กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562
สุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์
facebook.com/SuwitBrand
เวลาลงพื้นที่ในชุมชนตามต่างจังหวัดโดยเฉพาะเมืองรอง สิ่งที่พบคือ ชาวบ้านส่วนใหญ่จะเป็นรุ่นคุณปู่คุณย่า พ่อแม่ และหลานตัวเล็กๆ แต่กลุ่มคนที่เราพบเห็นน้อยจะเป็น เด็กวัยรุ่นวัย วัยนักศึกษาที่เข้าไปศึกษาต่อตามมหาวิทยาลัย โดยผู้ใหญ่หวังว่าเมื่อเขาหรือเธอจบการศึกษา จะมีอาชีพการงานในเมืองใหญ่ ได้เงินเดือนสูง พร้อมอนาคตที่สดใสในระดับผู้บริหาร
เช่นเดียวกับ เนติพงศ์ ไล่สาม อ.ระโนด จ.สงขลา ที่คุณพ่อคุณแม่ส่งไปเรียนจนได้ดีกรีสถาปัตยกรรมศาสตร์ จากสถาบันเทคโนโลยี ราชมงคลธัญบุรี โดยหวังให้เป็นเจ้าคนนายคนหลังจบการศึกษาและมีรายได้ที่ดี แต่เนติพงษ์เลือกเดินทางกลับบ้าน โดยขอเวลา 2 ปีในการพิสูจน์ให้เห็นว่า อัตลักษณ์ของงานร้อยลูกปัดบนชุดมโนราห์ ภูมิปัญญาช่างฝีมือชาวบ้านสามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชาวชุมชนได้ เขานำความรู้ด้านสถาปัตยกรรมมาผนวกเข้ากับการร้อยลูกปัดตามแบบโบราณ พลิกงานลูกปัดบนชุดมโนราห์ที่คุ้นตาให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น โคมไฟมโนราห์รูปทรงต่างๆ ฉัตรไม้แขวนหนวดฤๅษี รวมไปถึง ที่รองแก้วรองขวด กระเป๋าถัก และเครื่องประดับร่างกาย ช่วยสร้างอาชีพเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้าน จนเกิดการรวมตัวเป็น กลุ่มหัตถกรรมลูกปัดมโนราห์ ที่ทำหน้าที่สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ และเป็นศูนย์กลางในการส่งออกงานหัตถกรรมพื้นบ้าน ทั้งยังเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสวิถีชีวิต พร้อมเรียนรู้ภูมิปัญญางานช่างฝีมือการร้อยลูกปัดมโนราห์ด้วย
อีกหนึ่งแนวคิดที่เนติพงศ์แสดงให้เห็นว่า ภูมิปัญญาที่ซ่อนตัวอยู่ตามท้องถิ่นสามารถนำมาต่อยอดสร้างมูลค่า และคุณค่าได้อีกมากมาย อีกทั้งเป็นแนวทางสืบสานองค์ความรู้เหล่านั้น ไม่ให้จางหายไปตามกาลเวลา
ที่สำคัญการผนวกผลิตภัณฑ์เข้ากับการท่องเที่ยววิถีชุมชน คือ อีกหนึ่งแนวทางในการกระจายองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นการสร้าง “คุณค่า” และ “มูลค่า” เพิ่มผ่านงานออกแบบสร้างสรรค์