โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2562
เรื่อง : ปอย ภาพ : วิศิษฐ์ แถมเงิน
สองนักวิจัยรุ่นใหม่ทำงานด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน ด้วยอยากเห็นเมืองไทยเต็มไปด้วยบ้านและอาคารแนว Well-Being อยู่แล้วต้องสุขกาย สุขใจ ไม่เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อม ดีทั้งต่อสุขภาพ และความปลอดภัยต่อการใช้ชีวิตสำหรับคนทุกเพศทุกวัยได้แท้จริง
สฤกกา พงษ์สุวรรณ กับ วสุธา เชน สองนักวิจัยของ RISC – ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ศูนย์นี้ก่อตั้งโดยกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ระดับแนวหน้า แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC) มีหลักการดำเนินธุรกิจพัฒนา ลงทุน และจัดการเพื่อที่อยู่อาศัยทั้งแบบบ้านเดี่ยว คอนโดมิเนียม รวมไปถึงตึกระดับบิ๊กโปรเจกต์ ในแบบมิกซ์ยูส
มีพันธกิจใส่ใจทุกสิ่งที่มีชีวิตบนโลกใบนี้ โดยให้ความสำคัญกับการวิจัย การพัฒนาทุกๆ โครงการภายใต้แบรนด์ แมกโนเลียส์ และวิสซ์ดอม อัพเดทนวัตกรรมอยู่เสมอ เพื่อการ ใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นที่อยู่อาศัยชูคุณค่าให้แก่สังคมได้ชัดเจน
ที่นี่คือแหล่งความรู้ด้านงานวิจัยของภาค เอกชน ศูนย์วิจัยตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวงย่านราชประสงค์ พื้นที่ 990 ตารางเมตร แบ่งออก เป็น 8 โซน มีการติดตั้งระบบอัจฉริยะ (Intelligent System) ตรวจจับการใช้พลังงานและตรวจจับคุณภาพอากาศ (IAQ) และควบคุมใน ทุกพื้นที่ เพื่อสุขภาวะที่ดี ศูนย์ RISC ได้รับ การรับรองมาตรฐานจาก Well Building Standard โดยสถาบันระดับสากล The International WELL Building Institute (IWBI) เป็นแห่งแรก ของไทย
การทำงานในกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลทาง สิ่งแวดล้อม ทั้งในกลุ่มนักวิชาการไทยและแวดวงระดับนานาชาติ ซึ่งจัดเป็นผู้ริเริ่มทำอาคารรูปแบบ Well ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เฉียงใต้
สองคนทำงานได้พูดคุยกันถึงแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อสังคม โดยเอื้อประชาชน ทุกๆ คนมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการอนุรักษ์โลกอนาคต นับเป็นคนทำงานวิจัยรุ่นใหม่ที่สร้างทีมอย่างแข็งแกร่ง
“ที่นี่คือแหล่งความรู้”
นักวิจัยหญิงในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน สฤกกา หรือ ดร.จั้ม บอกว่า RISC เปิดให้เข้าเยี่ยมชม ตั้งแต่เวลา 10.00-17.00 น. ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ใครสนใจสามารถ เดินเข้ามาชมได้เลย ที่นี่เปิดให้เข้าชม “ฟรี” อีกทั้งยินดีมอบองค์ความรู้ที่มีทุกอย่างให้โดยไม่มีปิดบัง
หรือใครจะเข้ามานั่งทำงาน นั่งคุย แลกเปลี่ยนความรู้ความเห็นกันก็ได้ สำหรับนักเรียน นักศึกษา หรือนักพัฒนาอสังหาฯ
รวมทั้งคนที่สนใจข้อมูลเชิงลึก ใคร่รู้ขอติดต่อขอเข้ามาฟังบรรยายแบบลงลึก หรือ สัมผัสสถานที่จริงได้เลย ที่นี่ยังเป็นที่ตั้งของ Eco Material Library รวบรวมรายละเอียด และตัวอย่างวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกว่า 300 รายการ แสดงให้เห็นชัดถึงความมุ่งมั่นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพชีวิตให้แก่วงการอสังหาฯ ได้ยั่งยืน
“งานของเราพูดเรื่องอนาคต เช่น ปัญหา คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดขึ้นได้ในบ้าน เรื่องสารเรดอลในหินแกรนิต วัสดุหรูหราที่ใช่ว่าจะมีผลดีต่อสุขภาพ และอีกหลายๆ ปัญหา ทีมวิจัยเราทำมา 10 กว่าปีแล่วค่ะ ทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ได้คิด (ทำ) เพื่อเป็นฐานด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม เน้นในเรื่องความปลอดภัยทั้งสุขภาพจิต และสุขภาพใจ จะทำ อย่างไรให้ผู้อยู่อาศัยมีความสุข
ในช่วงปีที่ผ่านมาเรื่องยากๆ เหล่านี้ กำลังถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในวงการอสังหาฯ ในกลุ่มที่ใส่ใจผู้อยู่กันมากขึ้นค่ะ การออกแบบ ที่อยู่อาศัยทำให้คนมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้ กลายเป็นเรื่องเดียวกันและไม่ใช่เรื่องแปลกแยก กับการกินคลีน การวิ่งเพื่อสุขภาพ แล้วคนยุคนี้ก็เข้าใจ และเลือกใช้ชีวิตที่มีคุณภาพกันมากขึ้นด้วยค่ะ”
งานคิดค้นที่อยู่อาศัยให้คนอยู่แล้วมีความสุข จะเปลี่ยนนิยามคำว่าลักซ์ชัวรี่ในอนาคต สฤกกา ให้ความหมายใหม่ว่า คือ ที่อยู่ซึ่งให้สุขภาวะ ไม่ใช่ที่อยู่ที่สร้างจากวัสดุ ราคาแพงอีกต่อไป
“อาคารที่ทำให้เราพูดคุยกับคนข้างๆ มากขึ้น อาคารที่อยู่แล้วสุขภาพดีขึ้น หรือไปทำงานเครียดๆ พอกลับเข้ามาในบ้านความเครียดก็หายวับไปได้ทันที หรือพ่อแม่ลูกมีปากเสียงกันประจำ แต่บ้านหลังใหม่ที่เพิ่งเข้ามาใช้ชีวิตอยู่กลับไม่เคยทะเลาะกันเลย
นี่คือสิ่งที่เรานำผลงานวิจัยใส่เข้าไปใช้ค่ะ และในอนาคตก็คือการคิดเทคโนโลยีเพื่อความสุขของผู้อยู่อาศัยมากขึ้น
เน้นสุขภาพจริงๆ ค่ะ เช่น มอนิเตอร์อากาศ อุณหภูมิ ฝุ่น ซึ่งเมื่อแสดงผลออกมาแล้ว ก็ต้องไม่หยุดแค่นี้ แต่ต้องควบคุมต่อไปได้อีกนะคะ ในเรื่องไลฟ์สไตล์ความปลอดภัย เช่น ถ้าลืมถอดปลั๊กเตารีด มีการคิดค้นระบบคอนโทรลสั่งปิดตัดสวิตช์โดยไม่ต้องตัดไฟ ตู้เย็นก็ยังทำงานต่อไปได้ค่ะ ซึ่งเราไม่ได้บอกว่าเทคโนโลยีจะมาแทนคน แต่จะช่วยดูแลการใช้ชีวิตของคนให้มีคุณภาพชีวิตที่มีความสุขมากขึ้นค่ะ”
พื้นที่ทำงาน “กรีน”
นักวิจัยหนุ่มรุ่นใหม่ วสุธา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และระดับปริญญาโท MSc in Advanced Sustainable Design จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ สหราชอาณาจักร
เริ่มต้นการทำงานเป็นสถาปนิก จากนั้น ผันตัวสู่งานด้านวิจัยของศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ RISC ด้วย พื้นฐานทั้งศาสตร์และศิลป์ ทำให้สนใจรูปแบบ งานวิจัยที่ให้ความสำคัญทั้งด้านตรรกะ เหตุผล และความสวยงาม
งานรับผิดชอบในตำแหน่งสถาปนิกวิจัยอาวุโส RISC ต้องบูรณาการองค์ความรู้ เกี่ยวกับสุขภาวะที่สิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างด้วย วสุธา มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนประเด็นนี้ให้เป็นที่เข้าใจในวงกว้าง ด้วยการนำมาตรฐาน การออกแบบระดับสากล Well มาปรับใช้ได้จริงกับการพัฒนาโครงการ
“ตอนเริ่มงานก็คิดเสียดายครับว่า เราอดออกแบบแล้วนะ แต่การได้ทำงานกับ รุ่นพี่นักวิจัยทีม RISC ผมได้ไปฟังเสวนาทั้งในและต่างประเทศ ขอใช้คำนี้ได้เลยครับว่าเปิดกะโหลกฟังนักวิชาการเจ๋งๆ ให้ข้อมูล ใหม่ๆ เพิ่มประสบการณ์การทำงานให้เราได้ ตลอดเวลา
วันนี้คนออกมาวิ่งเพื่อดูแลสุขภาพ กลายเป็นเทรนด์ แล้วก็คือเรื่องเดียวกันครับ เทรนด์งานออกแบบที่อยู่อาศัยก็กำลังพูดถึงสุขภาพ ผมได้มาทำงานกับพี่ๆ มุ่งทำงาน “กรีน” หัวใจเดียวกัน และกลายเป็นพื้นที่การทำงานของเราที่คิดเหมือนๆ กัน โดยไม่แค่คิดนวัตกรรมรักษ์โลก หรือคิดดูแลแค่ สิ่งแวดล้อม”
ในงานสัมมนามีประโยคที่วสุธาได้ฟัง แล้วคิดว่า มันใช่เลย! ประโยคที่ว่าก็คือ โลกเรา ไม่เคยหยุดการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ยุคน้ำแข็ง มาแล้วที่มีการเกิดไคลเมต เชนจ์ หรือภาวะ โลกร้อนขึ้นอย่างรุนแรง และเปลี่ยนโลกไปสู่อีกยุค
“วันนี้โลกคงเกิดวิวัฒนาการไม่มีวันหยุด ซึ่งเรื่องนี้ก็อาจดูไกลตัวนะครับ ฟังดูอาจเหมือนว่าไม่อยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของเราเลย เราอาจคาดไม่ถึงกับการใช้ชีวิตด้วยความเคยชิน บ้าน หรือคอนโดที่เราใช้ชีวิตอยู่ด้วย 10-20 ปี กลายเป็นสิ่งที่มีผลต่อสุขภาพเราอย่างมากที่สุด
การใช้ชีวิตในห้องเล็กลงทุกวันพื้นที่ 20 ตร.ม. บ้านในเมืองมีห้องแทบเหมือนตู้ปลาและไม่มีการถ่ายเทอากาศ งานของเราคือนำกรีนเข้าไปอยู่ในงานดีไซน์ ผมได้คิดงานกว่างานออกแบบที่เคยทำมาก่อนหน้านี้นะครับ”
ในฐานะคนทำงานพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย วสุธาไม่คิดเพียง 1 ห้องมีแอร์ 2 เครื่อง แต่ควรมีเครื่องระบายอากาศให้เพิ่ม ไปด้วย เพื่อแลกอากาศภายในห้องกับนอกห้อง เกิดการไหลเวียน
“ตึกอาคารบ้านต้องดีกับคนอยู่ คอนโด มีคนแก่ที่เฝ้าห้องทั้งวันก็สบายขึ้น ไม่ป่วยง่าย ไม่เป็นอัลไซเมอร์ได้ง่ายๆ ด้วยครับ”
โครงการ เดอะ ฟอเรสเทียส์ (The Forestias) คือ การสร้างชุมชนที่ส่งเสริมให้มีความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว และคนหลากหลายวัย ด้วยพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ใจกลางโครงการ วสุธาชี้ว่ากระบวนการวิจัยของการศึกษานี้ ต้องการเก็บข้อมูลปัจจัยด้านสุขภาพของคนในชุมชนที่มีผลจาก การอยู่ร่วมกัน สร้างพื้นที่การออกกำลังกาย การเข้าถึงพื้นที่สีเขียว และการวิเคราะห์ประมวลวิจัยให้ออกมาเป็นรูปธรรมหรือสุขภาพ ของผู้ใช้โครงการที่ชี้วัดได้ รวมทั้งสิ่งที่ จับต้องไม่ได้เป็นนามธรรม หรือสุขภาวะทางด้านอารมณ์ และจิตใจ สิ่งที่คนเมืองล้วนต้องการ
นอกจากนี้ วสุธายังมีส่วนร่วมอีกหนึ่งโครงการวิจัยที่สำคัญต่อการขับเคลื่อน เรื่องสุขภาวะในอาคารของไทย ได้แก่ “COGfx study : Global Buildings” เป็นการศึกษาร่วมกันกับศูนย์เพื่อสุขภาพและ สภาพแวดล้อมสากล (Center for Health and Global Environment – CHGE) โดยศูนย์วิจัย RISC ได้รับคำเชิญเพื่อเข้า ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเก็บข้อมูล และนำไปศึกษาต่อยอด ถึงปัจจัยของสภาพแวดล้อมภายในอาคารสำนักงานที่ส่งผลต่อสุขภาพ และประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน
ผลลัพธ์ของงานวิจัยนี้ ประยุกต์ไปสู่การทำงานจริง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอาคารในระดับสากล
“เรากำลังเผชิญหน้ากับปรากฏการณ์เกาะความร้อน หรือ Heat Island Effect ปรากฏการณ์พื้นที่ในมหานครมีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณโดยรอบ ความแตกต่างของอุณหภูมิทำให้ไม่มีลมหรือมีลมพัดอ่อน สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดเกราะความร้อนที่เราเรียกว่า ป่าคอนกรีตสร้างเกราะความร้อน ครอบเมือง และเป็นภาพใหญ่ของโลก มหานครปารีสมีเป้าหมายลดอุณหภูมิเมืองให้ได้ 2 องศาเซลเซียส
ทิศทางการทำงานของเราก็ตั้งเรื่องนี้เป็นโจทย์เช่นกันครับ ทีมวิจัย RISC เกิดขึ้นมาเพื่อคิดวิธีรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และเรื่องนี้ก็เป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถทำได้สำเร็จโดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มันต้องเป็นความร่วมมือกันหลายๆ ฝ่าย เช่น การลดโลกร้อน ถ้าทั้งโลกเราช่วยกัน ตัวเลขอุณหภูมิมันจะค่อยๆ ลดลงได้แน่ๆ ครับ”
ด้วยความมุ่งมั่นในการสร้างสุขภาวะที่ดีในสิ่งแวดล้อม วสุธามีโอกาสเป็นผู้จัดการร่วมในงานวิจัย “Health And Well-Being” ของโครงการ เดอะ ฟอเรสเทียส์ (The Forestias) ได้ร่วมงานกับนักวิจัยชั้นนำจากคณะสาธารณสุข แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จึงถือ เป็นการยกระดับมาตรฐานของวงการอสังหาฯ ในไทยไปได้อีกหนึ่งรุ่นคนทำงาน
“เราทำระบบ Well-Being มีการระบาย อากาศภายนอกเข้ามาข้างในบ้าน มีเซ็นเซอร์ตรวจวัดฝุ่นละอองที่ทำให้รู้ว่าจุดที่เราอยู่ อากาศดี-ไม่ดี ระบบแอร์ แสง ที่พอเหมาะ พื้นที่ปูมาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาล เราสร้าง ตึกกลางเมืองที่อยู่สบาย ผมทำงานอยู่กับทีมนี้ 3 ปีแล้วครับ
การร่วมทีมวิจัยพื้นที่ RISC คือ งานที่ผมภาคภูมิใจมาก งานพัฒนาธุรกิจอสังหาฯ ก็คือ ผู้สร้างเมือง แล้วการสร้างสิ่งที่ดีก็ ไม่แค่ขายโครงการ ผมมีหลักการทำงาน โดยคิดว่าโครงการแรกอาจไม่สมบูรณ์นัก แต่เราก็จะได้ข้อมูลเพื่อสร้างโครงการที่ 2 ให้สมบูรณ์แบบขึ้นครับ”