นี่คืออีกหนึ่ง “ย่างก้าว” สำคัญสำหรับวงการศิลปะและวัตถุมงคลของ “รศ.ดร.สุวัฒน์ แสนขัติยรัตน์” อาจารย์ประจำ ภาควิชาศิลปะไทย ภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในการรังสรรค์ผลงานคู่ขนานที่กล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า “ลงตัว” และน่าสนใจยิ่งนั่นก็คือการค้นคว้าวิจัยอันนำมาสู่การแสดงผลงานประติมากรรม จิตรกรรม และวัตถุมงคลที่ชื่อ “โพสพาญชลี” อันหมายถึงการสักการบูชาแม่พระโพสพ เพื่อรำลึกถึงในบุญคุณของเมล็ดข้าว
ทั้งนี้ ใครที่ติดตามผลงานศิลปะของ รศ.ดร.สุวัฒน์จะรับรู้ว่า เดินไปในแนวทาง “พุทธศิลป์” เป็นหลัก และมุ่งเน้นไปที่ “สัตว์หิมพานต์” เป็นสำคัญ โดยเฉพาะ “ครุฑ” ซึ่งเป็นเป็นที่รู้จักในหมู่นักสะสมศิลปะและวัตถุมงคลเป็นอย่างดี ส่วนคราวนี้ เป็นผลงานต่อเนื่องด้วยเหตุที่มีโอกาสได้ไปศึกษาและขอความรู้จาก “ว.วชิรเมธี” ที่ไร่เชิญตะวัน จ.เชียงราย ในการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ซึ่งมีโครงการเกษตรอินทรีย์ร่วมกับชาวนาพื้นถิ่นจำนวนกว่า 500 ครอบครัว ทำให้มีความสนใจในเรื่องราวของ แม่พระโพสพที่มีความผูกพันกับชาวนาไทยนับเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
จากนั้นจึงได้ได้ศึกษาค้นคว้าและตัดสินใจได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่อง “แม่พระโพสพ” พร้อมขอรับทุนสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อให้งานวิจัยกระจายลงไปสู่ชุมชน รวมทั้งมีแนวคิดที่จะสร้างประติมากรรมสัญลักษณ์ขึ้นมาเพื่อถวายแด่ ว.วชิรเมธี เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ชาวนาที่ร่วมโครงการ
ที่น่าสนใจคือ ประติมากรรมแม่พระโพสพที่สร้างขึ้นมานั้น ได้รับคัดเลือกจาก “สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)” ให้เข้าไปประกวดที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และได้รับรางวัลเหรียญบรอนซ์กลับมาอีกด้วย
“ความจริงเทพีแห่งข้าวมีอยู่ในหลายประเทศ และมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ความจริงฝรั่งก็เทพีแห่งข้าวเหมือนกัน เช่น เทเลส ดีมิเทอร์ ส่วนฝั่งตะวันออกก็เรียกกันในรายชื่อ ของเราก็มีชื่อแตกต่างกันไป เช่น แม่พระโพสพ แม่พระโพสี ญี่ปุ่นใช้ ชื่ออินาริ มหิยังค์ของอินโดนีเซีย ขณะที่รูปลักษณ์แม่พระโพสพของไทยนั้นมีความคล้าย นางกวัก และต่างกันตรงที่ในมือถือรวงข้าว โดยมีทั้งยืนและนั่ง อย่างไรก็ดี เท่าที่ได้มีการศึกษาทั้งหมดทั้งมวลจะอยู่ในฟอร์มของรูปสามเหลี่ยม นัยน์ตาทอดต่ำเหมือนพระพุทธเจ้า แสดงถึงความสำรวมและเมตตา ซึ่งผมได้ศึกษาค้นคว้าในทุกๆ แง่มุม ทั้งเรื่องสี เรื่องลายเส้น เพื่อ ใช้เป็นต้นทางในการสร้างแม่พระโพสพ 2018 ขึ้นมา สร้างเป็นศิลปะสมัยใหม่ที่เหมาะกับ คนสมัยนี้ เพราะอะไรก็ตามถ้าไม่ปรับเปลี่ยนมันจะตาย”
“ผมอยากให้คนระลึกถึงคุณแห่งข้าวที่เรากินอยู่ทุกวัน เพราะเวลาเจอกันก็จะถามว่า กินข้าวหรือยัง แม้เราจะกินสปาเกตตี้ พาสต้า เค้ก เราก็จะใช้ว่า ข้าว แม้ว่าอาหารนั้นจะไม่ใช่ข้าวก็ตาม ข้าวเป็นมากกว่าอาหาร แม่พระโพสพมีคุณค่ามากกว่าภาพวาด ประติมากรรม หรือว่ารูปเคารพ มันรวมเอาจิตวิญญาณของคนในสังคมเข้าไว้ด้วยกัน ทุกวันนี้ เรากินข้าว เข้าไปแบบไม่มีจิตสำนึกหรอก กินเพื่อความอร่อย กินเพื่อความอยู่รอด แต่จริงๆ แล้วสิ่งเหล่านี้มันมาจากชาวนา ชาวนาเป็นอาชีพที่เหนื่อยที่สุด แต่ได้รับค่าตอบแทนน้อยที่สุด เป็นบุคคล ที่เสียสละโดยที่เขาไม่รู้ตัว”
ปัจจุบัน ประติมากรรมชิ้นดังกล่าวมีการขยายใหญ่ และนำไปติดตั้งอยู่กลางชุมชนของโรงเรียนชาวนา พุทธเศรษฐศาสตร์ ณ ศูนย์วิปัสสนาสากล ไร่เชิญตะวัน จังหวัดเชียงราย ซึ่งใครที่ได้สัมผัสต่างยอมรับว่า มีความพิเศษสุดจริงๆ เนื่องเพราะเป็นการใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และความเข้าใจเรื่องสีกับปฏิกิริยาทางเคมีมาใช้กับการทำสีโลหะทองแดงและสร้างสรรค์สีสนิมเขียวพิเศษ ด้วยเทคนิคทำสีผิวโลหะ (patina) ซึ่งเป็นการใช้ความรู้ทางสูตรเคมีในการนำสีผิวโลหะ อันเป็นวิทยาศาสตร์เชื่อมโยงกับการคำนวณอุณหภูมิในการหลอม ก่อให้เกิดสุนทรียะใหม่ทาง ศิลปะที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน
อาจารย์สุวัฒน์เล่าด้วยว่า หลังจากที่ได้ร่วมโครงการกับ ธ.ก.ส.ก็ได้มีโอกาสเดินทางไปชม โครงการซแรย์ อทิตยา (ซแรย์เป็นภาษาเขมรแปลว่า นา ซแรย์ อทิตยาแปลว่า นาของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ)ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณอ่างเก็บน้ำอำปึล ต.เทนมีย์ อ.เมืองฯ จ.สุรินทร์ หนึ่งในโครงการพิเศษในพระองค์ บนเนื้อที่ 300 ไร่ ซึ่งทรงตั้งพระทัยให้ที่นี่เป็น ศูนย์เรียนรู้การเกษตร และเห็นว่า โครงการของพระองค์ยังขาดประติมากรรมที่เป็นแลนมาร์ก รศ.ดร.สุวัฒน์จึงได้สร้างประติมากรรมแม่พระโพสพถวาย
และนั่นคือประติมากรรมแม่พระโพสพชิ้นที่ 2 ที่อาจารย์สุวัฒน์รังสรรค์ขึ้นมา ซึ่งชิ้นนี้มีความแตกต่างจากชิ้นแรก โดยทำเป็นประติมากรรมรูปเมล็ดข้าวแตกออกมาจากเปลือกโดยมีหน้า ของแม่พระโพสพซ่อนอยู่ข้างใน และให้ชื่อว่า “เมล็ดข้าวแห่งความอุดมสมบูรณ์” อย่างไรก็ดี นอกจากประติกรรมแล้ว อาจารย์สุวัฒน์ยังได้สร้างงานจิตรกรรมเกี่ยวกับ แม่พระโพสพเพื่อนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ “โพสพาญชลี” พร้อมๆ กันด้วย โดยแบ่งออก เป็น 2 ชุดคือ ชุดคุณแห่งข้าว และคุณแห่งแม่พระโพสพ ขณะเดียวกัน ก็ได้มีการสร้าง “เหรียญ พระแม่โพสพ ยั่งยืน : มั่งมีศรีสุข” ซึ่งจัดทำเป็นรุ่นที่ 2 ลักษณะของเหรียญรังสรรค์ออกมา ในลักษณะของแม่พระโพสพในเมล็ดข้าว โดยด้านหน้าเป็นรูปแม่พระโพสพยืนอยู่บนดอกบัว แสดงถึงความดีงาม ใต้ฐานดอกบัวมีก้อนเงินที่มีคำว่ามั่งมี ศรีสุข มือทั้งสองข้างถือรวงข้าว ขณะที่ส่วนบนเป็นรูปพระพุทธเจ้าสื่อถึงการทำงานภายใต้กรอบความคิดแห่งพุทธ ส่วนด้านหลังเหรียญออกแบบเป็นการเขียนอักขระยันต์ซึ่งหมายถึงการทำมาค้าขึ้น
ทั้งนี้ เหรียญแม่พระโพสพจัดทำใน 3 เนื้อคือ เนื้อทองคำ เนื้อเงิน และเนื้อทองแดงรมดำ โดยรายได้ส่วนหนึ่งนำไปจัดสรรเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์มอบให้แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศที่ขาดแคลน และผู้ป่วยติดเตียงผู้ยากไร้ในชนบท สมทบทุนสนับสนุนการดำเนินงาน โรงเรียนชาวนาพุทธเศรษฐศาสตร์ ณ ไร่เชิญตะวัน จ.เชียงราย และสมทบทุนจัดสร้างที่พัก ผู้ปฏิบัติธรรม ณ ไร่เชิญตะวัน จ.เชียงราย ซึ่งสามารถไปสั่งจอง “รอบสุดท้าย” ได้ในงานนิทรรศการ “โพสพาญชลี” ที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 ธันวาคม ที่จะถึงนี้ส่วน “ครุฑ” ที่ถือเป็น “ซิกเนเจอร์” ของอาจารย์สุวัฒน์นั้น หลังจากที่ได้รับแรงศรัทธาท่วมท้นนับเนื่องตั้งแต่ “ครุฑพราวรุ้ง” เป็นต้นมา ก็ยังคงมาแรงอย่างไม่หยุดหย่อนและเป็นหนึ่งในของสะสมของผู้ที่นิยมชมชอบในครุฑ และแน่นอนว่า ในปี 2562 ศิษยานุศิษย์และผู้ศรัทธา ในครุฑก็เตรียมเนื้อเตรียมตัวเอาไว้ให้ดี เพราะอาจารย์กำลังซุ่มทำครุฑชุดใหม่ โดยใช้ชื่อว่า “ครุฑพราวรัศมี” ซึ่งเห็นต้นแบบแล้วต้องบอกว่า “พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง”.