เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2561
“โพสพาญชลี” …นี่เป็นทั้งชื่อนิทรรศการ และชื่อผลงานพุทธศิลป์ ที่นับว่า “มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง” โดยที่มีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ “ธ.ก.ส.” เป็นแกนหลักสนับสนุนการรังสรรค์…
“ศิลปะมงคลแห่งศรัทธาไทย”
ที่สำคัญ… ในวันที่ 19 ธันวาคม 2561 นี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ จะเสด็จทรงเป็นประธานในการเปิด นิทรรศการศิลปะแห่งศรัทธา “โพสพาญชลี” ณ หอศิลป์ ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ บางเขน กรุงเทพฯ ซึ่งนิทรรศการดังกล่าวนี้จัดขึ้นโดย ธ.ก.ส. ร่วมกับ ไร่เชิญตะวัน และ เรือนศิลป์ขัติยรัตน์ เพื่อเทิดคุณ “พระแม่โพสพ”
“ศรีเทวนารีแห่งข้าว”…
“ขวัญ”กำลังใจ…แห่ง”ชาวนา”
ทั้งนี้นิทรรศการศิลปะแห่งศรัทธา “โพสพาญชลี” ณ หอศิลป์ ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ มีการเปิดให้ประชาชนที่สนใจเข้าชมได้ช่วงระหว่างวันที่ 19-28 ธันวาคม 2561 เวลา 09.00 -16.00 น. โดยในนิทรรศการนี้มีการจัดแสดงผลงานศิลปะมงคลทั้งในรูปแบบจิตรกรรม และรูปแบบประติมากรรม รวมจำนวนกว่า 100 ผลงาน ที่ล้วนแล้วแต่เป็นผลงานศิลปะมงคลที่สะท้อนถึง พลังแห่งความศรัทธาของเกษตรกรโดยเฉพาะชาวนา ตลอดจนชาวเอเชียอาคเนย์ ที่มีต่อ…
“พระแม่โพสพ” องค์ “เทพีแห่งข้าว”
อภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. กล่าวว่า… “…นับเป็นพระกรุณาต่อเกษตรกรและชาว ธ.ก.ส เป็นอย่างยิ่ง ที่ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ จะเสด็จทรงเป็นประธานในการเปิดนิทรรศการศิลปะแห่งศรัทธา “โพสพาญชลี” ณ หอศิลป์ ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่…”
ในการจัดนิทรรศการศิลปะแห่งศรัทธา “โพสพาญชลี”ครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการที่ทาง ธ.ก.ส. ได้มีการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อที่จะเป็นการสร้างองค์ความรู้ เกี่ยวกับ “พระแม่โพสพ” ที่เป็นเสมือน “สัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธัญญาหาร” ที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน ทั้งมุมมองในด้านความคิด ในด้านความเชื่อ และในด้านความศรัทธา
การดำเนินการในเรื่องนี้ ได้รับความอนุเคราะห์จาก รศ.ดร.สุวัฒน์ แสนขัติยรัตน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นผู้ดำเนินโครงการ และถ่ายทอดแรงบันดาลใจที่ได้จากงานวิจัยดังกล่าวมาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะ ทั้งประเภทจิตรกรรมและประเภทประติมากรรม ในรูปแบบ “เมล็ดข้าว” ซึ่ง สร้างด้วยวัสดุทองแดง “สูง 3.5 เมตร”
“…ผลงานศิลปะดังกล่าว ได้นำมาจัดแสดงในนิทรรศการศิลปะแห่งศรัทธา “โพสพาญชลี” ณ หอศิลป์ ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ และ หลังเสร็จสิ้นการจัดนิทรรศการแล้ว จะมีการนำผลงานที่จัดแสดงไปติดตั้ง ณ ศูนย์เรียนรู้การเกษตรในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ “ซแรย์ อทิตยา” ที่ ต.เทนมีย์ จ.สุรินทร์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความเคารพศรัทธา และเป็นขวัญกำลังใจแก่ชาวนาไทยต่อไป…” …ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวอย่างไรก็ดี อย่างที่ได้ระบุไว้ตั้งแต่ตอนต้นว่า “โพสพาญชลี”เป็นทั้งชื่อนิทรรศการ และชื่อ ผลงานพุทธศิลป์ ที่น่าสนใจ ซึ่งกล่าวสำหรับผลงานพุทธศิลป์นั้น ได้มีการรังสรรค์…
“โพสพาญชลีพระแม่โพสพ ยั่งยืน : มั่งมี ศรีสุข”
ในรูปแบบ”เหรียญศิลปะมงคล”
นี่เป็นอีกหนึ่งผลงานพุทธศิลป์ชิ้นสำคัญที่รังสรรค์โดย รศ.ดร.สุวัฒน์ ซึ่งทางผู้จัดการ ธ.ก.ส. ได้ระบุถึง “เหรียญศิลปะมงคล โพสพาญชลีพระแม่โพสพ ยั่งยืน : มั่งมี ศรีสุข”นี้ไว้ว่า… เป็นอีกส่วนจากความร่วมมือระหว่าง ธ.ก.ส. กับไร่เชิญตะวัน และเรือนศิลป์แสนขัติยรัตน์ ซึ่ง “พระแม่โพสพ”นั้นถือเป็น “เทพผู้ดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์ด้านธัญญาหาร”ที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน และเป็นขวัญกำลงใจของชาวนาและผู้ประกอบอาชีพเกษตรมาเป็นเวลาช้านาน
“เหรียญศิลปะมงคล โพสพาญชลีพระแม่โพสพ ยั่งยืน : มั่งมี ศรีสุข” นี้ ทั้งมีความงดงามและมีคุณค่าทางด้านศิลปะ อีกทั้งทุกเหรียญยังผ่านพิธีพุทธาภิเษกและเทวาภิเษกเพื่อความเป็นสิริมงคลเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ที่เป็นเจ้าของ โดยมีการเปิดให้ผู้สนใจทำบุญบูชาเหรียญศิลปะมงคลดังกล่าว ซึ่งมี 5 แบบ ประกอบด้วย… เหรียญเนื้อทอง, เหรียญเนื้อเงิน, เหรียญเนื้อทองแดงรมดำ, เหรียญเนื้อเงินพร้อมกรอบเข็มกลัดเงิน และเหรียญเนื้อทองแดงพร้อมกรอบเข็มกลัดทองแดงโดยรายละเอียดเพิ่มเติมและการสั่งจองตรวจสอบได้ที่ www.baacclub.me
“การเปิดให้มีการทำบุญบูชา “เหรียญศิลปะมงคล โพสพาญชลี พระแม่โพสพ ยั่งยืน : มั่งมี ศรีสุข” ดังกล่าวนี้เพื่อเป็นการจัดหาทุนสนับสนุนการดำเนินงานของโรงเรียนชาวนาพุทธเศรษฐศาสตร์ และสถานปฏิบัติธรรมไร่เชิญตะวัน จังหวัดเชียงราย รวมถึงเพื่อการจัดหาเครื่องมือแพทย์ และจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ มอบให้โรงพยาบาลที่ขาดแคลน และ ผู้ป่วยติดเตียงที่ยากไร้ในชนบท”…ทาง ผู้จัดการ ธ.ก.ส. อภิรมย์ สุขประเสริฐ ระบุไว้
…ทั้งนี้ “โพสพาญชลี” ทั้งนิทรรศการศิลปะมงคล ผลงานพุทธศิลป์ที่มีการรังสรรค์ขึ้นและจัดแสดงในนิทรรศ การศิลปะมงคล และรวมถึงผลงานพุทธศิลป์ในรูปแบบเหรียญศิลปะมงคล อันยึดโยงโดยตรงกับ “พระแม่โพสพ”นั้น…ล้วนแล้วแต่ “มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง”ทั้งในมิติ “ขวัญกำลังใจแห่งเกษตรกรไทย”และในมิติ…”ศิลปะมงคลแห่งศรัทธาไทย”.