธศาสตร์และตอบโจทย์ปัญหาขององค์กรได้
“นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เป็นบุคลากรที่จำเป็นขององค์กรภาครัฐและเอกชน และการจะก้าวผ่านจากประเทศที่กำลังพัฒนาเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญมาก และที่ผ่านมาในประเทศไทยก็ยังไม่มีการนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างจริงจัง หลายหน่วยงานล้วนแต่ต้องการ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลและสารสนเทศ นักวิเคราะห์และบริหารจัดการข้อมูลและสารสนเทศ ที่ปรึกษาด้านการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูล ผู้บริหารด้านการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูล ผู้บริหารด้านการวางแผนและบริหารจัดการทรัพยากรในองค์กร ทั้งสิ้น ดูข้อมูลได้ที่ www.sci.rmutt.ac.th