สยามรัฐ ฉบับวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2561
หนึ่งในปัญหาใหญ่ของการดูแลผู้ป่วยอัมพาต ผู้ป่วยสูงอายุที่ต้องนอนติดเตียงที่เป็นความยากลำบากของผู้ดูแลในการทำธุระต่างๆ ในชีวิตประจำวันให้กับผู้ป่วย คือ การยก การเคลื่อนย้าย
จึงเกิด “ชุดยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากเพดาน” (Ceiling Lift) ด้วยมันสมองและสองมือ ผลงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี
นำทีมคิดค้นพัฒนาโดย รศ.ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ ร่วมด้วย นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ ประกอบด้วยนายทศพล ชูชาติ นายศราวุธ ฤทธิ์พันธุ์ม่วง นายชนัญญู สุวรรณมีสระ และ นายชาญชัย สุดมี
รศ.ดร.เดชฤทธิ์เล่าว่า จากปัญหาของผู้ดูแลในการยกตัวผู้ป่วยเพื่อทำธุระต่างๆให้กับผู้ป่วย ตลอดจนพาไปเข้าห้องน้ำ รวมทั้งสถานสงเคราะห์ต่างๆ ที่ต้องดูแลผู้ป่วยหลายเตียงพร้อมๆ กัน จะมีปัญหาอย่าง
มากในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง เนื่องจากไม่สะดวกในการยกหรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยนั่นเอง
ดังนั้น จึงออกแบบชุดยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากเพดานต้นแบบขึ้นมา โดยอุปกรณ์ต่างๆ จะถูกยึดติดที่คานหรือบนเพดานโดยจะมีจุดแยก (Junction) แบบวงกลมและแบบสับราง
ทั้งนี้ จะประกอบด้วย 3 ส่วนคือ 1.ส่วนที่เป็นฮาร์ดแวร์(Hardware) ประกอบด้วย โครงสร้างราง ชุดแยก มอเตอร์เคลื่อนที่มอเตอร์สับรางแบบวงกลม มอเตอร์สับรางแบบแยก เซ็นเซอร์และอื่นๆ
2.ส่วนที่เป็นระบบควบคุมจะมีไมโครคอนโทรลเลอร์ เพาเวอร์ไดร์มอเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 3.ส่วนที่เป็นซอฟต์แวร์จะใช้ภาษาซี ในการเขียนคำสั่งการทำงาน
นายทศพล ชูชาติ หนึ่งในทีมงานนักศึกษากล่าวถึงหลักการทำงานของชุดยกฯ ดังกล่าวว่า จะมี 5 สถานีคือ สถานีที่ 1, 2, 3,4 และ 5 เมื่อต้องการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากสถานีที่ 1 ไป สถานีที่5 ก็สามารถเลือกกดสถานีที่จะไปได้
ส่วนถ้าต้องการกดเลือกยกผู้ป่วยจากสถานีที่ 5 ไปสถานีที่ 2 ก็สามารถเลือกกดได้ โดยไปได้ทุกสถานี โดยเฉพาะสถานีที่ 5 อาจเป็นสถานีห้องน้ำ เราสามารถกดเลือกให้ยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังห้องน้ำ เมื่อทำธุระเสร็จก็สามารถเลือกกดให้ยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยกลับมายังเตียงนอนได้
สำหรับผู้สนใจสามารถเข้ามาดูชุดยกและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากเพดานต้นแบบ ได้ที่สาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม 0-2549-4746