กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
สิ่งสำคัญที่จะทำให้ระบบขนส่งทางรางก้าวไปข้างหน้าได้ คือการพัฒนาบุคลากรและสร้างเทคโนโลยีควบคู่ไปด้วยกัน
กิติพงค์ พร้อมวงค์
กรุงเทพธุรกิจสำนักงานนโยบายวิทย์ฯ ปักหมุด “ชลบุรี” สถานที่จัดประชุมระบบขนส่งทางราง ระบุเป็นพื้นที่ไข่แดงในโครงการอีอีซี หวังกระตุ้นทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบราง
นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) จัดการประชุม วิชาการระบบขนส่งทางรางของประเทศไทย ประจำปี 2561 หรือ TRAS2018 ครั้งที่ 5 เวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์และสร้างความตระหนักให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบขนส่งทางราง ระหว่างวันที่ 29-30 พ.ย.นี้ ศูนย์ประชุม บางแสนเฮอริเทจ ต.แสนสุขจ.ชลบุรี
“เราเลือก จ.ชลบุรีเป็นสถานที่จัดงาน เพราะอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ซึ่งมีแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ เชื่อมโยงการเดินทางทั้งทางอากาศ ทางบก ทางราง ทางน้ำแบบไร้รอยต่อ อีกทั้งเชื่อมโยง การขนส่งสินค้าของไทยกับภูมิภาค อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน(สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิอู่ตะเภา) และโครงการรถไฟทางคู่ เชื่อม 3 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือสัตหีบ และท่าเรือมาบตาพุด” ระบบขนส่งทางรางมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ จึงจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านนี้ โดยอาศัยกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ร่วมกับการพัฒนากำลังคน การบ่มเพาะความรู้ภายในประเทศ และยกระดับไปสู่ ความร่วมมือในรูปแบบเครือข่าย “ไทยแลนด์ เรล อะคาเดมี่” หรือ ทีอาร์เอ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุก ภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษาและสถาบันวิจัย
ทั้งนี้ การประชุมจะนำเสนอ บทความวิจัย บทความวิชาการ การปาฐกถา พิเศษจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมถึงเสวนาวิชาการในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ การพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข้อคิดเห็นและกรณีศึกษาจากประเทศที่ประสบความสำเร็จ