ข่าวสด (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 08 มีนาคม พ.ศ. 2562
ปลื้มรัฐบาลอนุมัติงบสร้าง ‘บัณฑิตพันธุ์ใหม่’
รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบอนุมัติงบประมาณกลางเพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ดำเนินโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ปีการศึกษา 2561-2562 นั้น ต้องขอบคุณรัฐบาลที่อนุมัติงบประมาณดังกล่าว เพราะโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ หลายมหาวิทยาลัยเริ่มดำเนินการรับนักศึกษา และเรียนในภาคเรียนที่ 2 แล้ว ซึ่งมหาวิทยาลัย ใช้งบประมาณของตัวเองในการจัดการเรียนการสอนไปก่อน เมื่อครม.อนุมัติงบฯ มาให้แล้วก็อยากให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เร่งประสานไปยังสำนักงบประมาณ เพื่อจัดสรรงบฯก้อนนี้ไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่อยู่ในโครงการนี้ต่อไป ส่วนงบฯ ที่จะใช้ในปีต่อๆ ไปนั้น ทราบว่าทาง ศธ.เตรียมแผนให้ใช้งบฯ ปกติประจำปีไว้แล้ว ดังนั้นทุกมหาวิทยาลัยที่จัดการเรียนการสอนในโครงการนี้ก็น่าจะสบายใจได้
อธิการบดีมทร.ธัญบุรีกล่าวต่อว่า การจัดการเรียนการสอนในโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่นี้จะมีทั้งหลักสูตร ปริญญาตรี 4 ปี และหลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี รวมถึงการอบรมหลักสูตรระยะสั้นเพื่อเข้าสู่อาชีพ ทุกสาขาที่เปิดสอนล้วนเป็นสาขาที่ตอบโจทย์ 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) โดยเฉพาะหลักสูตรระยะสั้น
รศ.ดร.ประเสริฐกล่าวด้วยว่า การเรียนการสอนหลักสูตรนี้ได้รับการอนุมัติเมื่อปีที่ผ่านมา โดยนักศึกษาที่เรียนในหลักสูตรนี้ทุกคนจะต้องไปฝึกงาน และทำงานในภาคอุตสาหกรรมอย่างเข้มข้น จึงเชื่อว่านักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ออกไปจะเป็นแรงงานที่สามารถตอบโจทย์ในกลุ่ม 5S-curve ของรัฐบาลได้อย่างแน่นอน
“ส่วนกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช. ปรารภให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ปรับลดการจัดการเรียนการสอนในสาขาที่ไม่เป็นไปตามความต้องการ ของตลาด หากมหาวิทยาลัยไม่ปรับลดให้ ศธ.ใช้มาตรการตัดลดงบประมาณนั้น ที่ผ่านมาในการประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) 9 แห่ง มีการพูดถึงเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง และปรับเปลี่ยนทิศทางเพื่อผลิตบัณฑิตให้ตรงกับโลกอาชีพในอนาคตและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่วางแผนไว้”รศ.ดร.ประเสริฐกล่าว
รศ.ดร.ประเสริฐกล่าวต่อว่า สำหรับหลักสูตรของ 9 ราชมงคลที่ไม่ตรงกับ 10 S-curve อาชีพ ขณะนี้ปรับเปลี่ยนไปหมดแล้ว เรามุ่งเน้นผลิตบัณฑิตที่ตรง ความต้องการของตลาด และ การฝึกบัณฑิตนักปฏิบัติที่มีทักษะในการแก้ปัญหา จึงเป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรมมาก นอกจากนี้เรายังส่งเสริมให้นักศึกษาต้องมีมาตรฐาน ICT ภาษาอังกฤษ ดังนั้นจึงเชื่อว่า กลุ่ม 9 ราชมงคล จะไม่มีปัญหาเรื่องของการผลิต บัณฑิตไม่ตรงความต้องการของโลกอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี