ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2561
“กว่า 10 ปีบนเส้นทางเกษตรอินทรีย์ ผมคิดเสมอว่าทำอย่างไรให้มีรายได้พอกินพอใช้ ไม่สร้างหนี้ มีเงินใช้เหมือนตอนรับเงินเดือนข้าราชการ แรงบันดาลใจของผมคือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งได้เดินทางไปดูงานโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ นำศาสตร์พระราชามาเป็นจุดเริ่มต้นในการบริหารจัดการประยุกต์พื้นที่ 50 ไร่ ให้กลายเป็นไร่นาสวนผสม”
เสียงบอกเล่าของนายเล็ก พวงต้น วัย 71 ปี ประธานศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ตำบลบึงกาสาม อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี อดีตผู้ใหญ่บ้านชุมชนหมู่ 7 บึงกาสาม ซึ่งเป็นเกษตรกรต้นแบบในการทำไร่นาสวน ลดการใช้สารเคมี หันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพ เดินตามรอยเท้าพระบาทในหลวงรัชกาลที่ 9
นายเล็กบอกว่า ชาวนาจะปลูกข้าวอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำไร่นาสวนผสม อายุข้าวกว่าจะเกี่ยวต้องใช้เวลาประมาณ 105 วัน จึงได้ปรับพื้นที่ 50 ไร่ เป็นทำนา 10 ไร่ ปาล์ม 40 ไร่ ปลูกกล้วยแซมในสวนปาล์ม เลี้ยงไก่ไข่ 50 ตัว และเลี้ยงปลา การนำเกษตรอินทรีย์เข้ามาใช้ในช่วงแรกๆ อาจจะเห็นผลช้า แต่ดีกับธรรมชาติ ที่ผ่านมาตนเรียนรู้บนเส้นทางของเกษตรพอเพียง คิดค้นสูตรปุ๋ยชีวภาพเอง พยายามหาข้อมูลตามหน่วยงานต่างๆ เพื่อหาข้อมูลมาปรับใช้ในชุมชน
“ผมได้ทำเรื่องไปที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี อาจารย์และทีมงานและลงพื้นที่สำรวจ และเข้ามาทำการวิจัยและทดลองนวัตกรรมชีวภาพจากความหลากหลายทางชีวภาพเชื้อราปฏิปักษ์ (หัวเชื้อจุลินทรีย์นาโน) มาใช้นาข้าว ปาล์ม และได้เข้ามาบริหารองค์ความรู้ให้กับศูนย์อีกด้วย”
เขาบอกว่า ความแตกต่างของการใช้สารเคมี และสารชีวภาพ สำหรับการทำนาข้าวจากที่ลงทุน 5,000 บาทต่อไร่ เหลือเพียง 1,700-2,200 บาทต่อไร่ ได้ปริมาณข้าวเปลือก 1 ไร่ต่อตัน เมล็ดข้าวมีคุณภาพดีไม่ลีบแบน แปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวขาวเพิ่มรายได้ ซึ่งภายในศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ต.บึงกาสาม มีเครื่องสีข้าว ตนจะนำข้าวที่ได้มาสีเพื่อนำไปขายเพิ่มรายได้จาก 8,500 เป็น 35,000 บาทต่อเกวียน
“ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าราคาสินค้าเกษตรจะเป็นอย่างไร อยากให้เกษตรลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด หันมาใช้เกษตรอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมี ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม”.