ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2562
“ตลาดออนไลน์” เมืองไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดเด้งรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 แน่นอนว่าพ่อค้าแม่ขายออนไลน์จะหยุดนิ่งไม่ได้ต้องเดินหน้าติดอาวุธให้กับตัวเองและธุรกิจแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน
ไม่นานมานี้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จับมือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เชิญผู้ประกอบการ SME ทั้งสตาร์ตอัพและมืออาชีพ…
เข้าร่วมโครงการ SME ONLINE ปี 2562 เพื่อเพิ่มช่องทางโครงการส่งเสริมพัฒนาสร้างยอดขายในรูปแบบ B2B, B2C โดยจัดทำ โครงการส่งเสริมพัฒนาตลาดอิเล็กทรอนิกส์สำหรับ SME หรือ SME ONLINE ปีที่ 3
ที่ผ่านมา…มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการจากทั่วประเทศกว่า 124,000 ราย สามารถเปิดร้านค้าออนไลน์ได้กว่า 20,000 ร้านค้า มีผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาและขึ้นจำหน่ายออนไลน์แล้วกว่า 230,000 ผลิตภัณฑ์
ตั้งเป้าในปีนี้ มุ่งส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ทั่วประเทศให้มีโอกาสเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้สะดวกสร้างยอดขายให้แก่ผู้ประกอบการโดยเข้าไปช่วยเตรียมความพร้อมในการนำสินค้าเข้าสู่ตลาดออนไลน์ให้ความรู้และคำปรึกษาแนะนำในการทำธุรกิจบนตลาดออนไลน์
การจัดกิจกรรมสนับสนุนการขายบนตลาดออนไลน์ เช่น การส่งเสริมการขาย การชำระเงิน การส่งสินค้าให้ถึงมือลูกค้าอย่างเป็นระบบเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจอย่างเป็นระบบและยกระดับผู้ประกอบการให้มีความรู้ความเข้าใจดำเนินธุรกิจค้าขายทางออนไลน์ได้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน
หน่วยงานร่วม 5 แห่งแบ่งพื้นที่รับผิดชอบ ดังนี้…มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) รับผิดชอบพื้นที่ภาคกลางและตะวันตก, มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) รับผิดชอบพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก
ม.เชียงใหม่ รับผิดชอบพื้นที่ภาคเหนือตอนบน, สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ และ ม.ธรรมศาสตร์รับผิดชอบพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง
นอกจากนี้ยังบูรณาการความร่วมมือกับ E-Marketplace อีก 14 แห่ง เพื่อสนับสนุนและมอบสิทธิพิเศษให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ Lazada, Shopee, Thailandmall, Far e, Kha-leang.com, Inwmall, Tarad.com, PCHome, Beautynista, Pinsouq, shopseason, Priceza, Wongnai และ Hungryhub
ตัวอย่างเรียกน้ำย่อยเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา มทร.ธัญบุรีจัดอบรม “Content Marketing ทำคอนเทนต์ให้สุด ไม่ต้องหยุดที่แชร์” เรียนรู้การเปิดร้านออนไลน์ การทำคอนเทนต์การตลาดให้เหมาะกับธุรกิจและลูกค้า ให้กับผู้ประกอบ SME ในพื้นที่กรุงเทพฯ ภาคกลาง…ตะวันตก พร้อมทั้งบริการถ่ายภาพสินค้าฟรี
ประเด็นสำคัญมีว่า…ผู้เข้าร่วมการอบรมหรือผู้ประกอบการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม ติดตามสมัครเข้าร่วมโครงการฯได้ที่ www.smeonline.info, fb:SMEONLINE BY OSMEP และแอปพลิเคชัน “SME CONNEXT”
สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) บอกว่าเป้าหมายการทำงานของ สสว.ในปีนี้…สิ่งสำคัญคือ “SPEED” นโยบายหลักในการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนา SME ไปสู่การเป็น Modernization
“S” แรกมาจากคำว่า Smart คือความฉลาดรอบรู้
“P”…Proactive คือการทำงานเชิงรุก
“E”…Efficiency คือมีประสิทธิภาพ
“E”…Exclusive คือมีความพิเศษ
และ “D”…Digitalization คือการปรับกระบวนการทำงานสู่ระบบดิจิทัล ซึ่งเป็นกลไกหลักในการพัฒนา SME
โครงการ “SME ONLINE” ปีที่ 3 ภายใต้แนวคิด “Digital to Global”…ตอกย้ำอาวุธสำคัญ “ตลาดออนไลน์” คือโอกาสเข้าถึง “กลุ่มลูกค้า” เป้าหมายได้สะดวก สร้าง… “ยอดขาย” ให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเข้าไปช่วยเตรียมความพร้อมในการนำสินค้าเข้าสู่ตลาดออนไลน์
นับตั้งแต่ปี 2560-2561 มี SMEs ที่เข้าร่วมโครงการได้รับความรู้เกี่ยวกับการทำตลาดออนไลน์แล้วกว่า 120,000 ราย เตรียมความพร้อมในการถ่ายภาพสินค้าและจัดทำรายละเอียดสินค้ากว่า 265,000 ผลิตภัณฑ์
และ…สร้างยอดขายให้กับผู้ประกอบการกว่า 450 ล้านบาท
สุวรรณชัย ย้ำว่า เป้าหมายหลักของโครงการปีนี้คือการต่อยอดส่งเสริม…พัฒนาผู้ประกอบการมุ่งยกระดับศักยภาพให้พร้อมแข่งขันในตลาดออนไลน์ระดับสากลผ่าน e-Marketplace ชั้นนำทั้งระดับโลกและภูมิภาค
เช่น Amazon…Alibaba ขายสินค้าไปทั่วโลก Far-e ขายตลาดจีน Kha-leang.com ขายตลาดเวียดนาม กัมพูชา และพม่า Shopee เชื่อมโยงตลาดสิงคโปร์ PCHome เชื่อมโยงตลาดไต้หวัน Priceza เชื่อมโยงตลาด Southeast Asia เป็นต้น
“ยุคดิจิทัล” อะไรๆก็รวดเร็วทันใจ สั่งได้แค่เพียงปลายนิ้ว นอกจากเจ้าของธุรกิจจะต้องปรับตัวรับสถานการณ์การตลาดที่เปลี่ยนแปลงรอบทิศแล้ว ยังคงต้องคำนึงถึงเรื่องอื่นๆด้วย โดยเฉพาะข้อกฎหมายต่างๆ
เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร เพื่อเก็บภาษีอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-payment) หรือเรียกกันว่า พ.ร.บ.อีเพย์เมนต์
ที่ผ่านมาเป็นหนึ่งในกระแสร้อน สร้างความกังวลให้กับพ่อค้าแม่ค้าทั่วทุกหย่อมหญ้าอยู่ไม่น้อย คุยกันหนาหูว่า…นี่คือสิ่งที่สรรพากรกำลังขยับครั้งใหญ่ มุ่งหมายรีดภาษีตลาดออนไลน์
จับตาเนื้อหาที่ระบุว่า…สถาบันการเงินหรือผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-wallet) ต้องนำส่งข้อมูลธุรกรรมการฝากเงินและผู้รับโอนเงิน…
เฉพาะขารับ รวมกันทุกบัญชีในช่วงระยะเวลา 1 ปี จำนวนตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดรวมธุรกรรมขารับหรือขาเข้าตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป…หรือ 3,000 ครั้งต่อปีขึ้นไปให้แก่กรมสรรพากรเพื่อเสียภาษี
ความจริงอีกด้านมีว่า “พ.ร.บ.อีเพย์เมนต์” ไม่ใช่เรื่องรีดภาษีอย่างเดียว แต่เป็นการจัดระเบียบการเสียภาษีของประชาชนให้ถูกต้อง และสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย เสียภาษีตามระบบได้อย่างถูกต้อง
วันนี้…ต้องยอมรับความจริงที่ว่า ธุรกิจไม่ได้แยกโลกความจริง โลกออนไลน์ หากแต่ระบบได้ถูกเชื่อมโยงเข้าไว้ด้วยกันหมดแล้ว ไม่ว่าคุณจะมีหน้าร้าน หรือขายออนไลน์อย่างเดียวก็ต้องอยู่ในเวทีเดียวกัน
“ให้คิดว่าเหมือนเราเห็นช้างขี้ อย่าขี้ตามช้าง หมายความว่าเราต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง ทำตามก็สู้เขาไม่ได้เพราะงบน้อยกว่า เกิดทีหลังก็ต้องสู้…รบแบบกองโจรจึงจะชนะได้ ถ้ามีข้อมูลน้อยก็ต้องถามเติมเต็มตัวเองเพื่อที่เราจะได้รู้ว่าลูกค้าอยากกินอะไรจะได้ทำได้ถูกปาก…”คนในแวดวงโฆษณาคนหนึ่งเคยกล่าวไว้
การตลาด “ยุคดิจิทัล”…โลกออนไลน์เทรนด์ต่างๆเปลี่ยนเร็วมากพฤติกรรมผู้บริโภค “ข้อมูลอินไซด์” ถือเป็นวัตถุดิบชั้นดีในวิกฤติที่เป็นเหมือนโอกาสเช่นนี้จึงยังมีที่ว่างสำหรับทุกคนเสมอ.
“ให้คิดว่าเหมือนเราเห็นช้างขี้ อย่าขี้ตามช้าง หมายความว่า เราต้องมีความเป็นตัวของตัวเองทำตามก็สู้เขาไม่ได้เพราะงบน้อยกว่า เกิดทีหลังก็ต้องสู้…รบแบบกองโจรจึงจะชนะได้ ถ้ามีข้อมูลน้อยก็ต้องถาม เติมเต็มตัวเองเพื่อที่เราจะได้รู้ว่าลูกค้าอยากกินอะไร จะได้ทำได้ถูกปาก…”คนในแวดวงโฆษณาคนหนึ่งเคยกล่าวไว้